โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer
เวลาเห็นดาวบนท้องฟ้า เราอาจอยากรู้ว่า นั่นคือดาวอะไร ? ใช่ดาวดวงนั้นไหม ? (เช่น ใช่ดาวศุกร์ไหม ?) หรือ ดาวดวงนั้นอยู่ตรงไหนบนท้องฟ้า (เช่น ดาวลูกไก่อยู่ตรงไหน ?)
สมัยก่อนเรามีตัวช่วยคือ แผนที่ดาวแบบแผ่นหมุน หรือ แผนที่ฟ้า (planisphere) โดยหมุนให้เดือนและวันที่ตรงกับเวลาที่เราต้องการ แล้วเปรียบเทียบตำแหน่งดาวในแผนที่ดาวกับตำแหน่งดาวจริงบนท้องฟ้า
แต่ปัญหาคือ แผนที่ดาวแบบแผ่นหมุนจะมีเฉพาะดาวฤกษ์ (star) เช่น ดวงอาทิตย์ (Sun) หรือดาวที่มีลักษณะเหมือนดวงอาทิตย์คือมีแสงสว่างในตัวเองที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ (ดาวส่วนใหญ่บนท้องฟ้าเป็นดาวฤกษ์)
แผนที่ดาวแบบแผ่นหมุนจะไม่มีดาวเคราะห์ (planet) คือ ดาวที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง แต่ได้แสงสว่างจากดวงอาทิตย์สะท้อนมาให้เรามองเห็น ได้แก่ ดาวส่วนใหญ่ที่เป็นชื่อวันในสัปดาห์ คือ ดาวอังคาร (Mars), ดาวพุธ (Mercury), ดาวพฤหัสบดี (Jupiter), ดาวศุกร์ (Venus), ดาวเสาร์ (Saturn) และดาวเคราะห์ที่ไม่ได้เป็นชื่อวันในสัปดาห์คือ ดาวยูเรนัส (Uranus) และดาวเนปจูน (Neptune) รวมทั้งไม่มีดวงจันทร์ (Moon)
เนื่องจากดาวเคราะห์และดวงจันทร์เปลี่ยนตำแหน่งอยู่เสมอ จึงไม่สามารถกำหนดตำแหน่งตายตัวไว้บนแผนที่ดาวแบบแผ่นหมุนได้ ส่วนดาวฤกษ์นั้นจะมีตำแหน่งตายตัวในช่วงชีวิตของเรา ตัวอย่างเช่น ดาวลูกไก่ หรือกระจุกดาวลูกไก่ (Pleiades) อยู่ในกลุ่มดาววัว (Taurus) ไม่ว่าเดือนนี้ เดือนหน้า ปีนี้ ปีหน้า หรืออีก 100 ปีข้างหน้า แต่ดาวศุกร์เดือนที่แล้วอยู่ในกลุ่มดาววัว เดือนนี้ย้ายตำแหน่งออกจากกลุ่มดาววัวไปอยู่กลุ่มดาวคนคู่ (Gemini)
แผนที่ดาวแบบแผ่นหมุนมีข้อจำกัดเรื่องขนาด จึงใส่เฉพาะดาวที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ไม่สามารถใส่ดาวอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าได้ นิยมใส่ดาวที่มีอันดับความสว่างปรากฏหรือโชติมาตรปรากฏ (apparent magnitude) ไม่เกิน 4 หรือใส่ดาวไม่เกิน 513 ดวง
ท้องฟ้าจริงเป็น 3 มิติ แต่แผนที่ดาวแบบแผ่นหมุนแบนเป็น 2 มิติ จึงทำให้รูปร่างกลุ่มดาวบางกลุ่มบิดเบี้ยวจากท้องฟ้าจริง เนื่องจากกลุ่มดาวที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่อยู่ทางด้านทิศเหนือ จึงนิยมใช้ทิศเหนือเป็นหลัก กลุ่มดาวทางทิศเหนือจึงมีรูปร่างบิดเบี้ยวน้อยกว่ากลุ่มดาวทางทิศใต้มาก แผนที่ดาวบางแผ่นพยายามแก้ปัญหาด้วยการทำเป็นสองด้าน คือด้านหน้าสำหรับท้องฟ้าทิศเหนือ ด้านหลังสำหรับท้องฟ้าทิศใต้
