สาระวิทย์ในศิลป์ ตอนที่ 5: ศิลปะในบรรจุภัณฑ์ | Art and Packaging ความร่วมมือของวิทย์และศิลป์ เพื่อทางออกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีพายุเข้าบริเวณโรงเรียนของฉันถึงสองลูกติดต่อกัน ส่งผลให้อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว แถมมาด้วยลูกเห็บเม็ดเล็กๆ อากาศที่แปรปรวนอย่างหนัก ทำให้ฉันติดอยู่ที่โรงเรียนไม่ได้ออกไปไหน ตามฉบับชีวิตเด็กหอ การจากบ้านมาอยู่ด้วยตนเอง ต้องรับผิดชอบอะไรต่างๆ ที่นอกเหนือจากการเรียน ถึงงานบ้านจะลดลงเนื่องจากเราเหลือแค่ห้องนอนที่ต้องคอยดูแล แต่สิ่งหนึ่งที่เลี่ยงไม่ได้เลยคือการซักผ้า โชคดีหน่อยที่โรงเรียนมีเครื่องซักผ้า ซึ่งฉันก็จะคุ้นชินกับผงซักฟอกและน้ำยาซักผ้า รวมไปถึงน้ำยาปรับผ้านุ่ม ฟอกขาว และสารให้กลิ่นต่างๆ ที่แทบทุกบ้านต้องมีติดไว้หลายขวดหลายประเภท แต่การที่ห้องซักผ้าของโรงเรียนต้องเดินไกลมากชนิดข้ามเขา (สำหรับคนขาสั้นแบบฉัน) ฉันจึงไม่สะดวกจะใช้ขนสารพัดน้ำยาไปด้วย

แต่มีผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ช่วยลดความยุ่งยากได้ นวัตกรรมที่ไม่เพียงแต่รวมน้ำยาหลากชนิดไว้ด้วยกันในชิ้นเดียว ยังเป็นตัวจุดประกายความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ที่มีส่วนช่วยอย่างมากในการลดปริมาณพลาสติกย่อยสลายยากของขวดน้ำยา ผลิตภัณฑ์นั้นก็คือ “แคปซูลซักผ้า” หรือ “เจลบอลซักผ้า” เป็นการคิดค้นประยุกต์ใช้สารประกอบโครงสร้างโพลิเมอร์ที่มีขั้ว จึงมีสมบัติละลายน้ำได้ (water-soluble polymer) ชื่อทางเคมีของสารนี้คือโพลีไวนิลแอลกอฮอล์ (Polyvinyl alcohol: PVA) ที่คล้ายกับฟิล์มพลาสติกบางๆ นำมาใช้ในการแพ็คบรรจุน้ำยาซักผ้า, น้ำยาสลายคราบสกปรกฝังแน่น รวมทั้ง น้ำยาที่ช่วยถนอมเนื้อผ้าให้หอมและนุ่มไปในตัว เรียกว่า 3 in1 กันเลยทีเดียว ในกระบวนการผลิตก็เรียบง่ายด้วยการขึงฟิล์มพลาสติกออกและแนบด้วยความร้อน เพื่อซีลปิดหลังบรรจุน้ำยาลงไป

เมื่อเจ้าผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้สัมผัสกับน้ำ ตัวเปลือกสามารถละลายได้ทันทีในน้ำทุกอุณหภูมิ และปล่อยให้น้ำยาภายในไหลออกมาสู่เสื้อผ้าที่จะซัก ช่วยทำให้การซักผ้าเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องตวงน้ำยาลงในช่องเล็กช่องน้อยของเครื่องซักผ้าอีกต่อไป เพียงแค่โยนลงถังซัก แล้วกดปุ่มทำงานได้ทันที เจ้าผลิตภัณฑ์นี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องของความสะดวกสบาย ภายในแคปซูล หรือเจลบอลชิ้นหนึ่งๆ จะมีปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการซักผ้าด้วยเครื่องในแต่ละครั้งมาเรียบร้อยแล้ว และที่สำคัญแคปซูลนี้เมื่อละลายจะสลายไปจนหมด นอกจากจะลดปริมาณขยะของบรรจุภัณฑ์แล้ว ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

