หนึ่งในยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี ของประเทศไทย (พ.ศ.2560 – 2579) ได้ส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 12 ซึ่งว่าด้วยการผลิตและบริโภคด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Consumption and Production) ขณะที่ในวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบันยังเต็มไปด้วยปัญหาทางมลพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคผัก ผลไม้ และอาหารปลอดภัย ซึ่งทางออกของปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน คือ การทำเกษตรปลูกผักผลไม้บริโภคเองในครัวเรือน
แม้แต่ชุมชนในเขตต่างจังหวัด ก็ยังประสบปัญหาสุขภาวะ ที่เป็นผลพวงจากการขาดแหล่งบริโภคอาหารปลอดภัย โดยพบว่ายังมีเด็กๆ อีกเป็นจำนวนมากที่รับประทานผักได้ไม่ถึง 400 กรัมต่อวันตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) แม้ที่ผ่านมาหลายโรงเรียนจะเข้าโครงการอาหารกลางวัน เพื่อให้เด็กๆ ได้รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน แต่ก็ยังพบว่าเด็กๆ ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเฉพาะแต่ในมื้อกลางวันที่ทางโรงเรียนจัดให้ และผักผลไม้ส่วนใหญ่ในชุมชนก็ยังเต็มไปด้วยการปนเปื้อนของสารพิษจากยาฆ่าแมลง จึงเป็นที่มาของ โครงการชุมชนร่วมกันบริโภคผักผลไม้ปลอดภัย โดย โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ โรงเรียนบ้านประชาสามัคคี ตำบลบางเคียน อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ภายใต้การสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และทีมสร้างเสริมสุขภาพนครสวรรค์ เพื่อการส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน สู่การมีสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตที่ดี และยั่งยืนของชาวชุมชนนครสวรรค์ต่อไป
อาจารย์ ดร.ปัณฑารีย์ แต้ประยูร อาจารย์ประจำ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรกรปราชญ์เปรื่อง (Smart Farmer) โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะพี่เลี้ยงโครงการชุมชนร่วมกันบริโภคผักผลไม้ปลอดภัย โรงเรียนบ้านประชาสามัคคี ตำบลบางเคียน อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถคว้ารางวัลคะแนนยอดนิยม Oral Presentation ในงานมหกรรมมหิดลเพื่อสังคม (Mahidol University Engagement Forum 2021 – MUSEF 2021) ซึ่งจัดขึ้นทางออนไลน์เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เปิดเผยถึง “บันไดสู่ความสำเร็จ” จากการสามารถสร้างโมเดล “บันไดสู่ผลลัพธ์” ของโครงการนำร่องดังกล่าวว่า สามารถทำให้เกิด “ชุมชนต้นแบบ” จากการใช้โรงเรียนที่อยู่ในชุมชนนครสวรรค์ เป็น “ศูนย์กลาง” ในการจัดการอาหารปลอดภัย โดยนอกจากมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มนักเรียนในระดับชั้นต่างๆ ของโรงเรียนแล้ว
ยังจัดให้มี “ครอบครัวกลุ่มอาสา” ร่วมปลูกผักผลไม้ปลอดภัย และยังจะสามารถต่อยอดขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ สู่การทำ “แผนที่อาหารปลอดภัยของชุมชน” เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้กับชาวชุมชนนครสวรรค์ทุกคนได้เข้าถึง และส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนนครสวรรค์ได้ต่อไปในอนาคตอีกด้วย
จากการวางแผนการดำเนินโครงการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน พร้อมแบ่งหน้าที่รับผิดชอบภายในโครงการอย่างชัดเจน ภายใต้เงื่อนเวลาที่กำหนด ทำให้โครงการดังกล่าวบรรลุผลไปได้ด้วยดี พร้อมมีนวัตกรรมโดยกลุ่มนักเรียน และครอบครัวอาสาเกิดขึ้นจาก “ห้องเรียนแปลงผัก” ของโครงการดังกล่าวมากมาย
ตัวอย่างนวัตกรรมโดยกลุ่มนักเรียน และครอบครัวอาสา จาก “ห้องเรียนแปลงผัก” ได้แก่ โครงการ “ผักหรรษา” ของนักเรียนระดับชั้นอนุบาล ที่ส่งเสริมให้เด็กๆ ได้รู้จักผักและผลไม้ชนิดต่างๆ ในเบื้องต้น ผ่านสื่อการเรียนการสอน, โครงการ “ข้าวพองน้องพี่” ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น ที่ได้ดัดแปลงนำ “ข้าวก้นหม้อ” มาทำเป็น “ขนมข้าวพอง” ซึ่งเป็นการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า และโครงการปลูกเมล่อน 1 คนต่อ 1 ต้น ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ที่ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ตั้งแต่การเพาะเมล็ด นำกล้าลงปลูก ผสมเกสร ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลเมล่อน ซึ่งสามารถต่อยอดไปสร้างอาชีพ-สร้างรายได้ให้กับนักเรียน และครอบครัวได้ต่อไปในอนาคต
และผลแห่งความสำเร็จจาก “ห้องเรียนแปลงผัก” ดังกล่าว ยังสามารถถอดบทเรียนต่อยอดขยายผลสู่ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Lifelong Learning) สำหรับประชาชนผู้สนใจทั่วไป ให้สามารถลงทะเบียนเรียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายพร้อมรับประกาศนียบัตรในรายวิชาออนไลน์ “หมอดิน” (Soil Doctor) และ “ระบบการทำฟาร์มผลิตพืชผสมผสาน” (Integrated Crop Production in Farming System) ที่เปิดใหม่ล่าสุดทาง MUx ซึ่งในอนาคตสามารถใช้เทียบโอนหน่วยกิตเพื่อศึกษาต่อหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรกรปราชญ์เปรื่อง (Smart Farmer) เพื่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ยั่งยืน บนความหลากหลายทางชีวภาพ และเทคโนโลยี ตลอดจนองค์ความรู้ใหม่ทางการเกษตรในระดับปริญญาตรีของ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ต่อไปในอนาคตอีกด้วย
ติดตามรายละเอียด และสมัครเรียนได้ที่ https://mux.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210