วันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ตรงกับ “วันวิสาขบูชา” ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศเป็น “วันสำคัญของโลก”
ธรรมกับธรรมชาติเป็นของคู่กันฉันใด “หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา” จึงอยู่คู่กับ “หลักการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์” ซึ่งเป็นการสืบเสาะแสวงหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติ และสิ่งต่างๆ รอบตัวเราฉันนั้น
การสงสัยอยากรู้ที่นำไปสู่การตั้งคำถาม ความพยายามที่จะหาคำตอบโดยการทดสอบสมมุติฐานจากความเข้าใจ ผ่านการลงมือปฏิบัติ นำไปสู่การประยุกต์ใช้ได้ จึงเป็นสิ่งอมตะอยู่มาในทุกยุคทุกสมัย แม้ในยุคที่โลกไร้พรมแดนเช่นปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน
รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณพงษ์ เตรียมโพธิ์
ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศ MUSC – STEM EDUCATION
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณพงษ์ เตรียมโพธิ์ ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศ MUSC – STEM EDUCATION คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หนึ่งในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย ได้แก่ “อิทธิบาท 4” หรือ “หัวใจแห่งความสำเร็จ” ฉันทะ – วิริยะ – จิตตะ – วิมังสา (Passion – Determination – Concentration – Assessment) ที่มุ่งใช้สติ สมาธิ และปัญญา เป็นอาวุธเพื่อเป็นคำตอบสู่ทางออกเพื่อหลุดพ้นจากกับดักสิ่งฉุดรั้งในการนำพาประเทศชาติบรรลุเป้าหมายของการแข่งขันทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในเวทีโลกได้ และการศึกษาที่มุ่งสร้างปัญญา สร้างความสมดุลแบบองค์รวมแห่งการเรียนรู้ “Head-Heart-Hand” เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนไทย โดยเฉพาะด้วยการเรียนรู้ตามวิถีของสะเต็ม (STEM Based Learning) ที่เน้นวิธีการเรียนรู้แบบบูรณาการที่มุ่งพัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์ เพื่อมุ่งแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผนวกเอา “S” – Science หรือ วิทยาศาสตร์ “T” – Technology หรือ เทคโนโลยี “E” – Engineer หรือ วิศวกรรมศาสตร์ และ “M” – Mathematic หรือ คณิตศาสตร์ เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ที่สอดคล้องและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน ให้เป็น Master Learner และสามารถเป็นสามารถเป็นผู้นำที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อต่อยอดต่อไปในการพัฒนาประเทศ
กว่า 2 ปีแล้วที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศ MUSC – STEM EDUCATION ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากทางโครงการ EASTEM ซึ่งอยู่ในความดูแลของสหภาพยุโรป (EU) เพื่อเป็นฐานกำลังสำคัญในการเตรียมความพร้อมเยาวชนสู่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และ คณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์สำคัญในการพัฒนาชาติเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ผ่านการจัดค่ายอบรม ซึ่งพร้อมด้วยวิทยากรที่เปี่ยมด้วยองค์ความรู้ และประสบการณ์ ตลอดจนสื่อการเรียนรู้ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามกลุ่มเป้าหมาย และสถานการณ์ ทั้งแบบ Onsite และ Online ซึ่งใช้เป็นแพลตฟอร์มหลักในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนให้สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา
ตัวอย่างการเรียนรู้แบบ STEM ที่สามารถจุดประกายการเรียนรู้ให้กับเยาวชนที่เข้ากับสถานการณ์ คือ การเรียนรู้ในเรื่องวัคซีน ซึ่งนอกจากจะให้เยาวชนได้รู้ถึงที่มา และประเภทของวัคซีนในแต่ละชนิดแล้ว ยังสอนให้เรียนรู้ถึงวิธีการฉีดยา ด้วยสื่อการสอนที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยใช้อุปกรณ์อย่างง่าย ซึ่งเป็นการใช้หลัก “อิทธิบาท 4” หรือ “PDCA” ที่ไม่ใช่เพียงการสอนความรู้จากแค่ในตำรา แต่ให้เยาวชนได้ลงมือทำ เพื่อฝึกการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพื่อทำให้งานที่ทำสำเร็จลุล่วงได้
ทุกวันนี้ MUSC – STEM EDUCATION ยังคงเดินหน้าจัดค่ายฝึกอบรมโดยไม่ได้จำกัดเฉพาะในกลุ่มเยาวชน แต่ยังได้ขยายขอบเขตการเรียนรู้ไปสู่ทุกระดับ โดยหวังให้เกิดการเติบโตทางความคิดสู่การเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
ในขณะที่ทุกศาสนาใช้หลักธรรมคำสอนเปลี่ยนโลกสู่สันติภาพ STEM EDUCATION เปลี่ยนโลกด้วยพลังสมองของคนรุ่นใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณพงษ์ เตรียมโพธิ์ เชื่อมั่นว่าเยาวชนทุกคนมีศักยภาพที่จะช่วยกันเปลี่ยนโลกสู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า เช่นเดียวกับ “ไอน์สไตน์” ผู้เป็นต้นแบบแห่งอัจริยภาพของโลก ที่เชื่อว่าจะไม่มีที่ยืนสำหรับผู้ที่ไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรเลย
ติดตามกิจกรรม MUSC – STEM EDUCATION ได้ทาง www.sc.mahidol.ac.th และติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210