ปลาซิวสมพงษ์ 1 ใน 3 ปลาไทยที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤตติดอันดับโลก

เรื่องโดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์


          ปลาซิวสมพงษ์ (Somphongs’s Rasbora) Trigonostigma somphongsi (Meinken, 1958) ปลาเล็กที่เป็นเรื่องใหญ่ มีสถานภาพในบัญชีแดงไอยูซีเอ็น/ไทย “ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR)” เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิต 100 ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ที่สุดของโลกจากการระบุของ Zoological Society of London (Baillie & Butcher, 2012) นอกจากปลาซิวสมพงษ์แล้ว ในลิสต์นั้นมีปลาอีก 2 ชนิดที่เป็นปลาไทย คือ ปลาฉนากและปลาเทพา

          ชื่อของปลาซิวสมพงษ์ ได้รับการตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่คุณสมพงษ์ เล็กอารีย์ ผู้ส่งตัวอย่างปลานี้ไปยังประเทศเยอรมนี เมื่อราวปี พ.ศ. 2500

          ปลาชนิดนี้โดยเฉลี่ยมีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 15.5 มิลลิเมตร มีลักษณะที่เด่นชัดระหว่างเพศผู้กับเพศเมีย เพศผู้ลักษณะรูปร่างเรียวยาวและมีขนาดเล็กกว่าปลาเพศเมีย บริเวณลำตัวสีส้มแดง ลายข้างลำตัวเป็นเส้นดำที่ครึ่งหลังของแนวกลาง เพศเมียรูปร่างป้อมกว่า มีสีเหลือง ปลาเพศเมียที่โตเต็มวัยจะมีขนาดใหญ่กว่าปลาเพศผู้อย่างเห็นได้ชัด และจะชัดเจนมากขึ้นในช่วงที่ปลาพร้อมจะผสมพันธุ์หรือพร้อมวางไข่ โดยลำตัวจะออกเป็นสีเหลืองทอง มีส่วนท้องที่อ้วนกว่า ปลาซิวสมพงษ์ในที่เลี้ยงจะพร้อมสมบูรณ์เพื่อวางไข่เมื่อมีอายุประมาณหนึ่งปี

          ในธรรมชาติจะกินอาหารจำพวกแพลงก์ตอนสัตว์และอินทรียสารแขวนลอย แม่ปลาวางไข่ครั้งละประมาณ 8-10 ฟอง โดยแปะติดใต้ใบของพืชน้ำ ไข่จะฟักภายใน 30 ชั่วโมง เป็นปลาที่รักสงบ ไม่รังแกปลาชนิดอื่น ในที่เลี้ยงจะรวมฝูงกันหลวม ๆ สามารถอาศัยอยู่ร่วมกับปลาขนาดเล็กชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ก้าวร้าวได้ดี

          ในการทดลองเพาะพันธุ์โดย นณณ์ ผาณิตวงศ์ พบว่า ปลานี้มีพฤติกรรมการผสมพันธุ์แตกต่างไปจากปลาซิวข้างขวานสกุล Trigonostigma ชนิดอื่น ๆ ซึ่งมักวางไข่กระจายทีละมาก ๆ แต่สกุลนี้จะจับคู่วางไข่ใต้วัสดุใต้น้ำ โดยเฉพาะตามใต้ใบพืชน้ำต่าง ๆ พ่อแม่ปลาจับคู่กันวางไข่ทีละฟอง โดยในอาทิตย์หนึ่งอาจวางไข่ได้ 10-20 ฟอง หลังจากนั้นต้องแยกพ่อแม่ปลาออกจากตู้เพาะ ลูกปลาฟักเป็นตัวภายใน 24-30 ชั่วโมง ลูกปลาแรกเกิดจะเกาะติดอยู่กับวัสดุใต้น้ำในแนวตั้ง เริ่มว่ายน้ำขนานกับผิวน้ำเมื่ออายุประมาณ 2-3 วัน เริ่มกินอาหารมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น พารามีเซียม ลูกไรน้ำจืด ในที่เลี้ยงสามารถกระตุ้นให้พ่อแม่พันธุ์วางไข่ได้โดยการเลียนแบบธรรมชาติให้คล้ายกับฝนตก เช่น การเปลี่ยนน้ำที่มีความกระด้างน้อย มีความเป็นกรดอ่อน ๆ และมีอุณหภูมิต่ำกว่าน้ำที่เลี้ยงโดยปกติ

