เรื่องโดย
วัชราภรณ์ สนทนา
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ปะการังอ่อน (Soft Coral) ถือเป็นปะการังที่มีความสวยงามและดึงดูดใจแก่นักดำน้ำชาวไทยและทั่วโลกอย่างมาก เพราะปะการังอ่อนแต่ละชนิดมีหลากสีสันจนได้รับสมญาว่าปะการังเจ็ดสี เช่น สีแดงสด ม่วง ชมพู เหลือง อีกทั้งยังมีรูปทรงสวยงามคล้ายกับต้นไม้หรือดอกไม้ที่พลิ้วไหวไปตามกระแสน้ำในท้องทะเล เนื่องจากไม่มีโครงสร้างหินปูนภายในดังเช่นปะการังแข็ง ทว่าทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ความแปรปรวนภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน และการคุมคามจากมนุษย์ด้วยการลักลอบจับมาเพื่อจำหน่ายให้กับธุรกิจปลาตู้ทะเล ส่งผลให้จำนวนของปะการังอ่อนลดน้อยลงทุกทีจนอยู่ในภาวะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์
สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) วิจัยพัฒนา ‘เทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ และเลี้ยงปะการังอ่อน’ เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังเสื่อมโทรมในประเทศไทย รวมทั้งมุ่งหวังพัฒนาเป็นสัตว์น้ำทะเลเศรษฐกิจประเภทสวยงามชนิดใหม่สำหรับธุรกิจปลาตู้น้ำเค็มที่ถูกต้องตามกฏหมายทั้งการจำหน่ายภายในและต่างประเทศ
ผศ.ดร.นิลนาจ ชัยธนาวิสุทธิ์ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของปะการังอ่อนมีความเสี่ยงอย่างมาก หากไม่ทำอะไรเลย แนวโน้มที่ปะการังอ่อนจะสูญพันธุ์ก็ใกล้เข้ามาทุกที สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือจะป้องกันปะการังอ่อนไม่ให้สูญหายจากโลกใบนี้ไปได้อย่างไร ซึ่งถ้าเพาะขยายพันธุ์ปะการังอ่อนได้ จะช่วยให้มีพันธุ์ปะการังอ่อนและขยายพันธุ์คืนสู่ธรรมชาติได้
“ขณะนี้ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ปะการังอ่อน 3 ชนิด คือ ปะการังอ่อนหนังดอกเห็ด ปะการังอ่อนนิ้วมือ และปะการังอ่อนนิ้วมือสีดำ ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ โดย การเพาะขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ ได้นำพ่อแม่พันธุ์ปะการังอ่อนจากทะเลมาทำการเพาะเลี้ยงในบ่อ และกระตุ้นให้มีการปล่อยไข่และสเปิร์มเพื่อนำมาผสมพันธุ์ จากนั้นเพาะเลี้ยงอนุบาลจนเป็นตัวอ่อนและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็พบว่าปะการังอ่อนทั้ง 3 ชนิด เจริญเติบโตได้อย่างดี
สำหรับ การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศด้วยการแตกหน่อ ทีมวิจัยได้ใช้เทคนิคพิเศษในการตัดเนื้อเยื่อจากพ่อแม่พันธุ์ชิ้นเล็กที่สุดเพียง 0.5 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อพ่อแม่พันธุ์ แล้วนำชิ้นเนื้อมาเลี้ยงในบ่อ เป็นการเลี้ยงในลักษณะของฟาร์มบนบกที่มีการควบคุมปัจจัยสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ชิ้นเนื้อปะการังอ่อนขนาด 0.5 เซนติเมตร สามารถเติบโตจนมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-5 เซนติเมตรภายใน 1 ปี
ทั้งนี้ปะการังอ่อนจะเจริญเติบโตได้เร็วกว่าปะการังแข็ง เพราะว่าไม่ต้องสร้างโครงสร้างหินปูนภายใน ถือเป็นความสำเร็จของทีมวิจัยที่พัฒนาเทคนิคการตัดชิ้นเนื้อปะการังอ่อนมาเพาะเลี้ยงต่อได้โดยที่พ่อแม่พันธุ์ไม่ตาย ที่สำคัญคือเมื่อชิ้นเนื้อส่วนที่ถูกตัดไปของปะการังอ่อนพ่อแม่พันธุ์โตขึ้นมาใหม่ก็สามารถตัดเพื่อนำไปเพาะขยายพันธุ์ได้อีก”
ความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ปะการังอ่อนครั้งนี้ นับเป็นทางออกและทางรอดในภาวะวิกฤตปะการังอ่อนใกล้สูญพันธุ์ อีกทั้งยังนำไปใช้พัฒนาฟื้นฟูแนวปะการังที่เสื่อมโทรม
