ปลาหมอคางดำ บทเรียนของปลาต่างถิ่นเพื่อธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

เรื่องโดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์


ปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron Ruppell) เป็นปลาในวงศ์ Cichlidae วงศ์เดียวกับปลานิล หมอเทศ หมอสีต่าง ๆ มีถิ่นกำเนิดจากแอฟริกาตะวันตก อาศัยอยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย มีลักษณะคล้ายปลาหมอเทศ ผสมพันธุ์วางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยกิจกรรมการผสมพันธุ์อาจจะลดลงในช่วงที่มีฝนตกหนัก มีกระแสน้ำแรง และมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมรวดเร็ว ปลาหมอคางดำสมบูรณ์เพศและวางไข่ได้รวดเร็ว แม่ปลา 1 ตัว ให้ไข่ได้ประมาณ 50–300 ฟอง หรือมากกว่า ขึ้นกับขนาดของแม่ปลา การฟักไข่ของปลาหมอคางดำใช้เวลาฟักประมาณ 4–6 วัน พ่อปลาจะดูแลลูกปลาด้วยการอมไว้ในปากนานประมาณ 2–3 สัปดาห์

ปลาหมอคางดำกินทั้งพืช สัตว์ แพลงก์ตอน ลูกปลา ลูกหอยสองฝา รวมถึงซากของสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร นอกจากนี้ยังชอบกินลูกกุ้งทะเล โดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ กุ้งขาวแวนนาไม และกุ้งแชบ๊วย รวมถึงลูกปลาวัยอ่อน ปลาหมอคางดำมีลำไส้ที่ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า มีระบบย่อยอาหารที่ดี ย่อยกุ้งได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 30 นาที เป็นสาเหตุว่าทำไมปลาหมอคางดำถึงมีความต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับนิสัยค่อนข้างดุร้ายถ้าเทียบกับปลาหมอเทศ

ด้วยความที่ปลาหมอคางดำแพร่พันธุ์เร็วมากและกินสัตว์น้ำตัวอ่อนทุกชนิด หากหลุดเข้าไปในบ่อเลี้ยงกุ้งหรือบ่อเลี้ยงปลาของเกษตรกร กุ้งกับปลาเลี้ยงจะถูกปลาหมอคางดำกินจนหมดบ่อ จนผู้เลี้ยงได้รับความเดือดร้อน สร้างความเสียหายนับพันล้านบาท ยังไม่รวมงบประมาณจากทางราชการที่ต้องนำมาแก้ไขปัญหานี้อีก

สำหรับต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เริ่มต้นที่มีการนำปลาหมอคางดำเข้ามาทดลองเลี้ยง เพื่อหวังพัฒนาพันธุ์ปลานิลให้มีคุณภาพเพื่อการเลี้ยงดีขึ้น แต่ปรากฏว่าปลาหมอคางดำกลับเป็นปลาที่มีเนื้อแข็งหยาบ มีเนื้อน้อยกว่าก้าง ใช้ประโยชน์ทางการค้าไม่ได้ เจ้าปลานี้เกิดหลุดรอดลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ จนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศมาถึงปัจจุบันนี้  ไทม์ไลน์ของกรณีนี้สำนักข่าวอิศรารายงานถึงกรณีการนำเข้าปลาหมอคางดำจากต่างประเทศ มาเลี้ยงในประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2561 ว่า

  • พ.ศ. 2549 คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) มีมติอนุญาตให้บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) นำเข้าปลาหมอคางดำจากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข
  • พ.ศ. 2553 บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ผู้นำเข้าปลาหมอคางดำจำนวน 2,000 ตัว มาเลี้ยงที่ศูนย์ทดลองที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้แจ้งว่าปลาหมอคางดำทยอยตายเกือบทั้งหมดภายใน 3 สัปดาห์ บริษัทจึงทำลายและฝังกลบซากปลา ด้วยการโรยด้วยปูนขาวและแจ้งให้กรมประมงทราบด้วยวาจา โดยไม่ได้จัดทำรายงานอย่างเป็นทางการ และเก็บซากปลาส่งให้กรมประมงตามเงื่อนไขการอนุญาตของคณะกรรมการ IBC
  • พ.ศ. 2555 เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและปลาในพื้นที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นครั้งแรก

ต่อมาวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 135 ตอนพิเศษ 11 ง นำเสนอประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ. 2561 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ จึงสมควรกำหนดชนิดสัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง

อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 หรือที่แก้ไขเพิ่มเติม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ห้ามมิให้บุคคลใด นำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง ซึ่งสัตว์น้ำดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย ได้แก่
1. ปลาหมอคางดำ Sarotherodon melanotheron RÜppell, 1852
2. ปลาหมอมายัน Cichlasoma urophthalmus (GÜnther, 1862)
3. ปลาหมอบัตเตอร์ Heterotilapia buttikoferi (Hubrecht, 1881)

ปลาหมอคางดำแพร่พันธุ์และกระจายไปได้เร็วทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย และทะเล ปัจจุบันพบว่าระบาดใน 17 จังหวัดชายฝั่งรอบอ่าวไทย และจังหวัดนครปฐม ราชบุรี ไปไกลสุดถึงอำเภอระโนด จังหวัดสงขลาแล้ว และคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี คาดว่าน่าไปถึงสิงคโปร์ในอีกไม่เกิน 3 ปี และไม่เกิน 10 ปีคงแพร่พันธุ์ผ่านฝั่งทะเลอันดามันไปยังพม่า ถึงลุ่มแม่น้ำคงคา และอีกด้านก็น่าจะไปถึงชายฝั่งเวียดนาม

ตั้งแต่ปลานี้แพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติ พบว่าทำความเสียหายนับพันล้านบาท ความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องแบกรับโดยเกษตรกรบ่อกุ้ง ชาวประมงพื้นบ้าน และหน่วยงานราชการต่าง ๆ แต่ยังไม่มีผู้ที่เป็นต้นเหตุออกมารับผิดชอบอะไรเลย

ณ วันนี้ กรมประมงและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติ และดำเนินการกำจัดอย่างเร่งด่วนร่วมกับภาคเอกชนด้านผลิตสัตว์น้ำและชาวประมง การกำจัดอย่างเจาะจงชนิดและบ้าคลั่งน่าจะเป็นหนทางเดียวที่จะหยุดยั้งภาวะคุกคามของปลาหมอคางดำต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ การกำจัดที่ว่าคือ “จับมาหม่ำ” แม้รสชาติของปลาชนิดนี้คือแค่พอกินได้ก็ตาม จึงต้องอาศัยคนทำเป็น เพื่อกำจัดให้หมดให้สิ้นจากแหล่งน้ำธรรมชาติบ้านเรา ปัจจุบันก็มีการนำปลาหมอคางดำไปทำเป็นเมนูต่าง ๆ เช่น ขนมจีนน้ำยาปลา ข้าวเกรียบ รวมทั้งแปรรูปเป็นน้ำปลา และน้ำหมักชีวภาพ

เหนือสิ่งอื่นใดที่ลืมไม่ได้คือ ต้องดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าปลาชนิดนี้และปล่อยให้หลุดรอดสู่แหล่งน้ำธรรมชาติด้วย

About Author