Headlines

อาทิตย์ขึ้นที่อังกอร์

เรื่องโดย ผศ. ดร.ภาณุ ตรัยเวช


มนุษย์หมกมุ่นกับสถานที่และเวลามาตั้งแต่อดีต เราอยากรู้ว่าเราอยู่ที่ไหน ขณะนี้เมื่อไหร่ ความรู้ดังกล่าวนอกจากจะมีประโยชน์ในการทำมาหากิน ไม่ว่าคุณจะเป็นชาวนายุคสำริด หรือนักบินบังคับเครื่องบินข้ามมหาสมุทร มันยังตอบสนองต่อความอยากรู้อยากเห็นทางจิตวิญญาณว่ามนุษย์เราเป็นใครกันแน่

ปัจจุบันมนุษย์ใช้ปฏิทิน นาฬิกา เครื่อง GPS เพื่อตอบคำถามข้างบน ในอดีตบรรพบุรุษเราใช้ท้องฟ้า ท้องฟ้าบอกเราได้ทุกสิ่ง เราอยู่ที่ไหน วันและเวลาอะไร ความรู้เรื่องท้องฟ้าสมัยก่อนไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์เสมอไป มันผสมผสานตำนานและศาสนาลงไปด้วย เพราะแบบนี้เราถึงได้เห็นการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมโบสถ์วิหารกับความรู้ด้านดาราศาสตร์

นักโบราณคดีไม่ค่อยมีความรู้ทางดาราศาสตร์ ก็เลยชอบเหมารวมไปว่าคนโบราณที่เขาศึกษาไม่มีความรู้ทางดาราศาสตร์ไปด้วย พอเห็นโบสถ์วิหารทำมุมแปลก ๆ กับภูมิประเทศ ก็เข้าใจผิดว่าคนโบราณไม่มีความรู้เรขาคณิตมากพอจะวัดมุมฉาก วัดเส้นขนานได้อย่างแม่นยำ ด้วยเหตุนี้เอง พอมิชาเอล รัปเปินกลึค (Michael Rappenglück) นักโบราณคดีชาวเยอรมัน เสนอว่า รอยเปื้อนหกเจ็ดจุดที่อยู่เหนือภาพวัวในถ้ำลัสโก (Lascaux) แท้ที่จริงคือภาพกลุ่มดาววัว จึงมีแต่คนยืนกรานปฏิเสธ

ลัสโกเป็นถ้ำที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติ ข้างในถ้ำมีภาพเขียนฝาผนังโบราณอายุกว่า 15,000 ปี เป็นภาพสิงสาราสัตว์ต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือภาพกระทิง นักวิทยาศาสตร์ถกเถียงกันว่า จุดหกจุดที่อยู่เหนือกระทิงคืออะไรกันแน่ รอยเปื้อนเก่าของภาพอื่นที่เลื่อนหายไปแล้ว หรือจิตรกรแค่ทำสีเปื้อนผนัง รัปเปินกลึคยืนกรานว่ามันคือกลุ่มดาววัว เขาใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ แสดงให้เห็นว่าเมื่อสองหมื่นปีที่แล้ว กลุ่มดาววัวแถบประเทศฝรั่งเศสมีหน้าตาเป็นดังจุดในรูปจริง ๆ

ชื่อกลุ่มดาววัวตามจักรราศีแบบที่เราใช้กันในปัจจุบันเป็นชื่อที่ชาวบาบิโลนตั้งขึ้นมา กว่าอารยธรรมบาบิโลนจะรุ่งเรืองถึงจุดสูงสุดก็อีกตั้งเกือบหมื่นห้าพันปี ยากจะเชื่อว่ามนุษย์ถ้ำลัสโกตั้งชื่อกลุ่มดาวโดยบังเอิญเหมือนกับชาวบาบิโลน แต่อีกด้านหนึ่ง กลุ่มดาววัวจะเห็นชัดเจนสุดในวันเริ่มต้นของฤดูใบไม้ร่วง ตลอดช่วงฤดูหนาว และไปสิ้นสุดในวันเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ ช่วงเวลาดังกล่าวมนุษย์ไม่สามารถเข้าป่าล่าสัตว์ได้ การดูแลปศุสัตว์จึงมีความสำคัญขึ้นมา ชาวลัสโกในอดีตอาจตั้งชื่อกลุ่มดาวเพื่อย้ำเตือนถึงกิจกรรมหลักเพื่อความอยู่รอดในช่วงฤดูหนาวก็ได้