บางคนอาจสงสัยว่าแล้วทำไมตอนบรรจุของเหลว (น้ำยาซักผ้า) เข้าไปภายใน ตัวเปลือกแคปซูลถึงไม่ละลายทั้งๆที่น้ำยาซักผ้าก็มีส่วนประกอบของน้ำ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะน้ำยาที่บรรจุในแคปซูลจะมีสูตรต่างออกไปจากน้ำยาซักผ้าแบบเหลวที่ขายเป็นขวดแกลลอน ตรงที่จะมีความเข้มข้นมากกว่า โดยประกอบไปด้วยน้ำเพียง 10% ในขณะที่น้ำยาซักผ้าแบบเหลวประกอบไปด้วยน้ำถึง 90% จึงมีความข้นหนืด และไม่ละลายตัวแคปซูลที่หุ้มไว้จนกว่าจะสัมผัสกับน้ำในเครื่องซักผ้าที่มีปริมาณมากพอเท่านั้น

ด้วยรูปร่างแปลกตาแต่คงความสมมาตรลงตัว มาพร้อมกับความสามารถในการบรรจุน้ำยาได้ตามปริมาตรที่พอเหมาะกับการซักแต่ละครั้ง นอกจากจะเป็นตัวแทนโลโก้ของยี่ห้อ เพื่อใช้ในสื่อโฆษณาแล้วยังมีนัยสำคัญในเรื่องของเหตุผลที่มาของรูปร่างนี้ด้วย

หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวเมื่อตอน บริษัท Procter & Gamble เจ้าของแนวความคิดแคปซูลซักผ้าในชื่อ Tide pods ได้ออกผลิตภัณฑ์นี้มาครั้งแรกในปี 2558 รูปร่างสี่เหลี่ยมมนและขนาดของแคปซูลนั้นใกล้เคียงกับซองลูกอม และสีสันของน้ำยาแต่ละชนิดที่อิงตามโลโก้ของยี่ห้อก็สดใสแปลกใหม่ จนเกิดกระแสในโลกออนไลน์ในช่วงที่แคปซูลซักผ้าออกมาใหม่ๆ #Tidepodschallenge ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดที่เสี่ยงอันตรายอย่างมาก

เพราะในโพสต์ที่ติดแฮชแท็กนี้ คือการนำแคปซูลซักผ้ามาวางจัดเรียงบนจานอาหาร ให้ดูเหมือนว่าเป็นของกิน หรือแม้แต่คลิปที่ทดลองกินจริงๆ แถมกระแสนี้ก็เป็นหนึ่งในเรื่องดังประจำปี 2561 ที่วัยรุ่นหลายๆ คนพยายามจะกินแคปซูลซักผ้า จนผู้ปกครองของเด็กวัยรุ่นจำนวนมากถึงกับร้องเรียนทางบริษัทด้วยเหตุผลที่ว่า หลายๆ คนมองว่ามันดู “น่ากิน” และทางบริษัทได้ออกมาแถลงการณ์ว่า ไม่ควรจะตำหนิในเรื่องของการออกแบบ แต่ควรจะตำหนิในเรื่องการนำไปใช้ที่ผิดวิธีต่างหาก เพราะทางบริษัทได้นำเสนอวิธีการใช้งานที่ถูกวิธีและปลอดภัยให้ผู้ใช้ได้ทราบแล้ว

แต่ก็ยังคงมีรายงานว่าเด็กๆ ได้รับอันตรายจากการกัดเจ้าแคปซูลนี้ในทุกๆ ปี จนในที่สุดทางบริษัทจึงได้ปรับปรุงแผ่นฟิล์มที่เคลือบชั้นนอกให้มีความหนาที่ยากต่อการกัดให้ทะลุ และได้ผสมสารที่ให้รสชาติขมลงไปด้วย รวมทั้งลงโฆษณาที่ตอกย้ำเน้นๆ ว่ามันคือ ผงซักฟอก และอันตรายถึงชีวิตหากใครคิดจะกินมันลงไป


