ในสังคมก้มหน้าเช่นปัจจุบัน ภาพชินตาที่มักพบเห็นในแต่ละครอบครัวเวลาไปรับประทานอาหารนอกบ้าน คือ ต่างคนต่างก้มหน้า ยิ้มและหัวเราะกับโลกเสมือนจริงในมือถือของตัวเอง ทั้งๆ ที่นั่งไหล่ติดกับผู้คนที่มีชีวิตอยู่จริง ในโลกจริง
ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ผู้สูงวัย ที่มักถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยว ด้วยข้อจำกัดที่เกิดจากช่องว่างระหว่างรอยต่อของยุคสมัย แม้จะมีบางรายสามารถปรับตัวได้ เนื่องจากอุปนิสัยเดิมที่ชอบเข้าสังคม แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่อาจเข้าถึงโลกดิจิทัล ด้วยข้อจำกัดทางสมรรถภาพร่างกายที่เสื่อมถอยไปตามวัย จนเกิดความรู้สึกเหงาเดียวดาย สุดท้ายมีการอาการซึมเศร้า จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกายให้มีปัญหาเกิดขึ้นตามไปด้วย
ในปี พ.ศ.2565 นี้ ประเทศไทยจะได้มี “ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นส่วนที่ออกดอกออกผลเติบโตจากความสำเร็จของโครงการที่ริเริ่มขึ้นโดย สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ตั้งแต่ปีพ.ศ.2560 จนได้สร้าง “วัยเพชรรู้ทันสื่อ” จาก Active Agers หรือแกนนำผู้สูงวัยที่มุ่งเป้าพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าของชุมชน อีกทั้งยังได้ผลิตสื่อเสริมการเรียนรู้เท่าทันสื่อ ที่มาพร้อมกับคาถา “หยุด-คิด-ถาม-ทำ” เพื่อเตือนสติยามเสพสื่อดิจิทัล จนได้พัฒนาสู่แอปพลิเคชัน “STAAS” ที่ทุกคนเข้าถึงได้ในรูปแบบของเกมในปัจจุบัน
รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ กล่าวว่า วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานตามระยะเวลาเริ่มต้นของแพร่ระบาด เช่นเดียวกับ “สังคมสูงวัย” ที่เพิ่งเกิดขึ้นโดยเริ่มต้นจากเมื่อประมาณ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตามปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่พบอัตราเกิดของประชากรน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะที่มีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น พร้อมๆ กับความเจริญของโลกยุคดิจิทัล
แม้โลกจะค้นพบชัยชนะจากการสามารถคิดค้นวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 และมีใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว แต่กลับต้องพ่ายแพ้ต่อการรู้เท่าทันสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงวัย ที่แทบจะไม่มีการศึกษาวิจัยเพื่อการสร้างองค์ความรู้มาใช้เป็น “วัคซีนลดเสี่ยงเสพสื่อดิจิทัล” เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงวัยกันอย่างจริงจังแต่อย่างใด
ซึ่ง “วัคซีนเข็มล่าสุด” ที่ทาง “โครงการสูงวัยไม่เสพสื่ออย่างสุ่มเสี่ยง” ได้ริเริ่มสร้างสรรค์และพัฒนาขึ้น คือ แอปพลิเคชัน “STAAS” ที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ในรูปแบบของเกมที่จำลองสถานการณ์การเสพสื่อดิจิทัลในชีวิตประจำวันผ่าน “ลุงชุบทอง” หรือ “ลุงชุบ” ข้าราชการครูวัยเกษียณ ซึ่งเป็นคาแรคเตอร์ที่สร้างสรรค์ขึ้นมา
โดยชื่อแอปพลิเคชัน “STAAS” (อ่านว่า “สต๊าซ”) ใช้เป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้เป็นสากลและสะดวกต่อการค้นหา ซึ่ง S ย่อมาจาก “STOP” หรือ “หยุด” T ย่อมาจาก “THINK” หรือ “คิด” A ตัวแรกย่อมาจาก “ASK” หรือ “ถาม” และ “A” อีกตัวย่อมาจาก “ACT” หรือ “ทำ” ปิดท้ายคำด้วย “S” อีกตัว ที่ย่อมาจาก “SHARE” หรือ “การส่งต่อ” ซึ่งไม่หลุดจากคอนเซ็ปท์เดิมที่เป็นคาถา “หยุด-คิด-ถาม-ทำ” ในแคมเปญก่อนหน้า
ตัวอย่างสถานการณ์ในเกมสต๊าซ STAAS หยุด-คิด-ถาม-ทำ ซึ่งสามารถพบเจอในชีวิตประจำวัน ได้แก่ เมื่อลุงชุบได้รับการแชร์ข่าวชวนเชื่อที่ยังไม่ผ่านการรับรองพิสูจน์ตามหลักวิชาการ หรือแสดงผลที่เกิดขึ้นจริง เช่น การใช้น้ำมะนาวรักษาโรคร้าย ลุงชุบจะทำอย่างไร โดยแบ่งเกมออกเป็น 4 ด่าน แต่ละด่านจะมีตัวเลือกและการประมวลผลให้ผู้เล่นได้ทราบถึงระดับของความเสี่ยง หรือความรู้ความเข้าใจในหลักการเสพสื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัยและได้ประโยชน์ โดยในอนาคตจะได้มีการพัฒนาซีรีส์ หรือเหตุการณ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลง
จากการทดลองในเบื้องต้นให้ผู้สูงวัยเล่นเกมที่คิดค้นขึ้นนี้ ได้ทำให้เกิดมุมมองในการพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงวัยกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด โดยแอปพลิเคชัน “STAAS” พร้อมดาวน์โหลดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านอุปกรณ์สื่อสาร ทั้งสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป หลังงานแถลงข่าวออนไลน์การจัดตั้งศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ และการเสวนาออนไลน์ “หยุด-คิด-ถาม-ทำ วัคซีนออนไลน์เพื่อสูงวัยรู้ทันสื่อ”
ซึ่งเสวนาออนไลน์จัดขึ้นในประเด็น “สูงวัย ใจสต๊าซ STAAS หยุด-คิด-ถาม-ทำ เกมออนไลน์เพื่อผู้สูงวัยรู้ทันสื่อ” โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปัญญา ไข่มุก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. คุณญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. และ รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ ติดตามย้อนหลังได้ทาง Facebook : RILCA, Mahidol University
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210