เรื่องโดย ชวลิต วิทยานนท์
ปลานกแก้วของไทย วงศ์ Scaridae พบ 6 สกุล อย่างน้อย 28 ชนิด พบในอันดามันอย่างน้อย 21 ชนิด ในอ่าวไทยกว่า 10 ชนิด มี 3 ชนิดที่อยู่ใน IUCN Redlist นกแก้วหัวโหนก Bolbometopon muricatum VU ล่อแหลมต่อการใกล้สูญพันธุ์ (EN/ใกล้สูญพันธ์ุ ไทย) นกแก้วครีบจุด Scarus maculipinna NT ใกล้ถูกคุกคาม และนกแก้วครีบสูง Scarus hypselopterus ลดลงจำนวนมากแต่ยังขาดข้อมูล data deficient (ข้อมูลไม่เพียงพอที่จะประเมิน)
ปลานกแก้วอาศัยในแนวปะการัง มีจะงอยปากแข็ง ๆ ไว้ใช้ครูดกินปะการังและซาก รวมถึงสาหร่ายและสัตว์ที่เกาะติด บางชนิดก็กัดกิ่งปะการังกร้วม ๆ เลย หม่ำเสร็จแล้วก็ถ่ายออกมาเป็นทรายขาว ๆ ได้ถึงปีละ 90 กิโลกรัมต่อตัวเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีหน้าที่สำคัญคือตกแต่งแนวปะการังที่ตายเนื่องจากเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวหรือภัยคุกคามอื่น ๆ ให้ไม่มีสาหร่ายขึ้นคลุม เปิดพื้นที่ให้ตัวอ่อนปะการังลงเกาะทดแทน การกินปะการังของเจ้านกแก้วนี้ถือเป็นสัดส่วนการสูญเสียน้อยมากเมื่อเทียบกับข้อดี
ปลานกแก้วทุกชนิดเป็นปลาน่าหม่ำ เคยเป็นปลาราคาถูก เพราะเนื้อขาว เหนียว ปลาสด ๆ กลิ่นเหม็นคาวเขียว ไม่เหมาะนักกับอาหารไทย จึงมักทำเป็นสับนก ลูกชิ้น หรือห่อหมก ส่วนมากบริโภคในท้องถิ่นที่จับ แต่ต่อมามีการปรุงตามตำรับอาหารจีนและญี่ปุ่นที่นิยมกินกันมาก และยังมีการสั่งซื้อทั้งปลาเป็น ปลาสด ส่งออกไปประเทศจีน ฮ่องกง จึงมีความนิยมมากขึ้นและมีราคาสูง เป็นที่นิยมในคนเมืองมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เหมือนดาบสองคม ถึงแม้มันจะน่าหม่ำแต่ก็ไม่ควรสร้างความนิยมจนเกินไป เพราะถ้าความต้องการมีมากจนชาวประมงต้องล่ามันเป็นพิเศษก็ไม่ดีแน่ เอาเป็นว่าถ้าจับมาแบบพลอยได้แล้วกินเท่าที่มีก็น่าจะดีกว่า
ปลานกแก้วจับได้ด้วยลอบปลา ข่าย (เบ็ดเป็นส่วนน้อย) และอีกวิธีที่ได้มามาก ๆ คือ ระเบิด !!! ซึ่งผิดกฎหมาย แต่มักพบในตลาดของประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ มากกว่า แหล่งที่พบมากในตลาดท้องถิ่นประเทศไทย เช่น หาดราไว ตลาดในเมืองภูเก็ต บ้านกรูด ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง สัตหีบ ชลบุรี สตูล ฯลฯ ประเทศแหล่งส่งออกใหญ่คืออินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
ปลานกแก้ว 28 ชนิดที่พบในน่านน้ำไทย
Bolbometopon muricatum Valenciennes, 1840 |
Calotomus carolinus Valenciennes, 1840 |
Cetoscarus ocellatus Valenciennes, 1840 |
Chlorurus capistratoides Bleeker, 1847 |
Chlorurus rhakoura Randall&Anderson, 1997 |
Chlorurus sordidus Forsskål, 1775 |
Chlorurus strongylocephalus Bleeker, 1854 |
Chlorurus troschelii Bleeker, 1853 |
Chlorurus microrhinos Bleeker, 1854 |
Chlorurus spilurus Valenciennes, 1840 |
Chlorurus japanensis Bloch, 1789 |
Hipposcarus harid Forsskål, 1775 |
Hipposcarus longiceps Valenciennes, 1840 |
Scarus hypselopterus Bleeker, 1853 |
Scarus forsteni Bleeker, 1861 |
Scarus frenatus Lacepède, 1802 |
Scarus ghobban Forsskål, 1775 |
Scarus maculipinna Westneat, Satapoomin & Randall, 2007 |
Scarus niger Forsskål, 1775 |
Scarus prasiognathos Valenciennes, 1840 |
Scarus quoyi Valenciennes, 1840 |
Scarus rivulatus Valenciennes, 1840 |
Scarus rubroviolaceus Bleeker, 1847 |
Scarus russelii Valenciennes, 1840 |
Scarus scaber Valenciennes, 1840 |
Scarus tricolor Bleeker, 1847 |
Scarus viridifucatus Smith, 1956 |
Scarus spinus Kner, 1868 |