          เคยมีรายงานพบปลาซิวสมพงษ์ในธรรมชาติครั้งแรกที่ลุ่มน้ำหลากของกรุงเทพมหานครตอนเหนือ (คลองจั่น) ลุ่มน้ำแม่กลอง แถบจังหวัดราชบุรี และน่าจะเคยมีพบในพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นหนองบึงที่มีพรรณไม้น้ำหนาแน่นที่อื่น ๆ ของภาคกลางตอนล่าง ครั้งหนึ่งเคยเชื่อว่าสูญพันธุ์แล้วในธรรมชาติ แต่ยังมีในที่เลี้ยงของเอกชนในต่างประเทศ ส่วนรายงานการพบใหม่จากจังหวัดนครนายกและปราจีนบุรี (Petsut et al, 2014; นณณ์ ผาณิตวงศ์ (ติดต่อส่วนตัว)) พบว่าขนาดของประชากรจากแหล่งอาศัยเดิมลดลงมากกว่าร้อยละ 95 จึงถูกประเมินเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤต

          ปลาซิวสมพงษ์มีถิ่นอาศัยที่เฉพาะตัว อาศัยหนองบึงในที่ราบต่ำที่มีพรรณไม้น้ำหนาแน่น มีการเคลื่อนย้ายขึ้นมาวางไข่ในทุ่งน้ำหลากตอนปลายฤดูฝน ประมาณเดือนกันยายน โดยจับคู่วางไข่ติดกับใต้ใบของพรรณไม้น้ำในจำนวนไม่มากนัก เคยพบปะปนกับปลาซิวชนิดต่าง ๆ ที่มาจากภาคกลางในตลาดปลาสวยงามเมื่อ 20-30 ปีก่อน แล้วไม่พบอีกเลยเป็นเวลานานมาก กระทั่งตอนกลางปี พ.ศ. 2554 สำรวจพบประชากรขนาดใหญ่ที่ลุ่มน้ำบางปะกง และผลการสำรวจในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมานี้ พบอยู่ในพื้นที่บางส่วนของคลองชลประทานในฤดูแล้ง

          ทุกวันนี้ข้อมูลทางชีววิทยาในธรรมชาติของปลาชนิดนี้ยังมีอยู่น้อย พื้นที่ที่มีประชากรปลาซิวสมพงษ์และมีศักยภาพเชิงอนุรักษ์ คือ พื้นที่ชุ่มน้ำรอบ ๆ ทุ่งเหยี่ยวท่าเรือ-ปากพลี อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก และพื้นที่ในศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี

           เนื่องจากการใช้ประโยชน์และมูลค่าทางการค้าของปลาซิวสมพงษ์ยังพบเห็นน้อยในตลาดปลาสวยงามของประเทศไทย มักถูกจับปนกับปลาสวยงามขนาดเล็กชนิดอื่น ๆ มากกว่า ไม่เหมือนที่ประเทศอินโดนีเซียที่มีการเพาะเป็นการค้าโดยฟาร์มปลาสวยงาม ดังนั้นปัจจัยคุกคามหลักที่ทำให้ประชากรปลาซิวสมพงษ์สูญพันธุ์ไปจากหลายแหล่งที่เคยพบ คือ การสูญเสียถิ่นอาศัย เนื่องมาจากมลภาวะจากชุมชนและการเกษตร การขยายตัวของการทำนาแบบอุตสาหกรรมที่ใช้สารเคมี และการเปลี่ยนพื้นที่เป็นชุมชน

          การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ที่ควรทำเพื่อรักษาปลาซิวสมพงษ์ฝูงสุดท้ายไม่ให้สูญพันธุ์ไป  คือ 1) ประเมินทางเศรษฐสังคมของพื้นที่ที่พบ เพื่อหาศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เกษตรอินทรีย์ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 2) สำรวจประชากรและการกระจายพันธุ์ของปลา (Extent of Occurrence: EOO, Area of Occupancy: AOO) ความชุกชุมและความหลากชนิดของสัตว์และพืชน้ำในถิ่นอาศัยและสภาพของนิเวศ รวมถึงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ที่พบ 3) ประเมินนิเวศบริการและเศรษฐนิเวศของพื้นที่ที่พบ 4) ส่งเสริมการจัดตั้งเป็นพื้นที่ที่มีการจัดการอย่างมีส่วนร่วม และ 5) สิ่งที่ควรทำในอนาคตคือ วิจัยและพัฒนาการเพาะขยายพันธุ์นอกถิ่นอาศัยหรือในถิ่นอาศัยที่ปรับปรุงและฟื้นฟูเพิ่มเติมขึ้นมา


  • ขอขอบคุณโครงการ “การสำรวจแบบมีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ในประเทศไทย” โดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในการสำรวจปลาซิวสมพงษ์ฝูงสุดท้ายของโลก ร่วมกับชาวตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก, สมาคมเซฟไวล์ดไลฟ์ ไทยแลนด์, คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี, และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • สนับสนุนการสำรวจโดย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และ Critical Ecosystem Partnership Fund (CEPF)

About Author