ที่น่าแปลกใจก็คือ ถึงมีการร้องเรียนเกิดขึ้น จนเป็นข่าวครึกโครมอย่างนี้แล้ว แต่ยี่ห้ออื่นๆ ที่เริ่มต้นผลิตทีหลัง กลับทำรูปร่างออกมาคล้ายๆ กันกับเจ้าแรกซะอย่างนั้น คือลักษณะโค้งเว้าคล้ายหยดน้ำหรือไม่ก็กังหันตัวหมุนในเครื่องซักผ้า (เพื่อนชาวจีนฉันบอกว่ามันคล้ายสัญลักษณ์ หยินหยาง) และมีส่วนประกอบของน้ำยาอย่างน้อย 3 สี ทั้งนี้ก็เพราะคนส่วนใหญ่จดจำรูปร่างลักษณะของผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้กลายเป็นเทรนด์ดังอยู่ช่วงหนึ่งไปเสียแล้ว


ภาพผลิตภัณฑ์ชักผ้าในรูปของแคปซูล หรือเจลบอล ที่ฉันและเพื่อนใช้ศิลปะการออกแบบในผลิตภัณฑ์นั้นสื่อถึงหลายๆ อย่าง และส่งผลกระทบต่อความคิดของผู้ซื้อแต่ละคนแตกต่างกันไป กรณีนี้ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่าง ฉันเองก็เริ่มมาสนใจเพราะมองว่าหน้าตาของผลิตภัณฑ์นี้ดูสวยและแปลกใหม่ แต่เมื่อมองแว่บแรก ฉันก็หยุดความคิดที่ว่ามันน่ากินไม่ได้เหมือนกัน 55555 แล้วฉันก็ได้พบกับสิ่งหนึ่งที่น่ากินกว่า และกินได้จริงๆ เมื่อปลายปีที่แล้วโรงงานผลิตเหล้าและวิสกี้ชื่อ The Glenlivet ได้ออกวิสกี้ในรูปแบบของแคปซูล หรือ Whiskey Pod ตัวเยื่อหุ้มบางๆทำจากสารสกัดจากสาหร่ายสีน้ำตาลที่เรียกว่า alginate ซึ่งมีความเหนียวมาก และสามารถใช้บรรจุน้ำและของเหลวได้ทุกอย่าง


Whiskey Pod หรือวิสกี้ในรูปแบบของแคปซูลชื่อ “Glassless Cocktails” ของ โรงงาน GLENLIVET

เจ้าเยื่อหุ้ม alginate นี้ถูกออกแบบโดยบริษัท Skipping Rocks Lab ในประเทศอังกฤษ และเคยถูกนำไปใช้แล้วครั้งแรกในการหุ้มน้ำและเครื่องดื่มสำหรับนักวิ่งในงานวิ่งมาราธอนที่กรุงลอนดอน ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า Ooho-sealed blobs of sports drink นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง และตอนนี้เขาก็กำลังคิดค้นซอสปรุงรสที่ไร้ซองหรือขวดเช่นกัน ฉันหวังว่าในอนาคตโลกของเราจะเป็นโลกที่ไร้พลาสติกอย่างแท้จริง


Ooho-sealed blobs of sports drink หรือเครื่องดื่มไร้ขวด

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.npr.org/2018/01/30/581925549/teenagers-are-still-eating-tide-pods-but-dont-expect-a-product-redesign?t=1582808120110
https://fortune.com/2019/10/07/whiskey-whisky-pods-glenlivet-capsule-collection/
https://slate.com/human-interest/2019/10/whisky-pod-edible-seaweed-encased-cocktails-why.html

London Marathon offers edible seaweed drinks capsules as alternative to plastic bottles


อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารสาระวิทย์ฉบับที่ 84 เดือนมีนาคม 2563
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/176479

About Author