คิด วิทย์ แยกแยะ : ประวัติความเป็นมาของระเบียบวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ ตอนที่ 2 (จบ)

เรื่องโดย รวิศ ทัศคร


 

บทบาทของคาร์ล พอปเพอร์

          การเปลี่ยนแปลงของระเบียบวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 มีคนสำคัญผู้หนึ่งที่มีบทบาทมาก คือ คาร์ล พอปเพอร์ (Karl Popper) ผู้ซึ่งเข้าใจข้อจำกัดต่างๆ ของวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ในแบบเดิมๆ โดยประเด็นหลักที่พอปเพอร์โจมตีคือการวางรากฐานว่า วิทยาศาสตร์อาจผิดพลาดได้ เนื่องจากเขาสังเกตว่าหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการจัดตั้งมาอย่างดีมันจะเดินไปทางผิดและสร้างทฤษฎีที่ไม่ถูกต้อง ขณะที่สาขาความรู้ที่ในสมัยนั้นยังไม่ถือว่ามีความเป็นวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง อย่างจิตวิทยาและการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 มักจะพบคำตอบที่ถูกต้องแม้ว่าจะไม่ได้ทำตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้อง

          ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้พอปเพอร์ตั้งคำถามต่อนิยามของตัววิทยาศาสตร์เอง เขาจึงพยายามที่จะพัฒนาระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่มีการกล่าวถึงข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้นิยามของสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์และไม่ใช่วิทยาศาสตร์จะวนเวียนอยู่กับเทคนิคเชิงประจักษ์ (empirical technique) และกระบวนการแบบอุปนัย (inductive method)

          นิยามนี้ไม่ได้กล่าวถึงพัฒนาการของสาขาวิชาใหม่ๆ และไม่ได้รวมความซับซ้อนของวิทยาศาสตร์ภาคทฤษฎีและวิทยาศาสตร์ภาคปฏิบัติที่เพิ่มมากขึ้นให้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างถูกต้อง ความหมายที่ว่ามาอาจยกกรณีตัวอย่างเช่นว่า เหตุใดทฤษฎีต่างๆ ของไอน์สไตน์จึงนับเป็นวิทยาศาสตร์ ในขณะที่ทฤษฎีต่างๆ ของนักจิตวิทยาในสมัยของพอปเพอร์จึงนับเป็นวิทยาศาสตร์เทียม (pseudoscience)


คาร์ล พอปเพอร์ (Karl Popper)

          พอปเพอร์ตั้งสมมติฐานว่า วิทยาศาสตร์จะก้าวหน้าขึ้นผ่านกระบวนการของการคาดการณ์ข้อสรุปจากการอนุมานและการหักล้าง โดยนักวิทยาศาสตร์ภาคทฤษฎีจะพัฒนาทฤษฎีขึ้นมา และนักวิทยาศาสตร์ภาคปฏิบัติที่ทำการทดลองก็จะพยายามทดสอบทฤษฎีเพื่อหักล้างทฤษฎีเหล่านั้นลง

          กล่าวคือ หากได้ศึกษาประวัติของวิทยาศาสตร์ จะเห็นว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในยุคต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงอย่างพลิกกระดานมาเสมอ แนวคิดที่คนเคยเชื่อว่าจริง ในที่สุดแล้วก็จะถูกหักล้างจากทฤษฎีที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง คือตั้งทฤษฎีจากฐานคิดใหม่ รวมไปถึงสร้างแนวคิดใหม่จากการสมมติขึ้น แสดงว่าทฤษฎีในแต่ละยุคนั้นไม่ควรเชื่อว่าเป็นความจริง สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือกรณีอย่างของการโคจรของดาวเคราะห์จากแบบจำลองของทอเลมี (Claudius Ptolemy) ซึ่งยุคต่อมามีการเปลี่ยนเป็นแบบของโคเพอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus) หรือการที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพมาแทนที่การอธิบายด้วยกลศาสตร์ของไอแซก นิวตัน (Isaac Newton) เป็นต้น