แผนที่ดาวแบบแผ่นหมุนยังมีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ ที่จำเป็นต้องกำหนดสถานที่ให้แผนที่ดาว เนื่องจากเมื่อเราดูดาวในเวลาเดียวกันแต่ละสถานที่บนโลกจะเห็นตำแหน่งดาวบนท้องฟ้าแตกต่างกัน เช่น ตำแหน่งดาวเหนือ (North Star หรือ Polaris) ถ้าดูที่กรุงเทพฯ ดาวเหนือจะอยู่สูงจากขอบฟ้าตรงทิศเหนือ 13° 33’ (13 องศา 33 ลิปดา หรือเกือบ 14 องศา) ถ้าดูที่เชียงใหม่ ดาวเหนือจะอยู่สูง 18° 34’ ถ้าดูที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ดาวเหนือจะอยู่สูง 35° 53’ ถ้าดูตรงขั้วโลกเหนือ ดาวเหนือจะอยู่กลางศีรษะ หรือ 90° ถ้าดูในประเทศที่อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรจะไม่สามารถเห็นดาวเหนือได้เลย
สำหรับแผนที่ดาวแบบแผ่นหมุนของประเทศไทย นิยมกำหนดสถานที่ดูดาวไว้ที่ละติจูด (latitude) 15 องศาเหนือ
ภาพแผนที่ดาวแบบหมุนของสมาคมดาราศาสตร์ไทย
นอกจากนี้แผนที่ดาวแบบแผ่นหมุนยังหาซื้อยาก ตัวอย่างผู้ทำแผนที่ดาวแบบหมุนจำหน่ายคือ สมาคมดาราศาสตร์ไทย สามารถสั่งซื้อทางไปรษณีย์ได้จากเว็บไซต์ของสมาคมดาราศาสตร์ไทย https://thaiastro.nectec.or.th
ปัจจุบันเรามีตัวช่วยที่ดีกว่าแผนที่ดาวแบบหมุนนั่นคือ แอปพลิเคชัน (application โปรแกรมประยุกต์) เรียกย่อว่า “แอป” สำหรับดูดาว หรือ แอปดูดาว ในโทรศัพท์มือถือ
การใช้งานก็ง่ายมาก เพียงแค่ยกโทรศัพท์มือถือเล็งไปที่ดาวดวงนั้น ก็จะมีชื่อดาวขึ้นมาให้เลย
แอปดูดาวมีหลายตัว ในที่นี้ขอยกตัวอย่างแอปชื่อ SkyPortal ของบริษัท Celestron ที่เป็นบริษัทผลิตกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องดูดาวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ภาพแอป SkyPortal จาก App Store ของโทรศัพท์มือถือระบบ iOS (iPhone) สำหรับระบบ Android ก็คล้ายกัน
จุดเด่นของแอป SkyPortal คือ ดาวน์โหลดฟรี, ใช้ง่าย, ออกแบบสวยงาม, ใช้ได้ทั้งระบบ Android และ iOS (iPhone), ข้อมูลถูกต้องเชื่อถือได้, เป็นแอปยอดนิยมทั่วโลกตัวหนึ่ง, มีข้อมูลดาวมากถึง 120,000 ดวง รวมทั้งวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ เช่น ดาราจักรหรือกาแล็กซี (galaxy) ทางช้างเผือก (Milky Way) เนบิวลา (nebula) ดาวหาง (comet) ดาวเทียม (satellite) ฝนดาวตก (meteor shower) โดยแอปสามารถจำลองการเกิดฝนดาวตกและการเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคา ทำงานได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ภาพจากแอป SkyPortal เมื่อเปิดขึ้นมาครั้งแรก คำว่า Zenith สีเขียว คือ จุดจอมฟ้า หรือ จุดยอดฟ้า เป็นจุดที่อยู่เหนือศีรษะของเรา
