งูกับวิวัฒนาการที่น่าทึ่งของจีโนมและโครโมโซมเพศ

เรื่องโดย
ดร.วรพงศ์ สิงห์ชาติ ดร.ฐิติพงศ์ พันทุม รศ. ดร.ประทีป ด้วงแค รศ. ดร.ณรงค์ฤทธิ์ เมืองใหม่ และ รศ. ดร.ครศร ศรีกุลนาถ


พุทธศักราช 2568 ซึ่งเป็น “ปีงู” ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เปรียบเสมือนการลอกคราบของงูเพื่อเติบโต เราก็เช่นกัน ควรละทิ้งสิ่งเก่าที่ฉุดรั้งไว้ เพื่อเปิดรับชีวิตใหม่ที่สดใสและแข็งแกร่ง ปีนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตและการค้นพบตัวตนที่ดีกว่าเดิม

สำหรับคนที่เกิดในปีงู จะเห็นได้ว่าพวกเขามีบุคลิกที่เต็มไปด้วยความลึกลับและน่าสนใจ มักเป็นนักคิด นักวางแผนที่วิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างลึกซึ้ง และมักเป็นผู้ที่มีสัญชาตญาณอันเฉียบคม ปรับตัวและหาทางออกจากปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ แม้บางครั้งอาจถูกมองว่าเย็นชา เพราะธรรมชาติที่ชอบเก็บความรู้สึกไว้กับตัวเอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาคือผู้ฟังที่ดีและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์เสมอ

ทำนองเดียวกับกระบวนการวิวัฒนาการของงูซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในกระบวนการพัฒนาของธรรมชาติ โดยการศึกษาวิวัฒนาการของงูไม่เพียงแค่เป็นการเรียนรู้ทางชีววิทยา แต่ยังช่วยเพิ่มความเข้าใจในกลไกของชีวิตที่มีการปรับตัวและการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง งูจึงไม่เพียงเป็นสัตว์เลื้อยคลานแต่ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการที่ต่อเนื่อง พวกมันเป็นโมเดลสำคัญในการศึกษากระบวนการวิวัฒนาการ การปรับตัว และการพัฒนาทางชีวภาพ รวมถึงกระบวนการกำหนดเพศและการเปลี่ยนแปลงของโครโมโซมซึ่งเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการวิวัฒนาการของสัตว์ทุกชนิดที่พัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

วิวัฒนาการและความหลากหลายของงู

ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาการศึกษาวิวัฒนาการของงูมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก มีการศึกษาและการวิเคราะห์ซากดึกดำบรรพ์อย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งซากดึกดำบรรพ์ของ Tetrapodophis amplectus บรรพบุรุษของงูที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขาในยุคครีเทเชียส ซึ่งค้นพบโดย ดร.นิก ลองริช (Dr. Nick Longrich) มหาวิทยาลัยบาท (University of Bath) ประเทศอังกฤษ รวมทั้งการศึกษาฟอสซิลงูดึกดำบรรพ์ เช่น Najash, Eupodophis, Haasiophis และ Pachyrhachis (ประมาณ 90 ล้านปีก่อน) ก็พบว่ายังคงมีขาหลังภายนอกที่เห็นได้ชัด ซึ่งสอดคล้องกับข้อสันนิษฐานที่ว่างูวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลานที่มีลักษณะคล้ายกิ้งก่า หลักฐานฟอสซิลแสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษของงูบางกลุ่ม เช่น งูหลามและงูเหลือม เคยมีขา ซึ่งค่อย ๆ ลดขนาดลงและหายไปผ่านกระบวนการวิวัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ของยีนและการคัดเลือกโดยธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาด้านสรีวิทยาของสัตว์เลื้อยคลานสควอเมต (Squamata) พบว่างูและกิ้งก่ามีความคล้ายคลึงกันของระบบการมองเห็นอีกด้วย หลักฐานทางวิวัฒนาการบ่งชี้ว่าบรรพบุรุษของงูมีระบบการมองเห็นที่พัฒนาน้อยกว่าสัตว์เลื้อยคลานออกหากินเวลากลางวันที่พบในปัจจุบัน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการจากบรรพบุรุษที่อาศัยอยู่ใต้ดิน อย่างไรก็ตามงูยังคงมีโปรตีนออปซิน 3 ชนิดซึ่งมีบทบาทในการมองเห็น ได้แก่ RH1, SWS1 และ LWS รวมถึงเซลล์รับแสงแบบโคนและแท่ง การค้นพบเหล่านี้ช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับวิวัฒนาการของงู


