คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จากต้นกำเนิด สู่ยุค 5G ยังคงความเป็นผู้นำทางการแพทย์ของประเทศไทยที่ได้พัฒนาสู่ Smart Hospital ซึ่งสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำสมัยเช่นปัจจุบัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพัฒน์ สุริยผล รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ และผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศและนวัตกรรมข้อมูลศิริราช (Siriraj Informatics and Data Innovation Center) หรือ “SiData+” คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล่าถึงการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญดังกล่าว โดยทีมบริหารของคณะฯ ได้มีการปฏิรูประบบสารสนเทศ และการใช้ข้อมูล เพื่อเป็นความหวังใหม่ให้ผู้ป่วยชาวไทยใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นในอนาคต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพัฒน์ สุริยผล
รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ และผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศและนวัตกรรมข้อมูลศิริราช
(Siriraj Informatics and Data Innovation Center)
หรือ “SiData+” คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยได้กล่าวอธิบายว่า ทางฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เริ่มนำ “Enterprise Architect” (EA) มาใช้อย่างจริงจัง เพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบโรงพยาบาล และข้อมูลสุขภาพที่ทันสมัย
ซึ่ง “Enterprise Architect” (EA) คล้ายกับการวางผังเมือง แต่เป็นการวางผังของระบบสารสนเทศเพื่อตอบโจทย์องค์กรขนาดใหญ่ให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการทำงานขององค์กรในปัจจุบันจำเป็นต้องมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศควบคู่กันไปด้วย การนำ EA มาใช้จะช่วยให้ศิริราชสามารถมองภาพระบบองค์กรในปัจจุบัน และภาพปลายทางที่ชัดเจน ตลอดจนสามารถวางแผนการพัฒนาให้เกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ ทาง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้จัดตั้งศูนย์ SiData+ เพื่อเน้นการบริหารจัดการและนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด โดยศูนย์ SiData+ จะทำงานควบคู่กับฝ่ายสารสนเทศ และหน่วยงานต่างๆ ในคณะฯ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์กับทุกพันธกิจของคณะฯ ทั้งในแง่ของให้บริการ การศึกษาและงานวิจัยเพื่อประโยชน์ทั้งในระดับปัจเจก องค์กร และระดับประเทศ
เช่น งานที่ทำกับหน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อศึกษาความคุ้มทุนในการตรวจทางพันธุกรรม BRCA1, BRCA2 ของผู้ป่วยและญาติ พบว่ามีความคุ้มค่าในการตรวจคัดกรอง
ทาง หน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้นำเสนอกับ สปสช.เพื่อพิจารณา และได้รับการเข้าบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช.เพื่อการตรวจคัดกรองในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคมะเร็งเต้านม ในปี 2565 เพื่อให้คนไทยสามารถใช้สิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรอง ตรวจพบโรคได้เร็ว และรักษาได้ รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในการดูแลผู้ป่วยในระยะยาวได้เป็นอย่างมาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมุ่งพัฒนา “อาณาจักรข้อมูลและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพของคนไทย” ซึ่งพร้อมเปิดสู่การสร้างเครือข่าย และความร่วมมือระดับโลก ก่อให้เกิดมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่จะแผ่ไพศาลให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติต่อไปให้ได้มากที่สุดในอนาคต
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210