หลังจากดาวน์โหลดและติดตั้งแอปเรียบร้อยแล้ว เมื่อเปิดขึ้นมาครั้งแรก แอปจะขออนุญาตใช้พิกัดตำแหน่ง (location) ของโทรศัพท์มือถือ ให้อนุญาตเพื่อแอปจะได้คำนวณดาวบนท้องฟ้าตรงตำแหน่งที่เราอยู่
ภาพเมื่อตั้งค่าเมนู Settings ด้านล่างหน้าจอโทรศัพท์มือถือ Constellations (กลุ่มดาว) ให้แสดงเป็น as Mythical Figures (ภาพในตำนาน) และ Show Names (แสดงชื่อกลุ่มดาว) ช่วยให้เราจินตนาการรูปภาพกลุ่มดาวได้ง่ายขึ้น รวมทั้งตั้งค่า Horizon & Sky (ขอบฟ้าและท้องฟ้า) เป็น as Transparent with Line (โปร่งใสและมีเส้นขอบฟ้า (สีเขียว) เพื่อให้มองเห็นดาวที่อยู่ใต้พื้นดินโดยไม่มีพื้นดินหรือฉากภูเขาบัง
ด้านล่างหน้าจอจะมีเมนูต่าง ๆ เมนูตัวแรกที่ขอแนะนำคือเมนู Compass (เข็มทิศ) เมื่อเราเห็นดาวบนท้องฟ้าจริง แล้วอยากทราบว่าเป็นดาวอะไร เพียงแตะเมนู Compass แล้วยกโทรศัพท์มือถือเล็งไปตรงดาวดวงนั้น จะมีชื่อดาวขึ้นมาให้ทราบว่าเป็นดาวอะไร ภาพจุดดาวในแอปถ้ายิ่งจุดใหญ่แสดงว่ายิ่งสว่าง
ภาพดาวเสาร์ เมื่อซูมขยายด้วยแอป SkyPortal
ถ้าอยากทราบข้อมูลรายละเอียดของดาวดวงนั้น ให้แตะที่ดาวดวงนั้น แล้วเลือกเมนู Info ข้อมูลสำคัญคือ เวลาขึ้น (rise) และเวลาตก (set) ของดาวดวงนั้น
ภาพดวงจันทร์ แอป SkyPortal สามารถแสดงรูปร่างดวงจันทร์ หรือ ดิถีจันทร์ (lunar phase) ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละวันได้ด้วย
แอป SkyPortal ยังซูมขยายภาพดาวได้อย่างน่าทึ่ง ตัวอย่างเช่น ดาวเสาร์ สามารถซูมจนเห็นวงแหวนดาวเสาร์ โดยเลือกเมนู Search (ค้นหา) ที่อยู่มุมซ้ายสุดด้านล่างหน้าจอ แล้วเลือก Sun & Planets (ดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์) เลือก Saturn (ดาวเสาร์) เลือก Center (ตรงกลาง) ที่มุมซ้ายล่าง จะแสดงดาวเสาร์กลางหน้าจอ แตะเครื่องหมายบวก (+) ตรงมุมขวาล่าง ค้างไว้ หรือแตะซ้ำ ภาพดาวเสาร์จะใหญ่ขึ้นจนเห็นวงแหวนดาวเสาร์ อีกวิธีคือใช้ถ่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้บนหน้าจอเพื่อขยายได้ แต่ดาวเสาร์อาจขยับจากตรงกลาง ใช้แตะเครื่องหมายบวกจะดีกว่า
เราอาจแตะดาวที่ต้องการบนหน้าจอ เลือกเมนู Center แล้วแตะเครื่องหมายบวกเพื่อซูมขยายก็ได้