สาระวิทย์ในศิลป์ ตอนที่ 8: “STARGAZING EXPEDITION” Day 2

          วันนี้ฉันจะพาทุกคนไปเที่ยวสถานที่ในประวัติศาสตร์วงการดูดาวของเวลส์!

          ณ ริมชายหาดของเมือง Swansea ในประเทศเวลส์ มีหอดูดาวที่ถูกก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 ชื่อว่า หอดูดาวแห่งสวอนซี (Swansea Observatory) หรือ Marina Tower Observatory ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่โด่งดังในวงการดาราศาสตร์แห่งเวลส์ จนได้รับการขนานนามว่า Tower of the Ecliptic 

          เนื่องจากในส่วนของยอดโดมบนสุดของหอดูดาวนี้ เคยเป็นที่ตั้งของกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในเวลส์ นั่นก็คือ 500-mm Shafer-Maksutov telescope เป็นกล้องโทรทรรศน์แบบผสม (Catadioptric telescope) ใช้หลักการทำงานร่วมกันของกระจกและเลนส์ แบบผสมนี้ได้คงหลักการสะท้อนแสงไว้เพื่อให้ลำกล้องสั้นลง และใช้กระจกนูนเป็นกระจกทุติยภูมิมาบีบลำแสงให้ไปตกบนกระจกปฐมภูมิ และปิดท้ายด้วยเลนส์ปรับแก้ (correcting lens) ที่ติดตั้งไว้เพื่อแก้ปัญหาภาพโค้ง ทำให้กล้องโทรทรรศน์ชนิดนี้เหมาะสำหรับการส่องวัตถุขนาดเล็กที่อยู่ไกลๆ และให้ภาพที่คมชัดขึ้น

ภาพกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในเวลส์ 500-mm Shafer-Maksutov telescope เป็นกล้องโทรทรรศน์แบบผสม “Catadioptric Telescope”
ขอบคุณภาพจาก https://www.slideshare.net/operacrazy/shafer-maksutov-telescope

 

ภาพแสดงหลักการทำงานของกล้องโทรทรรศน์แบบผสม “Catadioptric Telescope”

 

          โดยต่างจากกล้องโทรทรรศน์ในรูปแบบเดิมอึกสองประเภทคือ  แบบหักเหแสง (Refractor Telescope) ที่ประกอบด้วยเลนส์นูนในการรวมแสงเพื่อขยายภาพของวัตถุให้มาปรากฏยังตาของเรา เนื่องจากเลนส์นูนที่โฟกัสยาวจะส่งผลให้ลำกล้องยาวไปด้วย จึงไม่สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายและติดตั้ง   ส่วนกล้องโทรทรรศน์อีกประเภทคือแบบสะท้อนแสง (Reflector Telescope) หรือ แบบนิวโทเนียน (Newtonian telescope) ที่ถูกคิดค้นโดยเซอร์ ไอแซค นิวตัน จะใช้กระจกเว้าแทนเลนส์นูน ด้วยการนำกระจกมาช่วยสะท้อนแสงแล้วก็ช่วยลดความยาวโฟกัสลงไปได้ แต่ก็ยังให้ภาพที่ไม่คมชัดนัก

ภาพแสดงหลักการทำงานของกล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสง “Refractor Telescope”

 

ภาพแสดงหลักการทำงานของกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง “Reflector Telescope” หรือ “Newtonian Telescope”

 

          ในปี พ.ศ. 2553 กล้องโทรทรรศน์ถูกย้ายออกไปพร้อมกับสมาคมดาราศาสตร์แห่ง Swansea และหอดูดาวแห่งสวอนซีถูกซื้อโดยนักธุรกิจชาวเมืองสวอนซี ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ จึงปิดเพื่อปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นธุรกิจใหม่