ผศ.ดร.นิลนาจ กล่าวว่าตอนนี้ทีมวิจัยกำลังศึกษาเพิ่มเติมถึงขนาดของปะการังอ่อนที่แข็งแรงและเหมาะสมที่จะนำไปปลูกในทะเล รวมถึงการหาวิธีบรรจุและขนส่งที่จะทำให้ปะการังอ่อนอยู่รอดและปลอดภัย ขณะเดียวกันทาง สวทช. ยังได้สนับสนุนให้มีการสำรวจแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำสำคัญทั่วประเทศ เพื่อดูว่าพื้นที่ใดที่มีปะการังอ่อนลดน้อยลงมาก สำหรับนำปะการังอ่อนที่เพาะเลี้ยงได้ไปทดลองปลูกทดแทน
“เบื้องต้นทีมวิจัยมีแผนทดลองปลูกปะการังอ่อนที่เกาะมุกด์ จังหวัดตรัง ซึ่งต้องมีการศึกษา ติดตามอัตราการรอดและการเติบโตในทะเลอย่างน้อย 2 ปี หากปะการังอ่อนอยู่รอดและเติบโตได้สำเร็จ จะเป็นความหวังในการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำอื่นๆ ของประเทศไทย รวมทั้งยังสามารถนำไปใช้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ในรูปแบบของกองหินปะการังอ่อน เช่น ทำเป็นกองหินเทียมบนพื้นทะเล แล้วนำปะการังอ่อนที่เพาะพันธุ์ได้ไปวางไว้ให้เติบโตตามธรรมชาติ จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลได้ทางหนึ่ง และเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศใต้ทะเลด้วย”
นอกจากการฟื้นฟูแนวปะการังและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแล้ว การทำฟาร์มเพาะขยายพันธุ์ปะการังอ่อนทั้งบนบกและในทะเลยังเป็นความหวังในการสร้างอาชีพและธุรกิจสัตว์น้ำเศรษฐกิจประเภทสวยงามชนิดใหม่ในประเทศไทยสำหรับธุรกิจปลาตู้น้ำเค็มที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ผศ.ดร.นิลนาจ กล่าวว่าตอนนี้การพัฒนาในเชิงการค้า เราสามารถขยายพันธุ์ปะการังอ่อนโดยไม่อาศัยเพศได้แล้วในปริมาณมาก ขั้นตอนต่อไปคือการขออนุญาตกับทางกรมประมงให้สามารถเพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่ายได้เช่นเดียวกับปลาการ์ตูน เนื่องจากปะการังอ่อนทุกชนิดเป็นสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
แต่ในส่วนของงานวิจัยขณะนี้เราทำก้าวหน้าไปมากทั้งการศึกษาเรื่องโรค การทดลองจับคู่เลี้ยงปะการังอ่อนกับสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ เช่น ปลาการ์ตูน ปลาผีเสื้อ เพื่อดูว่าสามารถอยู่อาศัยกับสัตว์ทะเลชนิดใดได้บ้าง โดยไม่เป็นอันตรายต่อกัน
“นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาวิจัยเรื่องการฝังไมโครชิพในปะการังอ่อน ที่ทางสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำเพาะขยายพันธุ์ได้เพื่อใช้ในการติดตามตรวจสอบย้อนกลับ ในกรณีที่สามารถจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ โดยเมื่อทางเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ มาตรวจสอบ สามารถสแกนได้เลยจะมีตัวเลขหรือรหัสที่บอกว่า เป็นปะการังอ่อนที่ผลิตจากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ วัน เดือน ปี ที่เท่าใด เป็นการทำระบบตรวจสอบรอบรับ เพื่อป้องกันการสวมรอยของปะการังอ่อนที่ลักลอบจับมาจากทะเล ขณะเดียวกันการมีระบบและหลักฐานที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้ซื้อก็มั่นใจว่าเลี้ยงได้อย่างถูกกฎหมาย”
อย่างไรก็ดีปะการังอ่อนไม่ได้มีประโยชน์เพียงในเรื่องความสวยงาม สร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศใต้ทะเลเท่านั้น แต่ยังมีรายงานการวิจัยพบว่า ปะการังอ่อนมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ความก้าวหน้าในการพัฒนาฟาร์มเพาะขยายพันธุ์ปะการังอ่อน จึงไม่ได้มีคุณค่าเพียงการฟื้นฟู และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่กับโลกใบนี้ไว้ แต่ยังเป็นโอกาสในการสร้างอาชีพ ธุรกิจ รวมถึงการพัฒนายารักษาโรคใหม่ๆ ได้ในอนาคต