อาจารย์แพทย์ ม.มหิดล ได้รับยกย่องอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ปอมท. จุดประกายแพทย์นวัตกร

จากคาเฟ่ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพื่อรองรับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ ตามมาด้วยขยะพลาสติก จากแก้วกาแฟ และขวดน้ำดื่มนับร้อยนับพันล้านชิ้น

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์ กุมารแพทย์ประจำหน่วยโรคระบบหายใจในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับทีมงานคิดค้นนวัตกรรมนำวัสดุเหลือใช้จากคาเฟ่ มาประดิษฐ์เป็นกระบอกกักละอองยาขยายหลอดลมที่่พ่นแบบสเปรย์ ใช้ในการรักษาโรคหืดหรือหลอดลมตีบผลิตเองได้ง่ายๆ

เพียงแค่ตัดขวดน้ำดื่มใสๆ มาประกบกับถ้วยกาแฟกระดาษ เจาะรู แล้วแปะทับรูด้วยแผ่นลิ้น ที่ทำมาจากถุงพลาสติกหูหิ้ว ช่วงโควิดระบาดมีแพทย์จากโรงพยาบาลกว่า 80 แห่งทั่วประเทศ นำไปใช้ที่ห้องฉุกเฉิน ช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อจากการพ่นยา ใช้แล้วทิ้งได้เลย ไม่ต้องเสียดายของ

ผลงานดังกล่าวได้นำไปสู่การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับโลก “Pediatric Pulmonology” ส่งผลต่อยอดกระจายองค์ความรู้ไปยังประเทศที่กำลังพัฒนาทุกมุมโลกนำไปประดิษฐ์ใช้ต่อได้เอง

อีกหนึ่งงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้โรงพยาบาลรามาธิบดี ก็คือ การริเริ่มนำคนในบ้านที่ไม่มีความรูู้ทางการแพทย์ใดๆ มาฝึกฝนจนสามารถกลับไปดูแลเด็กที่มีท่อเจาะคอ และต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจพยุงชีวิต ให้สามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย

แล้วยังดัดแปลงเครื่องช่วยหายใจราคาถูก ที่ทางแพทย์เรียกกันว่าเป็น “BIPAP” นำมาใช้อัดอากาศเข้าปอดผ่านทางท่อเจาะคอ เป็นการช่วยเหลือเด็กๆ หลายคนให้อยู่รอดปลอดภัย ทดแทนการนอนอยู่ในโรงพยาบาลเป็นปีๆ บางคนสามารถไปเรียนหนังสือจนได้รับปริญญา

ผลงานดังกล่าวสร้างความประทับใจให้กับ American College of Chest Physicians เป็นอย่างมาก ที่คนไทยก็สามารถทำได้ไม่แพ้ประเทศในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา

จึงได้มอบรางวัล Governors Community Service Award อันทรงเกียรติให้แก่ทีมแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2003

เมื่อถามถึงเทคนิคการสอน ทำอย่างไรให้เรียนไม่เบื่อ ไม่หลับ คำตอบคือ การสื่อสารแบบสองทาง หรือ Two Way Communication โดยสร้างแรงจูงใจให้ลูกศิษย์ “กล้าที่จะตอบ ไม่อายที่จะถาม”

ถ้าเป็นกลุ่มใหญ่ก็จะสร้างคำถามให้ผู้เรียนยกมือ เลือกคำตอบจาก Choice หรือโหวต Poll ทางมือถือ ใช้ภาพที่ถ่ายจากชีวิตจริง ประกอบการสอนสไลด์ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ตรง มีลูกศิษย์ทั้งไทยและเทศ ที่มาเรียนทางด้านโรคระบบหายใจ และโรคจากการหลับในเด็ก ทั้ง on-site on-line เป็นการสอนที่เน้นให้นำไปปฏิบัติได้จริง ภายใต้หลักการ “รู้อะไรไม่สู้ รู้ปฏิบัติ”

จึงไม่น่าแปลกใจที่ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์ จะได้รับการยกย่องให้เป็น “อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ” ประจำปี 2566 สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยเมื่อเร็วๆ นี้มีการเข้ารับโล่พระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จัดโดย ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์แห่งประเทศไทย (ปอมท.) ณ อาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

รางวัลชีวิตของการเป็นครูแพทย์ ไม่เพียงแต่จะสอนให้ลูกศิษย์จากเด็กธรรมดาให้เป็นนักศึกษาแพทย์อย่างสมบูรณ์ ช่วยคนไข้ต่อลมหายใจให้เด็กกลับไปใช้เครื่องช่วยหายใจที่บ้าน ภายใต้อ้อมกอดอันอบอุ่นของครอบครัวแล้ว ยังมีส่วนช่วยลดโลกร้อน จัดสรรนวัตกรรมที่ช่วยประหยัดทรัพยากรของโลก เป็นแรงบันดาลใจให้ยุวแพทย์ ได้ดำเนินตามรอยอันทรงคุณค่า ด้วย “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดลสืบไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author