ภาพ Swansea Observatory ก่อนที่จะถูกดัดแปลงและต่อเติมเป็นภัตตาคาร

          ถึงแม้ว่า ณ ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นภัตตาคาร และบาร์ริมทะเลไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามฉันคิดว่ามันเป็นโอกาสดีที่จะได้มาเที่ยวชมและศึกษาโครงสร้างของการออกแบบ ที่เกี่ยวโยงกับความเหมาะสมในการเป็นที่ตั้งของหอดูดาว หลังจากการเดินทางราวชั่วโมงกว่าๆพวกเราก็เดินทางมาถึงชายหาดเมือง Swansea ในที่สุด สิ่งแรกที่เรามองเห็นคือตึกแฝดสี่ชั้นที่มีรูปร่างคล้ายฐานปล่อยจรวดตั้งเด่นอยู่สูงกว่าใคร ยิ่งมองยิ่งให้ความรู้สึกเหมือนพวกเราเป็นผู้รับชมพิธีปล่อยจรวดสู่ห้วงอวกาศเลย และอากาศริมทะเลในวันนี้ก็ดีมากๆเลยทีเดียว บรรยากาศช่างเหมาะสมกับที่เคยเป็นที่ตั้งของสมาคมดาราศาสตร์แห่งสวอนซีจริงๆ

ภาพที่ฉันถ่ายเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2563 หอดูดาวแห่งสวอนซีได้ถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็น Swansea Bar and Restaurant แต่ปัจจุบันยังคงปิดให้ใช้บริการอยู่

 

          อดีตหอดูดาวแห่งสวอนซี ตั้งอยู่ติดริมทะเล ค่ำคืนที่ท้องฟ้ามืดเหมาะกับการดูดาวยิ่งนัก และด้วยสถาปัตยกรรมและการออกแบบภายในที่แปลกตาโดดเด่น จนดึงดูดนักท่องเที่ยวและกลายเป็น landmark แห่งเมืองไปเลย จากคำบอกเล่าของคนที่เคยมาชมเมื่อตอนที่ยังเปิดเป็นหอดูดาวและสถานศึกษาดาราศาสตร์สาธารณะอยู่นั้น บอกว่าที่นี่มีทั้งส่วนของนิทรรศการดาราศาสตร์และห้องสัมมนาสำหรับฟังบรรยายอยู่ภายในชั้นอื่นๆ อีกด้วย โดยสามารถแบ่งออกเป็น 6 ส่วนใหญ่ๆ คือ หอดูดาว, ชั้นชมวิว, ห้องสัมมนา, แบบจำลองระบบสุริยะ, นิทรรศการจัดแสดงเกี่ยวกับดาราศาสตร์และ ห้องฟังบรรยาย

          ทางขึ้นตึกส่วนที่ก่อสร้างด้วยอิฐจะเป็นบันไดเวียน และมีแบบจำลองระบบสุริยจักรวาลห้อยแขวนลงมาในส่วนของนิทรรศการ เมื่อมองขึ้นไปด้านบนและผนังโดยรอบ จะมีงานกระจกสีแนวอวกาศประดับอยู่ เป็นการผสานงานศิลปะโดยได้รับแรงบันดาลใจจากวิทยาศาสตร์ได้ดีทีเดียว ส่วนของโดมครึ่งทรงกลมขนาดใหญ่บนยอดของตึก จะสามารถเปิดออกได้ในเวลาจะใช้ดูดาว ซึ่งการออกแบบเพื่อช่วยลดแรงที่ใช้ในการเลื่อนฝาโดมขนาดใหญ่นั่นออก คือการใช้น้ำและน้ำมันใส่ระหว่างตัวฝาและตัวโดม ใช้แรงลอยตัวของน้ำ และน้ำมันที่แยกชั้นกันอยู่นั้น ช่วยในการผ่อนแรงทำให้ใช้พลังงานน้อยลงในการเลื่อนฝาโดมให้เปิดออก ดังนั้นการเลื่อนฝาโดมที่ลอยอยู่บนของเหลวทั้งสองนั้น ใช้แรงเพียงนิ้วแตะก็สามารถเปิดออกได้!