ซากดึกดำบรรพ์ของ Tetrapodophis amplectus เป็นหลักฐานสำคัญของวิวัฒนาการงูที่มีขา ช่วยยืนยันว่างูโบราณเคยมีขาและสูญเสียขาไปในกระบวนการวิวัฒนาการ
ที่มาภาพ : Ghedoghedo – Own work, CC BY-SA 4.0,

งูมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ปัจจุบันมีประมาณ 3,800 ชนิด หรือคิดเป็นร้อยละ 34 ของสัตว์เลื้อยคลาน อาศัยในแหล่งที่อยู่อาศัยหลากหลาย เช่น บนบก ใต้ดิน บนต้นไม้ ในน้ำ งูทุกชนิดเป็นนักล่า (predator) โดยมีกะโหลกและขากรรไกรที่มีความยืดหยุ่นและเคลื่อนที่แยกจากกันได้ ทำให้กลืนเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าพวกมันได้สบาย ๆ


ปัจจุบันมีงูประมาณ 3,800 ชนิด หรือคิดเป็นร้อยละ 34 ของสัตว์เลื้อยคลาน และประมาณร้อยละ 10 ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง (vertebrates)

งูดึกดำบรรพ์หรืองูโลกเก่า (primitive snake) เช่น งูเหลือม (boa), งูหลาม (python), และงูตาบอด (blindsnake) ไม่มีเขี้ยวพิษ ซึ่งแตกต่างจากงูในกลุ่มที่วิวัฒนาการสูงขึ้นหรืองูโลกใหม่ (advanced snake) อย่างงูในวงศ์ใหญ่ Colubroidea ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ของงูที่มีชีวิตในปัจจุบัน และได้พัฒนาเขี้ยวพิษในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ งูพิษเขี้ยวหน้าชนิดเคลื่อนที่ได้ (Viperidae, viper) ซึ่งมีเขี้ยวพิษอยู่ที่กรามบนด้านหน้า เช่น งูแมวเซา งูหางกระดิ่ง, งูพิษเขี้ยวหน้าชนิดตรึงอยู่กับที่ (Elapidae) เช่น งูแมมบา งูเห่า, งูพิษเขี้ยวหลัง (Colubridae) เช่น งูบูมสแลง (boomslang) งูกิ่งไม้ (twig snake)

ดังนั้นแม้งูโลกเก่ากับงูโลกใหม่จะมีความแตกต่างกันในด้านภูมิศาสตร์ วิวัฒนาการ และลักษณะทางพันธุกรรม แต่ทั้งสองกลุ่มยังคงมีจุดร่วมในเชิงกายวิภาคและพฤติกรรมบางประการ เช่น วิธีการล่าเหยื่อและการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมของตนเอง งูโลกเก่า เช่น งูเหลือม (Pythonidae) มักมีขนาดใหญ่ ล่าเหยื่อโดยใช้วิธีรัดเหยื่อจนหมดแรงก่อนกลืนกิน และไม่มีพิษ ขณะที่งูโลกใหม่ เช่น งูอนาคอนดา (Boidae) ซึ่งพบในทวีปอเมริกาใต้ก็ใช้วิธีการล่าแบบเดียวกัน แต่มีการกระจายตัวในเขตโลกใหม่แทน ในทางกลับกันงูพิษในตระกูล Viperidae ซึ่งเป็นงูโลกใหม่ เช่น งูหางกระดิ่ง ได้พัฒนาเขี้ยวพิษที่ฉีดสารพิษได้อย่างทรงพลัง เพิ่มประสิทธิภาพในการล่าและป้องกันตัว ซึ่งสะท้อนถึงแนวทางการปรับตัวที่แตกต่างกันของงูทั้งสองกลุ่ม การเปรียบเทียบวิวัฒนาการของงูโลกเก่ากับงูโลกใหม่จึงช่วยให้เข้าใจถึงกระบวนการปรับตัวของงูในแต่ละภูมิภาค และแสดงให้เห็นถึงพลวัตของวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานนี้