          กระบวนการนี้จะเกิดได้เมื่อทฤษฎีได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นเท็จได้ ซึ่งในมุมมองของพอปเพอร์นั้นหากทฤษฎีไม่ได้รับการทดสอบอย่างถูกต้องด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ สิ่งนั้นก็ไม่อาจนับว่าเป็นวิทยาศาสตร์ได้

งานของโทมัส คูห์น ที่มีผลต่อระเบียบวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์

          โทมัส คุห์น (Thomas Kuhn) เป็นนักปรัชญาวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาด้านประวัติความเป็นมาของวิทยาศาสตร์ด้วย ซึ่งหนังสือของเขาที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2505 ชื่อ The Structure of Scientific Revolutions (เคยมีการแปลเป็นฉบับภาษาไทยในชื่อ “โครงสร้างของการปฏิวัติในวิทยาศาสตร์”) ซึ่งเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวิทยาศาสตร์ ได้กลายเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อคนในโลก ทั้งผู้คนทั่วไป และในแวดวงนักวิชาการในช่วงศตวรรษที่ 20 อย่างสูง ทั้งในวงการปรัชญา ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยาด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งแม้แต่ในปัจจุบัน มาร์ก ซักเคอเบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ก็ยังเคยกล่าวว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เขาชอบมากที่สุดอีกด้วย

          สิ่งที่คุห์นให้ความสนใจได้แก่ร่องรอยการเปลี่ยนแปลงของวิทยาศาสตร์ตลอดเส้นทางของมันในประวัติศาสตร์ ซึ่งคุห์นศึกษาจนได้ข้อสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงของวิทยาศาสตร์ในยุคหนึ่งๆ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระบวนทัศน์ วิธีของการมองปัญหา หรือการเปลี่ยนแปลงกรอบคิดร่วมกันในสังคมวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นๆ 


โทมัส คุห์น (Thomas Kuhn)

          คุห์นเห็นว่าแนวคิดหนึ่งๆ จะสร้างขึ้นบนแนวความคิดที่ว่าวิทยาศาสตร์จะได้รับการพัฒนาขึ้นจากทฤษฎีต่างๆ ที่มีความขัดแย้งกัน ซึ่งการทดลองต่างๆ จะนำไปสู่สถานการณ์ที่แนวคิดทฤษฎีหนึ่งจะมีความโดดเด่นขึ้นมาและได้รับการยอมรับกันในสังคมวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น เขาเรียกมันว่า “กระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์” (scientific paradigm) เขาเชื่อว่าบรรดานักวิทยาศาสตร์จะยึดโยงกับกระบวนทัศน์หนึ่งๆ อย่างเหนียวแน่นเป็นเวลานาน จนกว่าจะมีการรวบรวมหลักฐานกันขึ้นมาเพียงพอจนไม่อาจหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ได้ แล้วหลังจากมีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ นักวิทยาศาสตร์ก็จะยอมรับกระบวนทัศน์ใหม่ และเริ่มทำงานต่อไปในกรอบข้อจำกัด (constraint) ต่างๆ ของกระบวนทัศน์ใหม่นั้น โดยที่บางครั้งกระบวนทัศน์ทั้งเก่าและใหม่อาจจะเกิดร่วมกันก็ได้ในที่สุด ตัวอย่างเช่นในยุคหนึ่งนักฟิสิกส์บางส่วนเชื่อว่าอิเล็กตรอนเป็นอนุภาค อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่ามันเป็นคลื่น จนในที่สุดแล้วก็พบว่ามันกระทำตัวเหมือนทั้งสองสิ่ง ดังนั้นทั้งสองกระบวนทัศน์จึงมีจุดร่วมหรือซ้อนทับกันได้

          อย่างไรก็ตามขณะนี้ควอนตัมฟิสิกส์ก็เปิดโอกาสให้นิยามใหม่ๆ และกระบวนทัศน์มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกครั้ง

