แม้ในปัจจุบันเทรนด์การทดลองที่หลีกเลี่ยงการใช้สัตว์จะเริ่มแพร่หลายมากขึ้น แต่ยังมีโรคเรื้อรัง และโรคอุบัติใหม่อีกมากมายที่รอคอยการค้นพบหนทางสู่การรักษา และผลิตยา ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้สัตว์ทดลองเพื่อศึกษาในเชิงลึกสู่การรักษาที่ตรงจุด
ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์สภาวะองค์กร “SOAR Analysis” ที่สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดย Dr.Jacqueline Stavros, Dr.David Cooperrider & D. Lynn Kelly Humphrey ซึ่งประกอบไปด้วย “จุดเด่น” (Strengths) “จุดด้อย (Weaknesses) ”จุดเปิด“ (Opportunities) “จุดผลักดันสู่เป้าหมาย” (Aspirations) และ “จุดหมายปลายทาง” (Results) จะทำให้การวิเคราะห์สภาวะองค์กรเป็นไปโดยมีทิศทาง
นายสัตวแพทย์สุรชัย จันทร์ทิพย์ ผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงทิศทางใหม่ในการดำเนินงานของศูนย์ฯ จากเดิมที่ใช้การวิเคราะห์ด้วย “SWOT Analysis” เครื่องมือวิเคราะห์สภาวะองค์กรเดิมที่สร้างขึ้น และใช้กันอย่างแพร่หลายโดย Albert Humphrey
จนเมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการปรับตลาดจำเพาะ (Niche Mart) ผ่านการวิเคราะห์ด้วย “SOAR Analysis” เพื่อรองรับการเปลี่ยนทิศทางจากการเป็นเพียงศูนย์บริการเพาะเลี้ยง และจัดส่งสัตว์ทดลองที่ได้มาตรฐานไปยังห้องปฏิบัติการต่างๆ ทั่วประเทศ สู่การเป็นหนึ่งใน “โครงสร้างพื้นฐานวิจัยของชาติ” (National Research Infrastructure)
โดย ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็น 1 ใน 5 หน่วยงานของประเทศที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยวิจัยทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขตามหลักการ OECD GLP (OECD GLP Testing Facility) จากสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการกระทรวงสาธารณสุข ในการรับรองมาตรฐานคุณภาพการวิจัยทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ฯ ในระดับสากล เพื่อเป็น “บันไดขั้นสำคัญ” ก่อนการยื่นขออนุญาตจดแจ้งเลขทะเบียน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่จำเป็นสำหรับนักวิจัยไทยทุกราย
นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนเป็น “หน่วยให้บริการทดสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพตามหลักการ OECD GLP” ที่มีเพียง 38 แห่งทั่วโลก ซึ่งสามารถเข้ารับบริการได้โดยไม่มีการแบ่งเขตพื้นที่
อีกทั้งยังจะได้มีการเพิ่มศักยภาพการตรวจเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในสัตว์ทดลองอีก 33 รายการ ซึ่งครอบคลุมการตรวจสอบคุณภาพสัตว์ทดลองในระดับสัตว์ทดลองปลอดเชื้อจำเพาะ (Specific Pathogen Free Animal) จะส่งผลให้การวิจัยเพื่อค้นหาและพัฒนายาป้องกันและรักษาโรคที่มีความสำคัญ เช่น โรคตับอักเสบ ลำไส้อักเสบ ปอดบวม วัณโรค ฯลฯ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของประชากรโลกได้ต่อไปอีกด้วย
นับจากนี้ไป การวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมไทยจะไร้รอยต่อ ด้วยภารกิจให้บริการที่ได้มาตรฐานจาก ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พร้อมทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” เพื่อสนับสนุนทุกผลงานวิจัยไทย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210