วิทยาศาสตร์ในแดนภารตะ

เรื่องโดย: อติพร สุวรรณ
งานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง
ฝ่ายพัฒนาบัณฑิตและนักวิจัย สวทช.


ประสบการณ์จากการไปร่วมกิจกรรมในการประชุมทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติสาหรับเด็ก
ณ ประเทศอินเดีย กับการสร้างแรงบันดาลใจการเป็นนักวิทยาศาสตร์ของเด็กอินเดีย

          ผู้เขียนมีโอกาสนำนักเรียนไทยเข้าร่วมงาน National Children’s Science Congress (NCSC) ที่ประเทศอินเดีย 2 ครั้ง (ครั้งแรกที่พาราณสี ครั้งที่สองที่โภปาล) ตามคำเชิญของ National Council for Science  and Technology Communication (NCSTC) โดยมีผู้สนับสนุนการเดินทางทั้งหมดจาก The Ministry of External Relation (MEA) ของอินเดียผ่าน The ASEAN Secretariat ซึ่งเชิญกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าร่วมในงานนี้ด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนและครูจากประเทศสมาชิกอาเซียนและอินเดีย ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิด ทั้งในมุมด้านวิทยาศาสตร์และสังคม จากประเทศของตนเองในเรื่องการศึกษาวิทยาศาสตร์ 

ภาพขบวนพาเหรดในวันเปิดงาน

          งานดังกล่าวถือนี้เป็นงานใหญ่งานหนึ่งสำหรับเด็กและเยาวชนในแดนภารตะ รูปแบบคล้ายๆ งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติของบ้านเรา ผสมผสานกับการนำเสนอผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งกว่าที่เด็กๆ จะได้มานำเสนอผลงานของตนในงานนี้ จะต้องผ่านการคัดเลือกในระดับโรงเรียน ระดับรัฐ จนมาถึงระดับประเทศ ในแต่ละปีจะจัดช่วงคริสต์มาสถึงปีใหม่ โดยแต่ละรัฐเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดงาน

ผู้เขียน (คนกลาง) กับเยาวชนในชุดประจำรัฐมิโซรัม ซึ่งเป็นรัฐที่แยกตัวจากรัฐมณีปุระ

          ในแต่ละปีจะจัดงานคล้ายๆกัน คือ มีการเดินขบวนพาเหรดและพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยแต่ละรัฐจะจัดเต็มสำหรับเสื้อผ้าหน้าผม ปีแรกที่ไป ผู้เขียนตื่นเต้นที่สุดที่ได้ชมเด็กๆ ใส่ชุดประจำรัฐอย่างสวยสดงดงาม แต่ละรัฐมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เห็นว่าอินเดียมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากทีเดียว อย่างเช่นรัฐมณีปุระ (Manipur) ซึ่งเป็นรัฐในเขตชายแดนที่อยู่ติดกับพม่า ถือเป็นเขตพิเศษเป็นรัฐอิสระล้อมรอบด้วยภูเขา ชาวต่างชาติที่จะเข้าไปต้องได้รับอนุญาต

ภาพการบรรยายของ Dr.A.P.J. Abdul Kalam

          ชุดประจำรัฐนี้ไม่ค่อยเหมือนอินเดีย จะค่อนมาทางพม่าและทิเบตมากกว่า หลังจากขบวนพาเหรดจะเป็นพิธีเปิดและเชิญนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของอินเดียมาบรรยายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ ที่มาร่วมงาน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนประทับใจไม่รู้เลือน ด้วยความที่ไม่เคยเห็นการบรรยายที่ใดมีเสียงตอบรับจากผู้ฟังขนาดนี้มาก่อน จากวิทยากรคือ Dr.A.P.J. Abdul Kalam ประธานาธิบดีคนที่ 11 และเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งจรวดและขีปนาวุธของอินเดีย