การจำแนกงูในประเทศไทย

จากการรวบรวมข้อมูลวิจัยของสถานเสาวภา สภากาชาดไทย พบว่า ประเทศไทยมีงู 191 ชนิด แบ่งเป็น 11 วงศ์ ได้แก่ (1) งูดิน (2) งูก้นขบ (3)  งูแสงอาทิตย์ (4) งูเหลือมและงูหลาม (5) งูงวงช้างและงูผ้าขี้ริ้ว (6) งูพง งูลายสาบ งูทางมะพร้าวแดง (7) งูพิษรุนแรงที่ทำลายระบบประสาท เช่น งูเห่า งูสามเหลี่ยม งูจงอาง (8) งูหมอก ซึ่งเป็นชนิดเดียวในวงศ์นี้ (9) งูพิษรุนแรงที่ทำลายระบบโลหิต เช่น งูแมวเซา งูกะปะ (10) งูที่มีทั้งพิษอ่อนและไม่มีพิษ เช่น งูเปรี้ยว งูไช และ (11) งูกินทาก

ในเชิงวิวัฒนาการ งูดินอยู่ในกลุ่มงูโบราณ Scolecophidia ส่วนงูส่วนใหญ่ เช่น งูหลาม งูเห่า งูจงอาง อยู่ในกลุ่ม Alethinophidia โดยงูหลามและงูบอถือเป็นบรรพบุรุษของงูชนิดอื่น และมีงูงวงช้างเป็นตัวกลางก่อนวิวัฒนาการไปเป็นงูในกลุ่ม Colubridae, Elapidae และ Viperidae ซึ่งมักเป็นงูพิษ เช่น งูเห่า งูเขียวหางไหม้

งูและองค์ความรู้ทางพันธุศาสตร์

งูส่วนใหญ่มีโครโมโซม 36 แท่ง (2n=36) โดยประกอบด้วย โครโมโซมขนาดเล็ก (microchromosome) 20 แท่ง ซึ่งไม่สามารถระบุรูปร่างและตำแหน่งของเซนโทรเมียร์ได้ และโครโมโซมขนาดใหญ่ (macrochromosome) 16 แท่ง หรือ 8 คู่

สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ว่างูส่วนใหญ่จะมีโครโมโซม 36 แท่ง แต่ช่วงของจำนวนโครโมโซมในงูอยู่ระหว่าง 24-50 แท่ง โดยมีโครโมโซมขนาดใหญ่ 10-38 แท่ง และโครโมโซมขนาดเล็ก 0-36 แท่ง ขนาดจีโนมอยู่ในช่วง 1.3-3.7 Gb (พันล้านคู่เบส) งูส่วนใหญ่มีระบบโครโมโซมเพศแบบ ZZ/ZW โดยโครโมโซม Z มีขนาดใหญ่และรูปร่างเป็นเมทาเซนทริก ส่วนโครโมโซม W อาจเป็นเมทาเซนทริกหรือซับเมทาเซนทริกขึ้นอยู่กับชนิดของงู แต่มีข้อยกเว้นในงูบอ Boa imperator, งูหลาม Python bivittatus และงูหลามบอล (P. Regius) ซึ่งเป็นงูดึกดำบรรพ์ที่มีระบบโครโมโซมเพศแบบ XX/XY

ด้วยความหลากหลายของจำนวนโครโมโซม ขนาดจีโนม และระบบโครโมโซมเพศ งูจึงเป็นโมเดลสำคัญในการศึกษาวิวัฒนาการของจีโนมและโครโมโซม รวมถึงกลไกการกำหนดเพศในสัตว์เลื้อยคลาน


งูส่วนใหญ่มีโครโมโซม 36 แท่ง (2n=36) แบ่งเป็นโครโมโซมขนาดเล็ก 20 แท่ง และโครโมโซมขนาดใหญ่ 16 แท่ง (8 คู่)

ย้อนกลับไปราวยี่สิบกว่าปีก่อน มีงานวิจัยที่บอกว่าโครโมโซมของงูแรตสเนก Elaphe quadrivirgata มีกลุ่มลิงเกจ (linkage group) ของยีนบางกลุ่มที่คล้ายกับโครโมโซมคู่ที่ 2 และ 27 ของไก่ นอกจากนี้ยังพบแผนที่โครโมโซมเพศของงู 3 ชนิด ได้แก่ งูหลาม Python molurus, งูแรตสเนก Elaphe quadrivirgata และงูเขียวหางไหม้ (Trimeresurus flavoviridis) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญต่อการศึกษาการกลายของยีนบนโครโมโซม และช่วยพัฒนาเครื่องหมายดีเอ็นเอเพื่อใช้ศึกษาความแตกต่างระหว่างเพศ

