ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศให้ปี 2566 เป็นปีแห่ง “สุขภาพสูงวัยไทย” โดยกำหนดให้มี “คลินิกสูงอายุ” รองรับในโรงพยาบาลทุกระดับ ทำให้ทุกภาคส่วนเกิดการขับเคลื่อนเพื่อสุขภาวะผู้สูงวัยในวงกว้าง ซึ่งเครื่องมือที่สำคัญในการให้บริการของคลินิกผู้สูงอายุ คือ การประเมินภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเป็นหนึ่งใน 9 ด้านของแบบประเมินผู้สูงอายุแบบบูรณาการในชุมชน
รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญใจ อำนาจสัตย์ซื่อ หัวหน้าภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการสำรวจผู้สูงวัยในเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร โครงการวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสิรินทร ฉันศิริกาญจน สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในพื้นที่เขตราชเทวีทั้งหมด 21 ชุมชน
พบว่าร้อยละ 50.18 ของผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มีความผิดปกติทางด้านสมอง และจากการคัดกรองโดยใช้แบบประเมิน (The Montreal Cognitive Assessment, MoCA Test) พบว่า ร้อยละ 22.02 ของผู้สูงอายุมีภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (Mild Cognitive Impairment: MCI) ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงถึงแนวโน้มของการเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมในอีกไม่ช้า
ภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุขแห่งแรกของประเทศไทย ที่ก่อตั้งขึ้นด้วยการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก ผลิตพยาบาลสาธารณสุขและพยาบาลเวชปฏิบัติ ทั้งระดับปริญญาโท และปริญญาเอกเพื่อพัฒนาวิชาการ และองค์ความรู้ด้านการป้องกันและส่งเสริมสุขภาวะของประชาชน มาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 75 ปี และมีความมุ่งมั่นที่จะเห็นคนไทยห่างไกลภาวะสมองเสื่อม ซึ่งกำลังกลายเป็นวิกฤติที่คอยคุกคามสุขภาวะผู้สูงวัยในปัจจุบัน
จึงเปิดศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ (Senior Wellness) และ Pre-ageing clinic เพื่อประเมินภาวะสมองเสื่อมผู้สูงวัยมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผู้สูงอายุแบบองค์รวม โดยบูรณาการบริการวิชาการ งานวิจัยและการเรียนการสอนภายใต้การดูแลของคณาจารย์ของภาควิชาฯ
จากการประยุกต์ใช้โปรแกรมประเมินภาวะสมองเสื่อมผู้สูงวัยในชุมชน (The Montreal Cognitive Assessment, MoCA Test) โดยนักศึกษาพยาบาลในหลักสูตรอบรมระยะสั้นสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติสูงอายุ พบว่า เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้คัดกรองคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เครื่องมือนี้พัฒนาขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2539 หรือเกือบ 3 ทศวรรษก่อน โดย ดร.เซียด นัสเรดดิน (Dr.Ziad Nasreddine) นักประสาทวิทยาชาวแคนาดา ซึ่งเป็นแบบทดสอบที่ใช้คัดกรองภาวะสมองเสื่อมในระยะต้นๆ ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก โดยใช้เวลาเพียงไม่เกิน 10 นาที เพื่อดูกระบวนการทางความคิดในด้านต่างๆ อาทิ ความจำ ความตั้งใจ สมาธิ การบริหารจัดการความคิด การใช้ภาษา การเชื่อมโยง การใช้ความคิดรวบยอด และการเปิดรับสิ่งรอบตัว ตามเกณฑ์มาตรฐานการประเมินโรคสมองเสื่อม
การประยุกต์ใช้แบบทดลอง MoCA Test ในกลุ่มผู้สูงวัยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเข้ารับการทดสอบด้วยความสมัครใจ และพบว่าเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ในการทดสอบจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนักจิตวิทยา และพยาบาลร่วมด้วย เพื่อช่วยในการสื่อสารกับผู้เข้ารับการทดสอบซึ่งเป็นผู้สูงวัยไม่ให้เกิดความวิตกกังวล หรือสภาวะทางอารมณ์
เนื่องจากเป็นการทดสอบที่ต้องอาศัยแรงจูงใจในการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการทดสอบด้านต่างๆ ซึ่งต้องใช้ความพยายามในการจดจำ และการคิดเป็นหลัก ภายใต้การจัดสิ่งแวดล้อมที่เป็นส่วนบุคคล
ตัวอย่างเช่น ในการทดสอบบวกลบเลข เพื่อดูศักยภาพเบื้องต้นในการคิดคำนวณ อาจลองให้ผู้สูงวัยที่เข้ารับบริการได้ลองจินตนาการนึกถึง “การบวกลบเลขในใจ” ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การจ่ายตลาด – ซื้อของ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนโดนบังคับให้ทำตามแบบประเมิน กรณีที่ได้ผลการทดสอบเข้าข่ายโรคสมองเสื่อม ผู้สูงวัยจะได้รับคำแนะนำและประสานงานส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่พร้อมให้การดูแล
แม้แบบทดสอบ MoCA Test จะใช้เวลาในการทดสอบและทราบผลเพียงระยะสั้นไม่เกิน 10 นาที แต่ยังมีข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับระดับการศึกษาของผู้เข้ารับการทดสอบเป็นตัวแปรสำคัญ
นอกจากนี้ผลการทดสอบอาจคลาดเคลื่อนได้กรณีมีปัจจัยอื่นๆ มาทำให้ผู้เข้ารับการทดสอบเกิดความไม่พร้อม ขาดสมาธิ หรือมีสภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น กำลังอยู่ในภาวะความดันโลหิตขึ้นสูง หรือลดลงต่ำโดยฉับพลัน ตลอดจนข้อจำกัดจากการขาดการติดตามการทดสอบอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญใจ อำนาจสัตย์ซื่อ ได้กล่าวถึงก้าวต่อไป เตรียมขยายผล ผลักดันสู่ระดับนโยบายเชื่อมโยงกับระบบบริการสุขภาพในชุมชน ด้วยบัตรประจำตัวประชาชน หรือสมาร์ตการ์ดของผู้สูงอายุ ซึ่งความสำเร็จในการประยุกต์ใช้โปรแกรมการจัดการภาวะสมองเสื่อมแบบบูรณาการในผู้สูงวัย เป็นผลงานการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ “Pacific Rim International Journal of Nursing Research” ล่าสุด
ผู้สูงอายุท่านใดที่มีความประสงค์จะเข้ารับการประเมินภาวะสมองเสื่อมมาตรฐานสากล ภายใต้การดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถติดต่อขอเข้ารับบริการได้ทุกวันพุธที่ 2 และ 4 ของเดือน ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.0-2354-8542
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ โทร. 0-2849-6210
ภาพจาก คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โทร. 0-2849-6210