ขณะรอพบแพทย์ หลายคนเลือกที่จะหาซื้ออาหารหรือของว่างมารับประทาน ทั้งๆ บางคนอาจรับประทานมาแล้ว ซึ่งการรับประทานอาหารมากจนเกินไป จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อโรค NCDs
แต่เมื่อได้ไปถึงโรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน ณ บริเวณใต้อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา จะได้พบกับ “SiHOW – Siriraj Healthy Organization and Well-being” หรือ “องค์กรสุขภาวัฒนะ” ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยดูแลทุกชีวิต โดยเปรียบเหมือน “ร่มเงาไม้ใหญ่” ที่ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรภายในศิริราช หรือผู้มารับบริการ สามารถพึ่งพิง พร้อมได้รับองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาวะอันเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีรวุฒิ ธรรมวิบูลย์ศรี รองคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นับเป็นเวลา 16 ปีแล้วที่ “ศิริราช” ให้ความสำคัญต่อการมอบองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาวะให้กับทุกชีวิตที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของ “ศิริราช” โดยแยกจากงาน CSR หรือ “จิตอาสา” เพื่อให้สามารถแสดงบทบาทได้อย่างชัดเจน จนได้มาเป็น “SiHOW” เช่นปัจจุบัน
ในขณะที่ “ศิริราชมูลนิธิ” มาจากจิตศรัทธาของประชาชนชาวไทยที่หลั่งไหลมาช่วย “ต่อชีวิต” ผู้ป่วยยากไร้ “SiHOW” มอบ “ความยั่งยืน” แก่ทุกชีวิตที่อยู่ภายใต้ร่มเงาแห่ง “ศิริราช” ด้วยการ “มอบองค์ความรู้” ให้สามารถดูแลสุขภาวะได้ด้วยตัวเอง
จากการออกแบบให้แต่ละฐานของ “SiHOW” เปลี่ยนเนื้อหาไปตามช่วงเวลารณรงค์สุขภาพที่แตกต่างกัน ได้เติมสีสันแก่ทุกชีวิตที่ได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัส พร้อมกลับออกไปด้วยความมั่นใจจากการได้รับบริการให้คำปรึกษาโดยนักดูแลสุขภาพมืออาชีพ และรับคำทำนายสุขภาพจากเครื่องวัดองค์ประกอบของร่างกาย (BIA – Bioelectrical Impedance Analysis) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นอกจากการ “เติมอาหารสมอง ประลองความรู้สุขภาวะ” ณ “SiHOW” บริเวณใต้อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แล้ว ที่ผ่านมายังได้แสดงบทบาทต่อชุมชน โดยร่วมกับ Siriraj CSR และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ออกหน่วยดูแลสุขภาพชุมชนบางกอกน้อยที่อยู่ในละแวกเดียวกัน ออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อลดเสี่ยงผู้สูงวัยพลัดตกหกล้ม ซึ่งในปัจจุบันได้ดำเนินโครงการฯ มาสู่เฟส 3 แล้ว
ด้วยการให้บริการและจัดกิจกรรมที่มุ่งหวังเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลให้น้อยลง ซึ่งจะเป็นการลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อจะได้สามารถให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้รับการดูแลจนสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้โดยปกติ เป็นกำลังสำคัญให้กับสังคมและประเทศชาติ
“SiHOW” ไม่เคยหยุดพัฒนาเพื่อมอบสิ่งดีๆ แก่ผู้เข้ารับบริการ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้เข้ารับการประเมินคุณภาพการให้บริการดูแลและให้คำปรึกษาสุขภาวะเทียบเคียงบริบทโลกกับมหาวิทยาลัยโอเรกอนสเตท (Oregon State University) สหรัฐอเมริกา
เพียงใช้เวลาอย่างน้อย 5 นาทีเพื่อการเรียนรู้สุขภาวะในแต่ละฐานของ “SiHOW” จะทำให้ช่วงเวลาขณะรอพบแพทย์ เต็มไปด้วยความหมาย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210