โปรตีนใน ‘ฟันปลาหมึก’ อาจใช้ผลิตหน้ากากและชุดพีพีอีแบบซ่อมแซมตัวเองได้

            การเกิดโรคระบาดใหญ่อย่างโควิด-19 ทำให้หน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลประเภทต่างๆ เป็นที่ต้องการมากขึ้นเพื่อใช้ในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้าย ล่าสุดนักวิจัยค้นพบความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาวัสดุพอลิเมอร์ชีวสังเคราะห์ที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้จากการสังเคราะห์โปรตีนที่พบในฟันของปลาหมึก

            เมื่อไม่นานนี้วารสารวิทยาศาสตร์ Nature Materials ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากเยอรมนี ตุรกี และสหรัฐอเมริกา ที่สามารถเปลี่ยนโปรตีนที่มีลักษณะเฉพาะที่พบในฟันปลาหมึกให้เป็นวัสดุที่อ่อนนุ่มและสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งอาจนำมาใช้ในการพัฒนา “soft robots” หรือหุ่นยนต์ที่มีความอ่อนนุ่ม และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่ทนต่อการฉีกขาดได้

            วัสดุที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นักวิจัยบอกว่าวัสดุที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจต้องใช้เวลานานถึง 24 ชั่วโมงในการซ่อมแซมตัวเอง และวัสดุเหล่านั้นมักจะไม่แข็งแรงเหมือนของเดิม

            Abdon Pena-Francesch หัวหน้าทีมวิจัยล่าสุดนี้ กล่าวว่า การซ่อมแซมตัวเองโดยธรรมชาตินั้นใช้เวลานาน แต่เทคโนโลยีที่พวกเขาค้นพบนี้เหนือกว่าธรรมชาติ โดยวัสดุสังเคราะห์ที่ได้จากโปรตีนในฟันปลาหมึกนี้จะทำให้สามารถย่นระยะเวลาการซ่อมแซมตัวเองจาก 24 ชั่วโมงเหลือเพียง 1 วินาทีเท่านั้น และยังกลับมามีความแข็งแรงเหมือนเดิมได้ 100%

            นอกเหนือจากอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแล้ว นักวิจัยกล่าวว่าวัสดุแบบใหม่จากฟันปลาหมึกยังสามารถนำไปใช้งานกับผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่อาจมีรอยฉีกขาดและรอยแตกเล็กๆ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายถาวรจากการเคลื่อนไหวซ้ำไปซ้ำมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงแขนหุ่นยนต์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมหรือขาเทียมด้วย


รายละเอียดเพิ่มเติม
https://www.voathai.com/a/self-repairing-masks/5524320.html

About Author