จากการศึกษาพบว่ามีความแปรผันของลำดับนิวคลีโอไทด์ในยีน CTNNB1 ซึ่งตั้งอยู่บนโครโมโซมเพศของงู ขนาดของยีนนี้ (จำนวนลำดับนิวคลีโอไทด์) แตกต่างกันในงูแต่ละชนิด โดยส่วนที่มีความผันแปรมากที่สุดคืออินทรอน (intron) สอดคล้องกับการศึกษาของ ดร.นรารัตน์ เหล่าพิเชียรพงษ์ และทีมวิจัยที่พบความแตกต่างของขนาดอินทรอนที่ตำแหน่งเดียวกันระหว่างโครโมโซม Z กับ W จากการศึกษางูมากกว่า 10 ชนิด ดังนั้นการศึกษายีนจากตำแหน่งอื่น ๆ อาจพบความแตกต่างของขนาดยีนเดียวกันที่อยู่บนโครโมโซมเพศต่างกัน ซึ่งอาจนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องหมายในการตรวจสอบเพศงูได้ในอนาคต


แผนที่เปรียบเทียบโครโมโซม Z กับ W ของงูหลาม (Python molurus), งู rat snake (Elaphe quadrivirgata) และงูเขียวหางไหม้ (Trimeresurus flavoviridis) ดัดแปลงจาก Matsubara et al. (2006)

การพัฒนาเครื่องหมายดีเอ็นเอเพื่อแยกเพศ (molecular sexing DNA marker) ใช้ลำดับนิวคลีโอไทด์ในดีเอ็นเอที่มีความแปรผันทั้งขนาดและรูปแบบเพื่อแยกเพศให้ชัดเจน เช่นเดียวกับการพัฒนาเครื่องหมายดีเอ็นเอในนกที่ใช้ข้อมูลจากระบบโครโมโซมเพศ ZW โดยพบความแตกต่างของขนาดอินทรอนในยีน CHD1 ที่อยู่บนโครโมโซม Z และ W คือ อินทรอนบนโครโมโซม W จะสั้นกว่าบนโครโมโซม Z ทำให้พัฒนาเครื่องหมายดีเอ็นเอเพื่อตรวจสอบขนาดอินทรอนและแยกเพศนกได้ ซึ่งหลักการนี้นำมาประยุกต์ใช้พัฒนาเครื่องหมายดีเอ็นเอแยกเพศในงูที่มีระบบโครโมโซมเพศแบบ ZW ได้

วิวัฒนาการของโครโมโซมเพศงู

ตามที่ได้กล่าวไปว่างูเป็นโมเดลสำคัญในการศึกษาวิวัฒนาการของจีโนมและโครโมโซม รวมถึงกลไกการกำหนดเพศในสัตว์เลื้อยคลาน โดยโมเดลวิวัฒนาการของโครโมโซมเพศ ZW เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงของลำดับนิวคลีโอไทด์ก่อนที่จะเกิดการคัดเลือกบริเวณนั้น ทำให้คู่โครโมโซมของบรรพบุรุษเกิดการกลายพันธุ์จนกลายเป็นบริเวณกำหนดเพศ (sex determination region) และเปลี่ยนแปลงเป็นโครโมโซมเพศชนิดโปรโต (homomorphic proto-sex chromosomes) เมื่อเกิดความแตกต่างทางโครงสร้าง จึงส่งผลให้เกิดโครโมโซมโปรโต-W (proto-W chromosome) พร้อมยับยั้งการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนบนโครโมโซมที่เป็นคู่กัน และเพิ่มลำดับนิวคลีโอไทด์ในส่วนนี้เพื่อส่งเสริมการปรับตัวและความสามารถในการอยู่รอดของงูเพศเมีย (ZW)

จากนั้นโครโมโซมโปรโต-W จะเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง เช่น การจัดเรียงใหม่ การเสื่อมสลายของยีน การสะสมดีเอ็นเอชุดซ้ำ การเปลี่ยนแปลงเป็นเฮเทอโรโครมาติน (heterochromatinization) จนกลายเป็นระบบโครโมโซม ZW ใหม่ที่แตกต่างกัน