          เด็กอินเดียเกือบพันคนปฏิญาณตนว่าจะตั้งใจเรียนรู้และสร้างอนาคตให้ก้าวหน้าด้วยเสียงกระหึ่มทั้งฮอลล์ ทำเอาชาวต่างชาติอย่างเราขนลุกซู่ หลังการบรรยายจบ เด็กๆ ต่างกรูกันออกไปเรียงแถวหน้าเวทีเพื่อรอถามด้วยใจจดจ่อ

          หากคุณผู้อ่านยังไม่คุ้นชื่อ Dr.Kalam ก็สามารถติดตามอ่านหนังสืออัตชีวประวัติของท่านได้ ชื่อว่า “Wings of Fire” ค่ะ น่าเสียดายที่ท่านเพิ่งจากไปเมื่อปี พ.ศ. 2558 นี่เอง นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการวิทยาศาสตร์ในแดนภารตะและเอเซียก็ว่าได้ ขอไว้อาลัยกับท่านมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

ภาพนักเรียนไทยนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์

          กลับมาเรื่องงานต่อ หลังพิธีเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว ก็เป็นการแบ่งกลุ่มนำเสนอโคงงานวิทยาศาสตร์แบบปากเปล่า แบบโปสเตอร์ มีการบรรยายในห้องย่อยสำหรับครู นิทรรศการผลงานหรือกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในความต่างกับบ้านเราคือ อินเดียไม่เน้นการปรุงแต่งด้วยสถานที่หรือโครงสร้างการจัดงาน ห้องนำเสนอผลงานก็เป็นห้องเรียนที่บางห้องไม่มีแม้แต่ผ้าม่าน ก็หาผ้าผืนใหญ่ๆ มาบังแสง การนำเสนอก็เป็นแบบปากเปล่า แทบไม่เห็นการนำเสนอด้วยพาวเวอร์พอยท์เลย

          เด็กทุกคนจะเต็มที่กับการเขียนบนกระดาษโปสเตอร์ใบเล็กบ้างใหญ่บ้าง ไม่มีการกำหนดรูปแบบ เด็กๆ ใส่ความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่บนกระดาษที่ตนนำเสนอ แม้แต่ตารางหรือกราฟ ก็บรรจงวาดให้เป็นสัดส่วนทึ่ถูกต้อง

          เนื้อหาของโครงงานวิทยาศาสตร์ก็หยิบจากปัญหาในครัวเรือน ในท้องถิ่น มาแก้ปัญหาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ไม่เน้นการใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่หรูหรา แต่โจทย์ใกล้ตัวกลับทำให้เห็นแววตามุ่งมั่นที่จะทำโครงงานให้สำเร็จ ทุกคนนำเสนอด้วยความภูมิใจให้กรรมการฟัง ซึ่งกรรมการก็มีทั้งที่เป็นครูในโรงเรียนและอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต่างก็ให้กำลังใจและให้ความคิดเห็นที่ทำให้เด็กมีกำลังใจกลับไปต่อยอดงานของตนหลังจากจบงานนี้

          ผู้เขียนมีโอกาสได้คุยนอกรอบกับเด็กหลายคน ทำให้รู้ว่าทุกคนต่างมีความภูมิใจที่ได้มางานนี้และภูมิใจกับงานของตนมาก และชี้ชวนเราให้เล่าเรื่องงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ของไทยเราบ้าง

ภาพบรรยากาศของ Face to Face Program

          กิจกรรมที่กลุ่มอาเซียนได้เข้าร่วม ได้แก่ Face to Face Program เป็นการบรรยายของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของอินเดีย ใช้เวลาช่วงนี้ราวหนึ่งชั่วโมงครึ่ง การบรรยายจะเน้นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับอนาคตของชาติ มากกว่าลงเนื้อหาวิชาการแบบเข้มข้น โดยเริ่มต้นด้วยเนื้อหาวิชาการแล้วลงท้ายด้วยคำถามปลายเปิดให้เด็กๆ ได้คิดตาม วิทยากรไม่ได้นำเสนอด้วยสื่อการนำเสนอ มีเพียงตัวและหัวใจมาพูดคุยกับเด็ก สามารถพูดให้เด็กๆ มายืนรอเพื่อตั้งคำถามได้ยาวเหยียด

