เพราะความยั่งยืนที่แท้จริงไม่ใช่จะเกิดขึ้นแต่เพียงผู้ใดผู้หนึ่ง หากเกิดจากการจับมือร่วมก้าวเดินไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติที่เคยตั้งไว้ตั้งแต่เมื่อโลกเริ่มเข้าสู่สหัสวรรษในปีพ.ศ.2543 จาก 8 เป้าหมาย จึงได้ขยายไปถึง 17 เป้าหมายเช่นในปัจจุบัน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวไว้ในการร่วมแสดงบรรยายหัวข้อ “มหาวิทยาลัยมหิดลกับ Sustainable Development Goals” ในงาน MUSEF 2021 ที่ มหาวิทยาลัยมหิดลจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการแสดงผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมทางออนไลน์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า นับจากเมื่อปีพ.ศ.2558 ที่ องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ขยายเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ถึง 17 เป้าหมาย ได้ทำให้ในเวลาต่อมามีการขยายผลสู่สถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก เนื่องจากเป็นแหล่งบ่มเพาะทางปัญญา จึงเป็นที่คาดหวังว่าจะสามารถเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนโลกสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ ได้ภายในปีพ.ศ.2573 หรืออีกประมาณไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า โดยนับเป็นองค์ประกอบสำคัญในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก
ที่ผ่านมา จากจุดเริ่มต้นของการมุ่งพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดล ให้เป็น “มหาวิทยาลัยสีเขียว” ต่อมาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้ขยายผลสู่เป้าหมายของการเป็น Eco-University หรือ “มหาวิทยาลัยยั่งยืน” ที่มุ่งเน้นรณรงค์เรื่องการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือ กิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และพันธกิจร่วมกับชุมชน เพื่อทำให้โลกใบนี้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน
และที่สำคัญ เพื่อปลูกฝังให้เกิดจิตสำนึกร่วมกันอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้พยายามสอดแทรกแนวคิดเรื่อง SDGs แห่งสหประชาชาติ เข้าไปในทุกกิจกรรม ริเริ่มโดย สภามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งที่ผ่านมาได้พยายามกระตุ้นให้ทุกส่วนงานนำเสนอกิจกรรมที่เกี่ยวโยงกับ SDGs ในทุกครั้งที่มี Council Visit หรือการเยี่ยมเยียนตามส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อกำหนดเป็น Action Plan หรือนโยบายเชิงปฏิบัติของมหาวิทยาลัยมหิดลต่อไป
ซึ่งจากการปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าวได้ส่งผลให้มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการจัดอันดับ มหาวิทยาลัยโลกที่ดีขึ้น โดยเมื่อเร็วๆ นี้จากการจัดอันดับของ Time Higher Education Impact Rankings 2021 มหาวิทยาลัยมหิดลได้เป็นอันดับที่ 7 ของโลกด้านการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs แห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเป้าหมายที่ 3 เพื่อการมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี (Good Health and Well-being)
“เป้าหมาย SDGs คือ การทำอย่างไรให้โลกใบนี้อยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน และเกิดสันติสุข แต่สิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่า คือ การทำอย่างไรให้ความยั่งยืนนั้นเกิดเป็นความต่อเนื่อง จึงถือเป็นหน้าที่ของทุกคนบนโลกใบนี้ที่จะต้องช่วยร่วมด้วยช่วยกันให้ความยั่งยืนนั้นได้ส่งถึงมวลมนุษยชาติในรุ่นต่อๆ ไป” ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามชมผลงานและการบรรยายในหัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจของงาน MUSEF 2021 ย้อนหลังได้ทาง Facebook: MUSEF Conference
ข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ภาพโดย
ไมตรี บัวศรีจันทร์ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210