เรื่องโดย รักษ์ศักดิ์ สิทธิวิไล
สวัสดีปีใหม่ทุกท่าน ปีนี้ตรงกับพุทธศักราช 2568 หรือปีมะเส็งในนักษัตร สัญลักษณ์ประจำปีคืองู ซึ่งงูเองถือเป็นสัตว์ที่มีเสน่ห์ ลึกลับ และน่าค้นหาไม่แพ้ใครใน 12 นักษัตรเลยทีเดียว คนเกิดปีมะเส็งหลายคนก็มีบุคลิกลักษณะดังกล่าวด้วย ดังตัวอย่างบุคคลระดับโลกที่เกิดปีนี้ เช่น โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเทอ, ปาโบล ปิกัสโซ, และนักร้องสาวทรงเสน่ห์อย่างเทย์เลอร์ สวิฟต์ สำหรับคนที่เกิดปีมะเส็งหลายคนอาจจะรู้จักงูแค่เป็นสัตว์ประจำปีเกิดของตัวเอง แต่เรื่องราวเกี่ยวกับงูในวันนี้จะทำให้คุณมองเห็นมันในมุมที่แตกต่างไปอย่างแน่นอน
งูในประวัติศาสตร์และความเชื่อ
งูไม่ใช่แค่สัตว์เลื้อยคลานที่เรารู้จัก แต่มันมีบทบาทในวัฒนธรรม ความเชื่อ และวิทยาศาสตร์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เทพของจีน นฺหวี่วา (Nüwa) เทพีงูผู้สร้างโลกที่มีท่อนล่างเป็นหางงู ไปจนถึงงูในมงกุฎฟาโรห์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ไม่เว้นแม้แต่ในงานวรรณกรรมต่าง ๆ เช่น เมดูซา ในภาพยนตร์ไทยแนววิจิตรกามาหรืออีโรติกของคนกับงู เรื่อง แม่เบี้ย หรือแม้แต่งูตัวร้ายในสวนเอเดนของชาวคริสต์ (ที่ชอบมีบทตัวร้ายเสียเหลือเกิน) แต่ในบางแง่มุม งูก็เป็นผู้พิทักษ์ได้ เช่น สัญลักษณ์ทางการแพทย์ที่มาจากงูพันรอบไม้เท้าของเทพแอสคลีพีอัส (Asclepius) นั่นแปลว่างูเองก็มีจุดขายได้หลายแบบเหมือนกัน
สิ่งที่พวกเราทราบกันอยู่แล้วเกี่ยวกับงูคือ งูเป็นสัตว์เลื้อยคลาน มีความสัมพันธ์ทางสายวิวัฒนาการร่วมกับสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่น ๆ ไม่มีขา ไม่มีเปลือกตา ลำตัวยาว มีเกล็ดปกคลุมผิวหนังทั่วทั้งตัว ปลายขากรรไกรล่างด้านซ้ายและขวาไม่ยึดติดกัน กล้ามเนื้อในปากยืด-ขยายได้ โครงกระดูกสันหลังไม่เชื่อมต่อกับช่องท้อง งูจึงอ้าปากได้กว้างกว่าขนาดหัวหลายเท่าตัวและขยายตัวได้ง่ายเมื่อกินเหยื่อขนาดใหญ่กว่าตัวมันเอง
ความเชื่อเรื่องบาปแรกของมนุษย์ เมื่อถูกงูล่อลวงให้ไม่เชื่อฟังพระเจ้าโดยกินผลจาก“ต้นไม้ที่ให้รู้ดีรู้ชั่ว”
เรื่องจริงที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับงู
งูไม่ได้มีแค่ภาพลักษณ์เจ้าเล่ห์ มันยังมีลักษณะและพฤติกรรมแปลก ๆ ที่จะทำให้คุณอึ้ง
งูบางชนิด “คุมกำเนิด” เพื่อรอเวลาที่เหมาะสมได้ โดยงูเพศเมียจะเก็บน้ำเชื้อของงูเพศผู้ไว้เป็นปี ๆ คล้ายกับหญิงสาวที่เก็บเงินรอชอปปิงช่วงลดราคา (นี่น่าจะทำให้มนุษย์หลายคนต้องร้อง “อิจฉาอะ !“)
ปกติคุณจะเห็นงูทำตาแป๋วตลอดเวลา นั่นเป็นเพราะมันไม่มีเปลือกตา แต่มันก็หลับได้นะ (ถ้าต้องโดนคุณแฟนจ้องตาแบบนี้ทั้งวันก็คงทำอะไรไม่ถูกเหมือนกันนะเธอ !)
