จากคำยอดฮิดที่ว่า “งานวิจัยส่วนใหญ่อยู่แต่บนหิ้ง”, “งานวิจัยก็มีอยู่มากมายแต่ไม่เห็นจะมีอะไรที่พัฒนาเลย” ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะมองกันว่างานวิจัยภายในประเทศเกิดขึ้นอยู่มากมาย นักวิจัยหรือนักวิชาการก็มีจำนวนมาก แต่สุดท้ายงานวิจัยส่วนหนึ่งกลับไม่ได้เอามาพัฒนาออกสู่ชาวบ้านมากนัก แต่หลายงานวิจัยก็มีประโยชน์มากพอที่พร้อมจะนำไปใช้งานได้จริง แต่ปัญหาคือยังไม่สามารถสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านได้ จากคำกล่าวที่ว่า “คนที่เรียนจบสูงมักจะพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง” เหตุผลเป็นเพราะนักวิจัยหรือนักวิชาการจะเผลอใช้ศัพท์ทางวิชาการเฉพาะทางมากเกินไป ต่อมาจึงมีกลุ่มบุคคลหนึ่งที่จะทำหน้าที่ส่งข้อมูลและสาระประโยชน์จากงานวิจัยออกไปสู่กลุ่มชาวบ้านให้เกิดความเข้าใจขึ้น กลุ่มนี้จะเรียกว่า “นักสื่อสาร”
หลายครั้งที่งานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเป็นที่เข้าใจยากกับชาวบ้านทั่วไป นักสื่อสาร ในทางด้านนี้จะถูกเรียกว่า “นักสื่อสารวิทยาศาสตร์” ที่ทำหน้าที่ปรับเนื้อหาจากงานวิจัยให้ง่ายและกระชับ เน้นขั้นตอนที่จะนำไปใช้งานได้จริงและเห็นภาพมากขึ้น โดยไม่ได้ลงลึกถึงหลักการทางวิทยาศาสตร์มากจนเกินไป ในทฤษฎีของการสื่อสารในทางนิเทศน์ศาสตร์จะมีองค์ประกอบของการสื่อสารอยู่ด้วยกัน 4 อย่างคือ ผู้ส่งสาร (Sender), ข้อความ (Message), ช่องทาง (Channel) และผู้รับสาร (Receiver) การจะสื่อสารเรื่องราวอะไรออกไปนั้นจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบทั้ง 4 อย่างด้วยกัน โดยเฉพาะในส่วนของช่องทางและผู้รับสาร เพื่อให้ข้อความที่ส่งออกไปนั้นตรงกับความต้องการและความรู้พื้นฐานของผู้รับสารได้ โดยแบบจำลองของเบอร์โลได้วิเคราะห์ถึงองค์ประกอบของการสื่อสารดังกล่าวออกมาดังภาพ
ใจความสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงคือผู้รับสารมีทัศนคติ องค์ความรู้พื้นฐาน สภาพสังคม วัฒนธรรม ประเพณี หรือประสบการณ์ส่วนตัว เป็นแบบไหนมาก่อน การสื่อสารถึงจะสามารถทำให้ผู้รับสารเกิดความเข้าใจในข้อความที่ตรงกันได้ ซึ่งผู้ส่งสารเองควรปรับทัศนคติในการส่งสารอย่างมีศิลปะ ข้อความที่จะเป็นสารนั้นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามผู้รับสารด้วย หรือตัดบางประโยคที่มีส่วนวิชาการมากจนเกินไปออก ในส่วนของช่องทางนั้นโดยพื้นฐานจะเป็นประสาทสัมผัสทั้งห้า แต่ปัจจุบันนี้ช่องทางออนไลน์เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น Facebook, YouTube ทำให้เกิดเป็นช่องทางเพื่อให้เข้าถึงผู้รับสารได้ง่ายขึ้นด้วย
วิธีการในการสื่อสารวิทยาศาสตร์นั้นมีหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น การเขียนบทความ, การถ่ายทำภาพยนตร์, โทรทัศน์, นิตยสาร หรือแม้กระทั่งการเป็นครูหรืออาจารย์สอน ทั้งนี้ทั้งนั้นการเลือกวิธีในการสื่อสารนั้นจะขึ้นกับความถนัดของผู้ส่งสารเองและความสะดวกเหมาะสมกับผู้รับสาร โดยปัจุบันมีแหล่งเรียนรู้ออนไลน์อยู่มากมายเช่น เทคนิคการเขียนบทความให้น่าอ่าน, สอนการสร้างภาพยนตร์แบบมืออาชีพ, สอนโปรแกรมการสร้างหนังสือนิตยสาร
การสื่อสารวิทยาศาสตร์นี้ไม่เพียงให้งานวิจัยได้เผยแพร่ให้คนทั่วไปได้มีโอกาสได้รับข้อมูลและประโยชน์จากงานวิจัยเหล่านั้นกันมากขึ้นแล้ว ยังจะช่วยจุดประการความฝันของเด็กและเยาวชนที่ต้องการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศต่อไป สิ่งสำคัญของการพัฒนาการสื่อสารวิทยาศาสตร์นี้คือการหมั่นสร้างสรรค์สื่อต่างๆ เป็นประจำอยู่เสมอ ฝึกฝนและเรียนรู้ถึงผู้คน จะช่วยให้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกระจายไปทั่วประเทศ
เขียนโดย
กิตติ ชูวัฒนานุรักษ์ (ริ้ง)