ลัสโกไม่ใช่ถ้ำที่อยู่อาศัยของเผ่าใดเผ่าหนึ่ง มันคือสถานที่สำคัญทางศาสนาของคนโบราณ มีชนเผ่าผลัดเปลี่ยนมาใช้ถ้ำนี้ และวาดภาพต่อเติมอยู่เรื่อย ๆ เป็นเวลาหลายพันปี มันคือพื้นที่สาธารณะสำหรับการบูชา ให้คนโบราณมาดื่มกิน เล่นดนตรี ร้องรำทำเพลง ในสถานที่เช่นนี้ ถ้าจะมีภาพวาดที่เตือนให้พวกเขาทำงานหนัก เตรียมรับมือกับฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง ก็ไม่ได้น่าเหลือเชื่อเกินไปนัก

กระโดดข้ามเวลาไป 5,000 ปีที่แล้ว มีโบราณสถานลึกลับอีกแห่งหนึ่งสร้างขึ้นบนเกาะอังกฤษ ปัจจุบันเราเรียกกองหินเหล่านี้ว่า สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) หลากหลายทฤษฎีพยายามอธิบายว่ามันคืออะไรกันแน่ ทฤษฎีที่น่าเชื่อถือที่สุดตอนนี้คือเป็นหอดูดาวโบราณสำหรับให้นักบวชใช้วัดองศาทิศทางดวงอาทิตย์ขึ้นและตกในแต่ละช่วงของฤดู คนโบราณไม่ได้ใช้สถานที่สำคัญทางศาสนาสำหรับสวดมนต์ติดต่อขอพรกับเทพเจ้าเพียงอย่างเดียว แต่มันยังเป็นสถานที่สำหรับคนคว้าหาความรู้ใหม่ ๆ รวมถึงกำหนดกิจกรรมการทำมาหากินด้วย นักบวชและนักรบปรึกษาหารือว่าควรทำอะไรต่อ ล่าสัตว์ สะสมเสบียง ปลูกพืช หรือสู้ศึก ในสถานที่แบบนี้มนุษย์รู้สึกใกล้ชิดกับเทพเจ้าที่สถิตอยู่บนฟากฟ้าและตระหนักรู้ฤดูกาลไปพร้อม ๆ กัน

เรากระโดดข้ามเวลามาศตวรรษที่ 12 และย้ายมาแถวที่พวกเราอยู่บ้าง โบราณสถานที่โด่งดังที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ นครวัดหรืออังกอร์วัด (Angkor Wat) ประเทศกัมพูชา สร้างโดยกษัตริย์เขมร พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ได้รับอิทธิพลมาจากฮินดู ยอดเจดีย์ทั้งห้าสร้างตามแปลนเขาพระสุเมรุ จุดศูนย์กลางของจักรวาล โบราณสถานฮินดูส่วนใหญ่จะหันหน้าเข้าหาทิศตะวันออกเพื่อบูชาพระศิวะ แต่อังกอร์วัดหันหน้าเข้าหาทิศตะวันตก พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 อาจต้องการใช้สถานที่แห่งนี้เป็นหลุมฝังศพ เพื่อให้ผู้คนรำลึกถึงการตายของพระองค์ในวันวิษุวัต (equinox) ประมาณวันที่ 21 มีนาคม และ 21 กันยายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่กลางวันกลางคืนยาวเท่ากัน พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกพอดี ด้วยความสูงเจดีย์ตรงกลาง 213 เมตร กว่าพระอาทิตย์จะขึ้นถึงระดับความสูงดังกล่าว ถ้ายืนอยู่ตรงทางเข้าประตูด้านหน้าก็จะเห็นดวงอาทิตย์พอดีกับเจดีย์ตรงกลาง นี่ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นสิ่งที่สถาปนิกในอดีตวางแผนมาแล้ว