ภาพเยาวชนรอคิวถามคำถามกับนักวิทยาศาสตร์ในช่วง Video Conferencing

          Video Conferencing เป็นการถ่ายทอดวิดีโอไปยังหน่วยวิจัยหรือมหาวิทยาลัย เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้พูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์ของอินเดียที่กระจายอยู่ส่วนต่างๆ ของประเทศและต่างประเทศ ผู้จัดงานให้ความสำคัญกับช่วงนี้มาก ตัวเด็กเองก็รอเข้าแถวมาตั้งคำถาม

          โดยส่วนตัวรู้สึกว่าใช้เวลาช่วงนี้นานเกินไป ไม่มีการควบคุมเวลาทำให้ช่วงท้ายดูจะน่าเบื่อไปบ้าง แต่อยู่ที่อินเดียสารภาพว่าต้องทำใจเรื่องเวลาค่ะ เพราะแทบไม่มีครั้งไหนที่ตรงต่อเวลาเลย แต่ละวันจะมีกิจกรรมอะไรบ้างก็ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า กำหนดการก็ไม่มีบอกให้ชัดเจน แต่หากตัดเรื่องนี้ออกไป ก็นับว่าการมาเข้าร่วมกิจกรรมที่อินเดียในครั้งนี้ เป็นประสบการณ์ที่สร้างความประทับใจไม่น้อยค่ะ

ภาพกรรมการฟังการนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์

          นอกจากนี้เราได้เดินชมกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่เด็กๆ นำมาแสดง รวมไปถึงโครงงานวิทยาศาสตร์ที่แทบทุกคนงัดกลเม็ดเด็ดพรายมาเชิญชวนให้ไปชมงานของตน ต้องยอมรับในฝีมือของเด็กๆ ในการจัดวางอาร์ตเวิร์กแบบสร้างสรรค์ไม่แพ้อินโฟกราฟิกเลยทีเดียวเชียว ที่สำคัญทุกคนมีแววตาเป็นประกายในการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ของตนอย่างเปี่ยมล้น

ภาพโปสเตอร์นิทรรศการบนบอร์ดสไตล์อินเดีย

          แล้วเด็กไทยและอาเซียน ทำอะไรบ้าง ? พวกเราได้รับเชิญให้นำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์แบบปากเปล่า ประเทศละ 1 หัวข้อ พวกเราคุ้นชินกับการนำเสนอด้วยพาวเวอร์พอยท์ก็ต้องเปลี่ยนมาเขียนลงกระดาษแทน ทำให้เราเห็นว่าเด็กไทยก็มีความสามารถในการออกแบบและสร้างสรรค์งานไม่น้อย

          ปิดท้ายทั้งสองครั้งของการเข้าร่วมกิจกรรม เจ้าภาพพาไปชมสถานที่สำคัญของเมือง อาทิ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งโภปาล ธรรมเมกขสถูปที่ตำบลสารนาถซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ คือเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา น

          นอกจากนี้ พวกเรายังมีโอกาสไปล่องเรือชมวิถีชีวิตตลอดสองฝั่งแม่น้ำคงคาที่ยังคงปฏิบัติเช่นเมื่อสี่พันปีก่อน ทำให้เราเข้าใจสัจจธรรมแห่งชีวิตและศรัทธาอย่างแรงกล้าของชาวภารตะที่ยากจะหาใครเสมอเหมือน และในช่วงคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ทั้งสองครั้ง พวกเรากลุ่มอาเซียนได้ตัดเค้กเฉลิมฉลอง นับเป็นการเก็บความประทับใจใส่กระเป๋ากลับบ้านก่อนจากกัน ……..อินเดียยังอยู่ในความทรงจำเสมอ

About Author