แม้มีภาพลักษณ์ดุร้าย แต่ในพิธีกรรมเลือกคู่ของงูบางชนิดจะเหมือนกับการดวลมวยปล้ำเลย ตัวผู้สองตัวจะใช้กำลังงัดสู้กันเพื่อหาผู้ชนะโดยไม่มีการฉกกัดกันเลย อารมณ์เหมือนแข่งขันจบ คนก็จบ (ไม่มีไปแอบตีตอนเผลอแบบใครบางคน)
นอกจากที่ยกมา ยังมีเรื่องที่คนเรารู้เกี่ยวกับพวกมันน้อยที่สุดอีกเรื่องก็คือ บทรักพิศวาสอันลึกลับของบรรดางูหรือชาวมะเส็งนั่นเอง
รักวุ่นวายสไตล์งู
งูเป็นสัตว์ที่มีพิธีกรรมการเลือกคู่สุดโรแมนติก (และวุ่นวาย) ปกติแล้วงูมักอาศัยตามลำพัง จะมารวมกันเพื่อเลือกคู่ผสมพันธุ์เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ที่มันต้องวางไข่เท่านั้น โดยเริ่มต้นจากงูเพศเมียที่มีความพร้อมจะตวัดต่อมกลิ่นที่หางเพื่อปล่อยฟีโรโมนหรือกลิ่นรักให้กระจายไปในอากาศ งูเพศผู้ไม่ว่าหนุ่มหรือแก่ที่อยู่ในระยะทำการจะใช้ฟีโรโมนนี้เป็นดังแผนที่ตามหางูเพศเมียตัวนั้น เมื่อพบเจอกันเพศผู้จะเริ่มปฏิบัติการเกี้ยวพาราสีก่อนจะเข้าผสมพันธุ์ งูเพศผู้จะเอาหัวมาถูที่หลังงูเพศเมียแล้วค่อยไล่ถูขึ้นไปทางหัวเรื่อย ๆ หากเพศเมียแสดงอาการพึงพอใจ จึงจะเริ่มใช้อวัยวะเพศหรือน้องชายตัวเองถูบริเวณหลังของงูเพศเมียเพื่อส่งสัญญาณให้ยกหางขึ้นมาเล็กน้อย จากนั้นงูเพศผู้ใช้หางกอดรัดรอบหางของเพศเมีย แล้วบะบะโอบะบะ (ผสมพันธุ์) ปล่อยน้ำเชื้อในตัวงูเพศเมีย เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ ซึ่งบางครั้งอาจนานเป็นชั่วโมงเลยทีเดียว
องคชาตคู่ของงูช่วยเพิ่มโอกาสในการผสมพันธุ์มากขึ้น
ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ได้เน้นศึกษาอวัยวะเพศผู้ หรือ “องคชาตงู” พบว่างูมีองคชาตสองง่าม (hemipenis) อยู่ใต้โคนหาง มีลักษณะยาวเรียว แต่ในเวลาผสมพันธุ์จะใช้เพียงง่ามเดียว (ไม่ได้ใช้คู่กันแบบตะเกียบเวลาคีบอาหารนะ) งูบางชนิดจะมีปุ่มหนามอยู่บนอวัยวะเพศผู้ด้วย ส่วนการที่มันมีองคชาตคู่ ผู้เขียนก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันมีข้างที่ถนัดด้วยหรือเปล่า คงต้องรองานศึกษาในภายหน้าก่อนแล้วค่อยว่ากัน
ฝ่ายงูเพศเมียนั้นแทบไม่มีการศึกษาและงานวิจัยเลย แต่ก็มีผลการวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยแอดิเลด (The University of Adelaide) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the Royal Society B จากตัวอย่างงูอย่างน้อย 9 ชนิด จากงู 4 ตระกูล คือ งูพิษเขี้ยวหน้า (Elapidae) งูเหลือม (Pythonidae) งูพิษเขี้ยวหลัง (Colubridae) และงูแมวเซา (Viperidae) พบว่า งูเพศเมียมีคลิตอริสหรือปุ่มกระสันที่เด่นชัด เรียกว่า เฮมิคลิตอเรส (hemiclitores) โดยปุ่ม 2 ปุ่มนี้ (มองคล้ายรูปหัวใจ) อยู่ใกล้กับต่อมกลิ่นที่ใช้ดึงดูดคู่ผสมพันธุ์ ซ่อนอยู่บริเวณหางส่วนล่าง จึงเชื่อได้ว่างูเพศเมียรับการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศและสุขสมได้เมื่อได้รับการสัมผัสอวัยวะเพศ ซึ่งสิ่งนี้มีความสำคัญต่อความสำเร็จของกระบวนการสืบพันธุ์อย่างมาก เมื่อเทียบกับการศึกษากลไกออกัสซัม (orgasm) ในสัตว์สปีชีส์อื่น เช่น หนู วัว สุนัข ม้า กระต่าย พบว่ากลไกนี้จะทำให้สมองของเพศเมียปล่อยสัญญาณไปยังอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ รวมถึงการส่งเลือดและออกซิเจนไปยังอวัยวะเพศทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น หล่อลื่นมากขึ้น มดลูกยกตัว และช่วยอำนวยความสะดวกแก่ตัวอสุจิอีกด้วย
ถ้าถามว่าแล้วงูเพศผู้ล่ะ พวกมันรู้สึกอย่างไร ผู้เขียนเชื่อว่าก็น่าจะเหมือนกันกับเพศเมีย เหตุเพราะองคชาตและคลิตอริสพัฒนาจากเนื้อเยื่อกลุ่มเดียวกันในระยะเอ็มบริโอ ไม่งั้นเจ้าบ่าวคงไม่เสี่ยงอันตรายเดินทางมาหาสาวเจ้าเป็นแน่แท้
งูผู้ลึกลับกับบทบาทในธรรมชาติ ฮีโรหรือตัวร้าย ?
งูถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกนี้ตั้งแต่ยุคจูราสสิกเมื่อราว 160 ล้านปีที่แล้ว ส่วนมนุษย์วิวัฒนาการตามมาทีหลัง แต่ทุกวันนี้การมีอยู่ของงูในเมืองกลับถูกมองว่าเป็นอันตราย ทั้งที่จริงแล้วงูช่วยเราแบบที่เราไม่รู้ตัว ในฐานะผู้ล่าระดับสูงในห่วงโซ่อาหาร งูช่วยควบคุมประชากรหนูซึ่งเป็นพาหะนำโรค งูบางชนิดไม่มีพิษเลยแต่มักตกเป็นเหยื่อความเข้าใจผิดของมนุษย์ ที่สำคัญงูไทยหลายชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ดังนั้นหากพบงูในบ้าน โปรดอย่าฆ่าหรือทำร้ายมัน รีบโทรศัพท์ไปยังสายด่วน 1677 เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ช่วยจับอย่างปลอดภัยดีที่สุด
ภาพลงสีโบราณแสดงถึงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับงู
สุดท้ายก็ได้แต่หวังว่าในปีมะเส็งนี้จะเป็นปีแห่งโอกาสที่เราจะเปิดใจเรียนรู้และให้โอกาสงูมีชีวิตอยู่มากขึ้น คนกลัวงู งูก็กลัวคนไม่ต่างกัน ต่างคนต่างอยู่ เป็น “เพื่อนร่วมโลก” ที่มีบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ไม่รักไม่ว่าแต่อย่าทำร้ายกันเลย…สาธุ