ความมหัศจรรย์ทางดาราศาสตร์ของอังกอร์วัดยังไม่จบเท่านี้ ในวันอายัน (solstice) ฤดูร้อน วันที่กลางวันยาวนานที่สุด พระอาทิตย์ขึ้นเฉไปทางทิศเหนือเล็กน้อย และในวันอายันฤดูหนาว วันที่กลางคืนยาวนานที่สุด เฉไปทางทิศใต้ ถ้ายืนอยู่ตรงประตูทางเข้า พระอาทิตย์จะขึ้นพอดีกับเจดีย์ทางเหนือและใต้ตามลำดับ

จิตรกรรมสำคัญใจกลางอังกอร์คือภาพปูนปั้นเทวดาและยักษ์กวนเกษียรสมุทร เทวดาและยักษ์ต่างต้องการน้ำอำมฤต ต่างฝ่ายต่างต้องการหลอกใช้อีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งคู่ขอให้พญานาคพันกายเข้ากับเขาพระสุเมรุ เหล่าเทวดาจับข้างหนึ่งของพญานาค ยักษ์จับอีกข้าง แล้วผลัดกันดึงคนละที เพื่อให้เขาพระสุเมรุหมุนไปรอบ ๆ กวนทะเลน้ำนม เปลี่ยนเป็นน้ำอำมฤต ระหว่างนั้นเองสัตว์ต่าง ๆ รวมถึงมนุษย์จึงได้กำเนิดขึ้นมา

เขาพระสุเมรุหมุนรอบตัวเองก็คือการผันเปลี่ยนของฤดูกาลในแต่ละปี ยักษ์มีทั้งหมด 91 ตน เทวดามี 89 องค์ รวมกันเป็น 180 ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของปี หัวหน้าเทวดาคือ พระวิษณุ รับบทบาทเป็นคนคุมงานอยู่ตรงกลาง พอหมุนครบรอบ น้ำอำมฤตก็ปรากฏออกมา ยักษ์รีบฉวยไปก่อน แต่พระวิษณุแปลงร่างเป็นหญิงงามหลอกล่อดึงความสนใจจากอีกฝ่าย และใช้โอกาสนั้นขโมยน้ำอำมฤตกลับมาให้ฝ่ายเทวดา ทั้งสองรบราฆ่าฟันกันใช้เวลาไปทั้งหมด 5 วัน ก็คือวันที่เหลือในหนึ่งปี ถึงเทวดาจะกำราบความมักใหญ่ใฝ่สูงของเหล่ายักษ์ลงได้ชั่วคราว แต่ไม่ช้าทั้งสองฝ่ายก็ตกลงใจกวนเกษียรสมุทรกันอีกรอบ และเหตุการณ์เช่นนี้ก็ดำเนินเวียนอยู่ไม่รู้จบในแต่ละปี

ในจิตรกรรมกวนเกษียรสมุทร พระวิษณุอยู่ตรงกลางระหว่างเหล่าเทวดากับยักษ์พอดี วันวิษุวัตที่พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก แสงจะจับลงมาที่พระวิษณุ และวันอายันฤดูหนาว แสงจับที่ปลายสุดของพญานาคฝั่งหนึ่งที่หัวหน้าเทวดา และในวันอายันฤดูร้อน แสงจับที่ปลายสุดอีกฝั่งที่หัวหน้ายักษ์

คนโบราณมีความรู้ดาราศาสตร์ที่อาจไม่เป็นวิทยาศาสตร์เท่าพวกเราในปัจจุบัน อาจเต็มไปด้วยความเชื่อทางศาสนาเจือปน แต่พวกเขาก็ได้ผสานความรู้เหล่านี้ไว้ในการสร้างโบสถ์ สร้างสถานที่สำคัญที่สุดในอารยธรรมของพวกเขา การศึกษาโบราณสถานจึงสามารถเปิดโลกใหม่ทั้งด้านวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกันได้ในคราวเดียว

About Author