ภาพภายในของส่วนบันไดเวียน ที่มีศิลปะกระจกสี และแบบจำลองระบบสุริยะ

ขอบคุณรูปภาพจาก : www.explore-gower.co.uk และhttps://www.amusingplanet.com/2015/12/the-marina-towers-observatory-in.html

 

          เนื่องจากวันนี้เราได้เรียนรู้กันเรื่องประเภทของกล้องโทรทรรศน์ เมื่อกลับมาถึงโรงเรียนในตอนเย็นพวกเราได้นำกล้องโทรทรรศน์เก่าเก็บที่โรงเรียนของฉัน รุ่น Tasco 11TR ซึ่งเป็นประเภทหักเหแสง (Refractor telescope) ออกไปส่องดูดวงดาวบนท้องฟ้ายามค่ำคืนในบริเวณโรงเรียนกัน แต่ด้วยระยะทางที่ห่างไกล และความที่แสงสว่างของดวงดาวไม่มากพอที่จะใช้กล้องโทรทรรศน์ที่เรามีจับภาพมาได้ ฉันจึงใช้วิธีดั้งเดิมในการสังเกตดวงดาว วิธีที่ดีที่สุดคือการสำรวจท้องฟ้าด้วยสองตาเปล่าภายใต้ความมืดมิดของท้องฟ้ายามค่ำคืน แต่ยังมีดวงจันทร์ที่ฉันสามารถถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์กลับมาฝากได้ ทุกๆคนตื่นเต้นกันมาก ฉันเองก็ด้วย เพราะถึงแม้จะเคยเห็นดวงจันทร์จากสื่อต่างๆ แต่การได้ดูผ่านกล้องโทรทรรศน์ด้วยตนเองมันดูใกล้ชิดสมจริงกว่าเป็นไหนๆ


ภาพท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาว ในขณะที่คุณครูที่ปรึกษาโครงงานของฉัน กำลังสาธิตการใช้กล้องโทรทรรศน์

ภาพดวงจันทร์ถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์ Refractor telescope รุ่น Tasco 11TR

 

          ยิ่งจ้องมองท้องฟ้าอยู่นานสายตาฉันก็ยิ่งปรับเข้ากับความมืด ฉันถึงกับเห็นดาวเทียมที่โคจรผ่านหมู่ดาวพวกนั้นด้วย ตอนแรกฉันก็คิดว่าตาฝาดจนมองเห็นดวงดาวเคลื่อนที่ได้ แต่คุณครูได้พิสูจน์ว่าเรื่องจริงหรือตาฝาดด้วยการให้ฉันลองใช้แอปพลิเคชั่นตรวจจับดาวเทียม หรือ Satellite Tracker ผ่านมือถือของคุณครู ซึ่งนอกจากจะมองเห็นตำแหน่งของการเคลื่อนที่ของวัตถุที่ภาคพื้นโลกส่งขึ้นไปแบบ real time แล้ว ยังบอกถึงชื่อของดาวเทียมที่เรามองเห็นได้ในขณะนั้นอีกด้วย นักดูดาวบางคนใช้ Satellite Tracker ในการเฝ้าติดตามสิ่งเคลื่อนไหวบนท้องฟ้า เพื่อหาโอกาสถ่ายภาพสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS : International Space Station) ในเวลาที่มันโคจรผ่านมาด้วย เพื่อนๆ จะลองดูบ้างก็ได้นะ

สามารถเข้าไปดูข้อมูลเกี่ยวกับ Swansea Observatory เพิ่มเติมได้ที่

เว็บไซต์ https://www.walesonline.co.uk/incoming/gallery/swanseas-victorian-space-observatory-saved-4890531

และข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทของกล้องโทรทรรศน์ได้ที่

https://www.lesa.biz/astronomy/telescope/telescope-type


อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารสาระวิทย์ฉบับที่ 87 เดือนมิถุนายน 2563
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/183600

About Author