งานของพอล ไฟเออราเบนด์ ที่มีผลต่อระเบียบวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์

          นักคิดคนสุดท้ายในสามนักคิดนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนากระบวนวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 ได้แก่ พอล ฟายเออราเบนด์ (Paul Karl Feyerabend) ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นนักอนาธิปัตย์แห่งวงการวิทยาศาสตร์ (scientific anarchist)

          เขาเกิดในปี พ.ศ. 2467 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และใช้ชีวิตจนถึงวัยหนุ่มที่นั่น พอลมีความสนใจที่หลากหลาย ทั้งศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกับการฝึกการละครและการขับร้องโอเปรา ในสงครามโลกครั้งที่สอง เขาถูกส่งไปรบที่รัสเซีย จนโดนยิงที่หลังได้รับบาดเจ็บสาหัส และไม่เคยฟื้นตัวร้อยเปอร์เซ็นต์อีกเลย ทำให้เดินไม่คล่องตลอดชีวิต แต่เขาก็มุ่งมั่นในการศึกษาต่อหลังสงครามจบ โดยเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเวียนนา ศึกษาด้านประวัติศาสตร์ จากนั้นเปลี่ยนเป็นฟิสิกส์ แล้วจบลงที่สาขาปรัชญา ในปี พ.ศ. 2494 เขาได้ทุนจากบริติช เคานซิล เพื่อศึกษาภายใต้การดูแลของลูทวิช วิทเกินชไตน์ (Ludwig Josef Johann Wittgenstein) นักคิดนักปรัชญาที่ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ให้เป็นนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 แต่น่าเสียดายที่วิทเกินสไตน์เสียชีวิตก่อนที่เขาจะย้ายไปลอนดอน ไฟเออราเบนด์จึงไปเรียนต่อด้านปรัชญาวิทยาศาสตร์ที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ลอนดอน (London School of Economics and Political Science) ในปี พ.ศ. 2495 ภายใต้การดูแลของคาร์ล พอปเพอร์ ซึ่งเคยพบและได้รู้จักกันมาก่อนในปี พ.ศ. 2491 ขณะที่เขาเข้าร่วมงานประชุมวิชาการ European Forum Alpbach ซึ่งการศึกษาโดยมีคาร์ล พอปเพอร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษานั้น ทำให้เขาได้รับอิทธิพลความคิดของพอปเพอร์ค่อนข้างมากในช่วงต้น[1]


พอล ฟายเออราเบนด์ (Paul Karl Feyerabend)

          หลังจากเรียนจบ เขาได้งานสอนที่มหาวิทยาลัยบริสตอล จากนั้นก็ได้สอนในอีกหลายมหาวิทยาลัยทั้งที่อังกฤษและเยอรมนี จากนั้นจึงย้ายไปทำงานที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (U.C. Berkeley) ในปี พ.ศ. 2501 พร้อมกับเปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกัน และตลอดช่วงเวลายาวนานที่เขาทำงานที่เบิร์กลีย์ เขาก็ได้รับเชิญไปสอนที่มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยโอกแลนด์ ที่นิวซีแลนด์ในปี พ.ศ. 2515 และ พ.ศ. 2517 อีกด้วย เขาลาออกจากงานที่เบิร์กลีย์ในปี พ.ศ. 2532 และใช้ชีวิตในวัยเกษียณตีพิมพ์งานวิจัยและเขียนอัตชีวประวัติของตนเอง ฟายเออราเบนด์นับเป็นนักคิดร่วมสมัย เขาเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 ด้วยสาเหตุเนื้องอกในสมอง นับเป็นการสูญเสียนักคิดที่โดดเด่นของวงการปรัชญาวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันไปอีกหนึ่งท่าน

          สำหรับแนวคิดของฟายเออราเบนด์นั้น เช่นเดียวกับที่พอปเพอร์ตระหนักว่าวิทยาศาสตร์ได้แยกออกเป็นสาขาวิชาต่างๆ มากมายที่แตกต่างกัน ฟายเออราเบนด์ก็ตระหนักว่าสาขาวิชาต่างๆ เหล่านี้ได้กลายเป็นความรู้ที่ซับซ้อนเกินกว่าที่จะนิยามโดยวิธีการศึกษาอย่างกว้างๆ (overarching method) ได้อีกแล้ว

