พลิกชนบทสู่ชุมชนเกษตรอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี IoT

          โลกยุคดิทัลที่เชื่อมต่อด้วย IoT (Internet of Things) ทำให้ทุกสรรพสิ่งหมุนตามสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แม้แต่การเกษตรที่ต้องอาศัยปัจจัยของดิน น้ำ และแสงแดด ด้วยเทคโนโลยี IoT จะทำให้การทำเกษตรเป็นเรื่องง่าย พลิกชนบทสู่ชุมชนเกษตรอัจฉริยะ

          อาจารย์ ดร.ปัณฑารีย์ แต้ประยูร อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรกรปราชญ์เปรื่อง (SMART Farmer) โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงแนวคิดในการจัดตั้งหลักสูตรฯ ด้วยหลักการจัดการเรียนการสอน “ผลิตได้ ขายเป็น ปลอดภัย และยั่งยืน” จึงมั่นใจได้ว่าบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรฯ จะไม่เพียงเก่งเรื่องการเกษตร แต่ยังมีความปราชญ์เปรื่องที่จะนำไปประยุกต์ต่อยอดสู่การเพิ่มมูลค่าเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ต่อไปอย่างยั่งยืน


อาจารย์ ดร.ปัณฑารีย์ แต้ประยูร
อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรกรปราชญ์เปรื่อง (SMART Farmer)
โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          ที่ผ่านมา โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ยืนหยัดข้ามผ่านวิกฤติ COVID-19 ของโลก ด้วยการทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล สร้างแหล่งอาหารปลอดภัย โดยเน้นการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ปลอดภัยไร้สารเคมีของชุมชน

          โดยได้ริเริ่มโครงการ “ไข่ไก่อารมณ์ดี” (Happy Chick) ดำเนินการโดย ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ไข่ไก่ออร์แกนิกจากแม่ไก่ที่เลี้ยงอิสระด้วยอาหารจากธรรมชาติ ให้ชาวชุมชนได้บริโภคเพื่อสุขภาพ

          ปัจจุบันได้มีการขยายผลต่อยอดสู่โครงการ “The Teak Chicken” ภายใต้หลักการไก่เลี้ยงอิสระ ด้วยอาหารจากธรรมชาติเพื่อให้ได้ไข่ไก่สุขภาพเช่นกัน โดยชื่อโครงการมีที่มาจากพื้นที่เลี้ยงไก่ในเขตป่าสักซึ่งอยู่ภายในบริเวณโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการโดยหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรกรปราชญ์เปรื่อง (SMART Farmer) ซึ่งใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นฟาร์มปฏิบัติการ และบริษัทจำลอง (mini company) ของนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 2

          โดยได้มีการนำเทคโนโลยี IoT มาใช้ในโครงการฯ อาทิ ระบบการปิด-เปิดการให้น้ำอัตโนมัติ ระบบเซนเซอร์วัดความชื้น และอุณหภูมิ ฯลฯ ซึ่งสามารถบริหารจัดการ และดูแลรักษาได้ด้วยตัวเอง ด้วยต้นทุนเพียงไม่ถึง 1,000 บาท โดยสามารถใช้เป็นต้นแบบเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรภายในชุมชนได้ต่อไปอีกด้วย

          “ถึงที่ผ่านมาเทคโนโลยี IoT จะช่วยยกระดับการเกษตรไทย ไปสู่เกษตรมูลค่าสูง แต่ยังพบว่าส่วนใหญ่ใช้อุปกรณ์ที่ยังไม่สอดคล้องกับบริบทการเกษตรของไทย เช่นเดียวกับการได้เป็นเจ้าของอุปกรณ์สมรรถนะสูง แต่ขาดทักษะการใช้” อาจารย์ ดร.ปัณฑารีย์ แต้ประยูร กล่าว

          มหาวิทยาลัยมหิดล โดย หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรกรปราชญ์เปรื่อง (SMART Farmer) โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ พร้อมเป็นที่พึ่งให้กับเกษตรกรไทย ถ่ายทอดองค์ความรู้ เรียนรู้และปรับตัวต่อสิ่งใหม่ร่วมกับชุมชนตลอดไป

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author