“ขยะ” ไม่ได้เป็นปัญหาแค่บนโลกเท่านั้น แต่ตอนนี้ยังลุกลามไปถึงนอกโลกแล้ว หรือที่เราเรียกว่า “ขยะอวกาศ” (space debris) ซึ่งเป็นเศษซากจากวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้ในกิจกรรมอวกาศและถูกทิ้งไว้ในวงโคจรรอบโลกหลังหมดอายุการใช้งาน เมื่อมีปริมาณสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขยะอวกาศเหล่านี้กลับกลายเป็นภัยคุกคามที่อาจสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อภารกิจสำรวจอวกาศและโลกของเราในอนาคต
“ขยะอวกาศ” ปัญหาใหญ่ของนานาชาติ
ปัจจุบันมีขยะอวกาศหลายล้านชิ้นโคจรรอบโลก ตั้งแต่ชิ้นส่วนขนาดใหญ่ เช่น ดาวเทียมที่หมดอายุการใช้งาน ไปจนถึงชิ้นส่วนเล็ก ๆ เช่น เศษสีที่หลุดลอกจากจรวด ขยะเหล่านี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมาก จึงอาจสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อดาวเทียมที่ใช้งานอยู่ได้ นอกจากนี้การชนกันของขยะอวกาศยังทำให้เกิดขยะชิ้นใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีก เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่เรียกว่า Kessler syndrome ซึ่งอาจทำให้วงโคจรรอบโลกเต็มไปด้วยขยะจนไม่สามารถใช้งานได้ หากดาวเทียมที่ยังทำงานอยู่ได้รับความเสียหายจากขยะอวกาศ ก็จะส่งผลกระทบต่อบริการต่าง ๆ ที่เราใช้งานในชีวิตประจำวัน
ขยะอวกาศกับผลกระทบต่อประเทศไทย
ดาวเทียมมีบทบาทสำคัญทั้งในชีวิตประจำวันของมนุษย์และการพัฒนาทางด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การสื่อสารโทรคมนาคม การพยากรณ์อากาศ การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ไปจนถึงความมั่นคงของประเทศ แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นประเทศที่ส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศมากนัก แต่เราก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาขยะอวกาศเช่นกัน
ปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศเพิ่มมากขึ้น หากปัญหาขยะอวกาศยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา เพราะในอนาคตปัญหาขยะอวกาศจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น การส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายถึงจะมีขยะอวกาศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงอาจจะมีมาตรการจากสังคมโลกที่กดดันให้เกิดมาตรฐานการป้องกันขยะอวกาศที่ประเทศไทยต้องได้ผลกระทบตามไปด้วย
ปฏิบัติการเก็บกวาดขยะอวกาศ
ทั่วโลกกำลังร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาขยะอวกาศ มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อกำจัดขยะอวกาศ เช่น การใช้เลเซอร์ผลักขยะให้ตกสู่ชั้นบรรยากาศโลก การใช้แหจับขยะ หรือแม้แต่การส่งยานอวกาศไปเก็บกวาดขยะ นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์ให้ผู้ประกอบการดาวเทียมมีความรับผิดชอบในการกำจัดดาวเทียมที่หมดอายุการใช้งาน
ประเทศไทยเองก็มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับขยะอวกาศ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอมวัน (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งใน 10 สตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีอวกาศจากโครงการ Space Economy: Lifting Off 2021 ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ผู้พัฒนาผลงานดาวเทียมเอมวัน (EmOne) ซึ่งใช้เทคโนโลยีควบคุมความเร็วในการโคจรของวัตถุในอวกาศ โดยใช้หลักการถ่วงดึงให้ดาวเทียมตกกลับสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อลดปริมาณขยะจากอวกาศ
ส่วนทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศหรือ GISTDA ได้พัฒนาระบบปฏิบัติการเฝ้าระวังทางอวกาศ (Space Situational Awareness) ซึ่งเป็นกระบวนการติดตามและประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับวัตถุในอวกาศ เช่น ดาวเทียมและขยะอวกาศ คาดการณ์ความเสี่ยงเพื่อป้องกันการชนกัน วิธีที่ใช้ในการติดตามและระบุตำแหน่งของวัตถุที่อยู่ในอวกาศ คือ ระบบจะวิเคราะห์ตำแหน่งและการเคลื่อนที่ของวัตถุในอวกาศ โดยการตรวจจับวัตถุนี้สามารถทำได้โดยใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น การใช้กล้องโทรทรรศน์ติดตามดาวเทียมติดตามสัญญาณจากวัตถุในอวกาศ จากนั้นจะใช้ข้อมูลที่ได้นี้ในกระบวนการกำหนดตำแหน่งและการเคลื่อนที่ของวัตถุเพื่อให้ได้ข้อมูล
มุ่งสู่อนาคตกับภารกิจอวกาศที่ยั่งยืน
ปัญหาขยะอวกาศเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลก แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นผู้ที่สร้างขยะอวกาศขึ้นโดยตรง แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงภัยคุกคามจากขยะอวกาศได้ การร่วมมือกันทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับภารกิจเหนือพื้นพิภพและการสำรวจอวกาศเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนบนโลก
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.nasa.gov/headquarters/library/find/bibliographies/space-debris/
- https://www.youtube.com/watch?v=j2Ad7bhSVzY