          อันที่จริงแล้วฟายเออราเบนด์เชื่อว่าการพยายามบังคับให้ทุกสาขาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์กระทำตามกฎชุดหนึ่งนั้นจะไปขัดขวางพัฒนาการของวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดข้อจำกัดที่ผิดๆ และเกิดเป็นสิ่งกีดขวางต่อความก้าวหน้า เขาจึงเสนอให้กระบวนการหาความรู้ทั้งหลายมีอิสระจากกรอบการบงการของวิทยาศาสตร์ เพราะยุคของเขาและหลังจากนั้นจนปัจจุบันเป็นยุคที่วิทยาศาสตร์รุ่งเรือง จึงทำให้วิทยาศาสตร์มีอิทธิพลเชิงความคิดที่หนักแน่น และไปปิดกั้นความรู้อื่นๆ ที่มีความแปลกไปจากวิทยาศาสตร์ ซึ่งตามแนวคิดทางปรัชญาวิทยาศาสตร์ที่คุห์นได้สรุปไว้ว่า วิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่ใช่ศาสตร์ที่อธิบายความจริงแท้ของโลกและสรรพสิ่งได้จนถึงที่สุด วิทยาศาสตร์จึงไม่น่าจะมีความสำคัญเหนือกว่าความรู้ตามแนวทางอื่นๆ และไม่อาจไปปิดกั้นการเสนอความรู้จากแนวทางอื่นๆ ได้

          ปรัชญาแนวคิดของเขาเกี่ยวกับ “การใช้แนวทางใดก็ได้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์มา” นั้นคือความพยายามในการที่จะกล่าวถึงประเด็นนี้ โดยให้ข้ออภิปรายในทางกลับกันเช่นกันว่า นักวิทยาศาสตร์ไม่ควรได้รับอิทธิพลโดยปรัชญาที่ “โบราณคร่ำครึ” เขาชี้ไปที่วิชาฟิสิกส์ให้เป็นกรณีตัวอย่าง ซึ่งถึงแม้เขามักจะแสดงความเสียดายว่ามีนักฟิสิกส์อยู่มากมายที่ไม่มีความเข้าใจในวิชาปรัชญา แต่ขณะเดียวกันก็ตั้งข้ออภิปรายว่าหากพวกนักฟิสิกส์ไม่เข้าใจปรัชญา จะถูกจำกัดไว้ด้วยวิชาปรัชญาได้อย่างไร

          ข้อถกเถียงที่หนักแน่นที่สุดของเขาต่อระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ก็คือ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่มากมายอาจไม่เกิดขึ้น หากถูกจำกัดไว้โดยข้อจำกัดที่เข้มงวดของระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ โดยเขาชี้ไปที่งานของกาลิเลโอและโคเพอร์นิคัส เขาเชื่อว่า[3] นักวิทยาศาสตร์มักจะต้องทั้งกฎต่างๆ ขึ้นมาในขณะที่ปรับวิธีการ เพื่อที่จะรับมือกับการค้นพบใหม่ๆ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ โดยไม่ขัดต่อกฎที่มีอยู่แล้ว

          เขาชี้ว่าการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปเร็วไม่เท่ากันในแต่ละครั้ง และว่าความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการละเว้นระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้นว่า ไอน์สไตน์ทำงานโดยเริ่มจากโจทย์เกี่ยวกับเวลาในการเคลื่อนที่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยวางสมมติฐานไว้ว่าหากเวลาไม่คงที่จริงๆ อย่างที่มองกันในยุคนั้น อะไรจะเกิดขึ้น

          ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาในยุคนั้น เพราะนักวิทยาศาสตร์ในยุคก่อนไอน์สไตน์มองว่าเวลาเป็นสิ่งที่เที่ยงตรงและมีความแน่นอน การจะพิสูจน์ว่าเวลาเป็นสิ่งที่มีความไม่แน่นอน ก็ต้องอาศัยการควบคุมและตรวจวัดเวลาให้ได้อย่างเที่ยงตรงมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาทางเทคนิคในยุคนั้นว่าจะวัดเวลาในระดับเล็กๆ อย่างอะตอมได้อย่างไร เพื่อมาพิสูจน์สมมติฐานที่ตั้งไว้ ไอน์สไตน์จึงข้ามขั้นตอนการแก้ปัญหาทางเทคนิคเครื่องมือวัดไป โดยยังไม่หาทางแก้ แต่กลับใช้จินตนาการตั้งคำถามต่อโจทย์ปัญหาในเรื่องนี้ว่า หากความจริงเป็นเช่นนั้น หากเวลาไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงตรงจริง นักวิทยาศาสตร์จะทำความเข้าใจเรื่องราวทางทฤษฎีและสภาพการณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องอย่างไร ด้วยเหตุนี้ ไอน์สไตน์จึงคิดทฤษฎีของเขาขึ้นมาก่อน แล้วจึงทำนายเอาไว้ด้วยสมการล่วงหน้าเลยว่าในอนาคตหากมีการทดลองในแบบที่ทฤษฎีว่าเอาไว้แล้ว ผลที่ได้ก็น่าจะเป็นในแบบที่พยากรณ์เอาไว้

          ในมุมมองของเขา หากโคเพอร์นิคัส ดาร์วิน ไอน์สไตน์ เกิดข้อติดขัดกับระเบียบวิธีวิทยาศาสตร์ที่เข้มงวด แทนที่จะใช้จินตนาการ พวกเขาก็จะไม่มีวันที่จะได้ตีพิมพ์ทฤษฎีของตนเอง แต่จะติดกับดักวงจรไม่รู้จบของการสังเกต และการทดลอง และพวกเขาอาจเห็นด้วยกับการทำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เพียงก้าวเล็กๆ โดยไม่ได้มีแรงขับดัน และหลักฐานเพียงพอในการเสนอทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่พอจะพลิกวงการได้

          ในยุคของฟายเออราเบนด์และก่อนหน้านั้นย้อนไปถึงยุคคลาสสิก นักคิดมักจะศึกษาทั้งวิทยาศาสตร์ และปรัชญาไปควบคู่กัน แต่ด้วยความที่ศาสตร์ต่างๆ มีความเฉพาะทางมากขึ้น นักคิดในยุคหลังทั้งวงการปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์จึงเริ่มทำงานห่างจากกันไปเรื่อยๆ จนต่างมีแนวทางความคิดของตนเอง

          ฟายเออราเบนด์เป็นผู้วิพากษ์การขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้ด้านปรัชญา ซึ่งพบในหมู่นักฟิสิกส์รุ่นใหม่ที่โด่งดังขึ้นในวงการวิทยาศาสตร์ช่วงหลังยุคสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเขาได้กล่าวไว้ว่า

          “การถอยห่างของวิชาปรัชญาออกไปอยู่ใน “เกราะ” ด้านวิชาชีพของมันเองนั้น ทำให้เกิดผลหายนะตามมา นักฟิสิกส์รุ่นใหม่ เช่น ไฟยน์แมน (ริชาร์ด ไฟยน์แมน หนึ่งในนักฟิสิกส์ ที่ทรงคุณค่าและมีอิทธิพลมากที่สุดของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ได้รับฉายา “บิดาแห่งนาโนเทคโนโลยี”) และ ชวินเจอร์ (จูเลียน ชวินเจอร์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกับริชาร์ด ไฟยน์แมน การสร้างทฤษฎี quantum electrodynamics (QED) ที่ได้จากการประสานทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic theory) และทฤษฎีควอนตัม (quantum theory)) เหล่านี้อาจเฉลียวฉลาดมากกว่าคนรุ่นก่อน ทั้ง โบร์ ไอน์สไตน์ ชเรอดิงเงอร์ โบลต์ซมันน์ มัค และคนอื่นๆ แต่พวกเขาเป็นเพียงอนารยชนคนเถื่อน พวกเขาขาดความลุ่มลึกทางปรัชญา และนี่เป็นความผิดของแนวคิดเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิชาชีพที่คุณกำลังปกป้องมันอยู่”