โครโมโซมเพศงูและสมมติฐานการเกิด Super Sex Chromosome

การศึกษาแผนที่โครโมโซมของงูเห่าไทย (2n=38) ด้วยวิธี fluorescent in situ hybridization (FISH) พบว่าโครโมโซมคู่ที่ 2 ของงูเห่าไทยและโครโมโซม Z ของไก่มีความสัมพันธ์กันในลำดับนิวคลีโอไทด์ และพบว่าโครโมโซม Z และ W ของงูเห่าไทยเชื่อมโยงกับโครโมโซมเพศในสัตว์กลุ่มแอมนิโอต (amniote) ซึ่งสนับสนุนสมมติฐานการเกิดทฤษฎี Super Sex Chromosome” ที่อธิบายการเกิดโครโมโซมเพศในสัตว์มีกระดูกสันหลัง โดยโครโมโซมเพศของสัตว์หลายกลุ่มมียีนที่สัมพันธ์กันและเชื่อมโยงเป็นโครโมโซมเพศขนาดใหญ่ในบรรพบุรุษร่วม ก่อนจะแยกแตกออกมาเป็นโครโมโซมเพศในสัตว์กลุ่มต่าง ๆ


การศึกษาตำแหน่งบนโครโมโซมด้วยเทคนิค fluorescence in situ hybridization (FISH) ได้แสดงความเชื่อมโยงระหว่างโครโมโซม Z และ W ในงูเห่าไทย (Naja kaouthia), งูแมวเซา (Daboia russelii), และ common tiger snake (Notechis scutatus) กับโครโมโซมเพศในสัตว์กลุ่มแอมนิโอต ซึ่งสนับสนุนสมมติฐานการเกิด super sex chromosome

การเคลื่อนย้ายตำแหน่งและการเพิ่มจำนวนชุดของชิ้นส่วนพันธุกรรมที่เคลื่อนที่ได้ (transposable elements: TEs) ในจีโนมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและการจัดเรียงโครงสร้างจีโนมผ่านกระบวนการที่โครโมโซมแลกเปลี่ยนข้อมูลพันธุกรรมระหว่างกัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโครโมโซมคู่เหมือนที่มีลำดับนิวคลีโอไทด์เหมือนกัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของจีโนมหรือสร้างโครโมโซมใหม่ (non-homologous recombination) และเหตุการณ์ที่โครโมโซมเดียวแยกออกเป็นหลายส่วนและกลายเป็นโครโมโซมใหม่ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างวิวัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนโครโมโซมในสิ่งมีชีวิต (multiple chromosomal fission) เกิดวิวัฒนาการของโครโมโซมเพศ X และ Y หรือ Z และ W ในสัตว์กลุ่มแอมนิโอตชนิดต่าง ๆ เช่น ไก่ มนุษย์ แทมมาร์วัลลาบี งู เต่า กิ้งก่า

ประโยชน์ของการค้นพบเครื่องหมายดีเอ็นเอเพื่อระบุเพศในงู

การตรวจสอบเพศงูแบบดั้งเดิมแบ่งออกได้เป็น 2 วิธีหลัก คือ

การสังเกตลักษณะทางกายภาพ ทำได้โดยการตรวจสอบลักษณะของหางของงูเพศผู้ที่มักมีโคนหางอวบอูมและนิ่มเนื่องจากภายในเก็บอวัยวะสืบพันธุ์ (hemipenis) ส่วนหางของงูเพศเมียจะเรียวเล็กลงไปจนถึงปลายหาง และไม่พบรอยคอดที่ชัดเจนบริเวณโคนหาง อีกทั้งเมื่อกดใต้โคนหางที่เรียบแบนจะไม่รู้สึกนิ่ม อย่างไรก็ตามวิธีนี้ไม่สามารถแยกเพศได้ชัดเจนในงูบางชนิด เช่น งูเขียว งูเห่า งูจงอาง

การใช้โพรบ (probe) ซึ่งเป็นแท่งโลหะที่มีลักษณะตรง สอดเข้าไปในรูทวารบริเวณหาง เฉียงไปทางซ้ายหรือขวา ถ้าโพรบสอดเข้าไปได้ประมาณ 7 แผ่นเกล็ดใต้ท้องจะสันนิษฐานว่าเป็นเพศผู้ แต่ถ้าเข้าไปได้สั้นกว่านั้นสันนิษฐานว่าเป็นเพศเมีย นอกจากนี้ยังใช้เข็มฉีดน้ำเกลือสะอาดเพื่อดันอวัยวะสืบพันธุ์ของงูเพศผู้ให้โผล่ออกมา หากมีถุงโผล่ออกมาแสดงว่าเป็นเพศผู้ ถ้าไม่มีถุงแสดงว่าเป็นเพศเมีย วิธีเหล่านี้ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบเพศงูแต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดในบางกรณี


การตรวจสอบเพศงู ก) การใช้โพรบ (probe) เพื่อระบุเพศงู โดยใช้เทคนิคทางพันธุกรรมเพื่อตรวจสอบลำดับดีเอ็นเอที่เกี่ยวข้องกับเพศ ข) การใช้เข็มฉีดยาใส่น้ำฉีดเพื่อดูอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ ดัดแปลงจาก ปิยวรรณ (2540)

เทคนิคทั้งสองวิธีนี้ยังไม่สามารถแสดงผลได้ชัดเจนเที่ยงตรงและใช้เป็นหลักฐานทางเอกสารในการบ่งชี้เพศได้ นอกจากนี้หากผู้ปฏิบัติงานไม่มีความชำนาญเพียงพออาจทำให้งูได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถผสมพันธุ์หรืออาจเสียชีวิต ซึ่งการเพาะเลี้ยงงูในเชิงพาณิชย์นั้นนับว่าเป็นการสูญเสียมูลค่าของงูพ่อแม่พันธุ์และค่าใช้จ่ายระหว่างเพาะเลี้ยงงูเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้การพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องหมายดีเอ็นเอแยกเพศซึ่งเป็นวิธีการตรวจสอบเพศของงูแต่ละชนิดได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วขึ้นมา จึงช่วยให้ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงงูจับคู่พ่อแม่พันธุ์ได้อย่างถูกต้อง ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพในการขายลูกงูที่ตรวจสอบเพศได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยจัดการการผสมพันธุ์และจัดการตัวอย่างงูทั้งในสวนงูและสวนสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

วิวัฒนาการของงูแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพและกระบวนการสูญเสียขาในสัตว์เลื้อยคลาน มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และเป็นโมเดลสำคัญในการศึกษาวิวัฒนาการของจีโนม รวมถึงกลไกการกำหนดเพศ ซึ่งการศึกษากลไกการกำหนดเพศและวิวัฒนาการของโครโมโซมเพศในงูยังสนับสนุนทฤษฎี “Super Sex Chromosome” ที่อธิบายการเกิดโครโมโซมเพศในสัตว์มีกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของลำดับนิวคลีโอไทด์ที่ทำให้เกิดการกำหนดเพศในงูและส่งผลต่อวิวัฒนาการของระบบการกำหนดเพศในสัตว์กลุ่มอื่น ๆ การศึกษาเหล่านี้ได้สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องหมายดีเอ็นเอแยกเพศที่ตรวจสอบเพศของงูแต่ละชนิดได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว และยังนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้อีกหลายทาง


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • ปิยวรรณ นิยมวัน. (2540). สัตว์เลื้อยคลานจำพวกงูในประเทศไทย (The Snake in Thailand). ปัญหาพิเศษ, ภาควิชาชีววิทยา, คณะวิทยาศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 136 หน้า.
  • สุมณฑา ม. (2557). มาหัดจำแนกเพศงูทั่วไปจากลักษณะของหางกันเถอะ. แหล่งที่มา: https://www.siamensis.org/webboard/topic/39818, 20 ก.พ. 2559.
  • สถานเสาวภา สภากาชาดไทย. (2550). สวนงู สถานเสาวภา สภากาชาดไทย. สถานเสาวภา, สภากาชาดไทย, กรุงเทพฯ.
  • Martill, D. M. et al. (2015). Science.
  • Gower, D. J. & David, H. Z. (2022). Systematics Association Special Volume Series.
  • Matsubara, K. et al. (2006). Proceedings of the National Academy of Sciences, USA.
  • Matsubara, K. et al. (2012). BMC Genomics.
  • Laopichienpong, N. et al. (2017). Journal of Heredity.
  • Gamble, T. et al. (2017). Current Biology. https://doi.org/10.1016/j.cub.2017.06.010
  • Ahmad, S. F. et al. (2020). Genes. https://doi.org/10.3390/genes11070827
  • Singchat, W. et al. (2020). Cells. https://doi.org/10.3390/cells9112386
  • Singchat, W. et al. (2020). Frontiers in Genetics. https://doi.org/10.3389/fgene.2020.00948
  • Singchat, W. et al. (2018). BMC Genomics. https://doi.org/10.1186/s12864-018-5293-6

About Author