          ข้อความข้างบนนี้ ถอดความมาจากจากหนังสือ For and Against Method ซึ่งอยู่ในภาคผนวก B ของหนังสือเล่มดังกล่าว เป็นตอนหนึ่งของจดหมายในปี พ.ศ. 2512 ที่เขาเขียนไปถึงวอลเลซ มัตสัน (Wallace Matson) ประธานสาขาวิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ที่เขาทำงาน

          แต่ในอีกด้านหนึ่งฟายเออราเบนด์ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักโดยศาสตราจารย์เคลาส์ เฮนท์เชล(Klaus Hentschel) นักฟิสิกส์และนักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยชตุทท์การ์ท ที่เยอรมนีเช่นกัน ในกรณีที่เขากล่าวอย่างผิดๆ เกี่ยวกับแนวปฏิบัติ วิธีการ และเป้าหมายต่างๆ ของนักวิทยาศาสตร์บางท่านที่กล่าวเอาไว้ด้านบน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับแอลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และแอนสต์ มัค (Ernst Mach) นักฟิสิกส์และนักปรัชญาชาวออสเตรีย ผู้ศึกษาค้นพบคลื่นกระแทก (shock wave) ในอากาศและเป็นผู้ให้กำเนิดเลขมัค ซึ่งเป็นตัวบอกความเร็วเหนือเสียง[4]

          หลังสงครามโลกครั้งที่สอง การค้นหาความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติและสรรพสิ่งลึกๆ ลงไป กลับเริ่มเป็นบทบาทของวงการวิทยาศาสตร์มากขึ้นทุกที ซึ่งสะท้อนกับระดับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์เป็นเงาตามตัว ในขณะที่วงการปรัชญาก็มีพัฒนาการถอยแยกออกไป อันที่จริงในหมู่ของนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ผู้ที่ฟายเออราเบนด์เคยวิพากษ์วิจารณ์ว่าเปรียบประหนึ่งอนารยชนที่ขาดความลุ่มลึกนั้น ถ้าเราได้อ่านหนังสือที่พวกเขาเขียนเกี่ยวกับความคิดความเข้าใจธรรมชาติและสรรพสิ่งอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นริชาร์ด ไฟยน์แมน, คาร์ล เซแกน, โรเจอร์ เพนโรส, สตีเฟน ฮอว์คิง หรือแม้แต่มิชิโอะ คะกุ ก็ตาม

          นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังเหล่านี้ต่างเป็นนักคิดที่ยิ่งใหญ่ในฝั่งวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น และได้มีอิทธิพลทางความคิดต่อมาให้กับผู้คนมากมาย ไม่ต่างจากที่ครั้งหนึ่งนักปรัชญาเคยเป็น ซึ่งหากมีโอกาส ผู้เขียนจะนำเรื่องราวความคิดของนักวิทยาศาสตร์ท่านต่างๆ มาเล่าให้ฟังกันอีกในโอกาสต่อไปครับ


แหล่งข้อมูลสำหรับอ่านเพิ่มเติม
     1. https://en.wikipedia.org/wiki/Paul_Feyerabend

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_scientific_method
  2. https://explorable.com/history-of-the-scientific-method
  3. Hentschel, K. (1985). On Feyerabend’s version of “Mach”s theory of research and its relation to Einstein’. Studies in History and Philosophy of Science Part A, 16(4), 387–394. doi:10.1016/0039-3681(85)90019-6
  4. https://keplerspaceinstitute.com/portfolio/volume-2-number-2/

About Author