กรุงเทพฯ ประเทศไทย 28 พฤศจิกายน 2565 – การ์ทเนอร์ อิงค์ เผยผลสำรวจล่าสุด พบว่า 87% ของผู้นำธุรกิจเตรียมเพิ่มการลงทุนด้านความยั่งยืนในอีกสองปีข้างหน้า โดยระบุว่าลูกค้าเป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหลักที่กดดันให้องค์กรต้องลงทุนหรือดำเนินการด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นการเลือกจากกลุ่มผู้บริหาร 80% ตามมาด้วยกลุ่มนักลงทุน (60%) และกลุ่มนักกฎหมาย (55%) ตามลำดับ
คริสติน โมเยอร์ รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “ความยั่งยืนช่วยให้ธุรกิจสามารถรับมือกับการหยุดชะงักต่าง ๆ ได้ โดยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ต้นทุนวัสดุและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ล้วนส่งผลให้องค์กรธุรกิจต้องกลับมาตรวจสอบค่าใช้จ่ายทุกรูปแบบอีกครั้ง ซึ่งการมุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องที่จำเป็นและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องการเห็นความคืบหน้าของการดำเนินงานตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (หรือ ESG) นั้นสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ แก่องค์กร พร้อมช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยง”
ความยั่งยืนช่วยปกป้ององค์กรธุรกิจจากการหยุดชะงัก
86% ของผู้นำธุรกิจมองว่าความยั่งยืนนั้นเป็นการลงทุนที่ช่วยปกป้ององค์กรของตนจากการหยุดชะงัก นอกจากนี้ 83% ยังระบุว่า กิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการความยั่งยืนนั้นช่วยสร้างมูลค่าแก่องค์กรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และ 80% ระบุว่าความยั่งยืนช่วยให้องค์กรปรับความเหมาะสมและลดต้นทุนได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าโครงการความยั่งยืนกำลังช่วยลดต้นทุนให้กับประเด็นต่อไปนี้เป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งประกอบด้วย การใช้พลังงาน (Energy Consumption) การเดินทางเพื่อธุรกิจ (Business Travel) และธุรกรรมของลูกค้า (Customer Transaction) (ตามรูปภาพที่ 1)
ภาพที่ 1 ค่าใช้จ่ายด้านปฏิบัติการหลัก ๆ ของธุรกิจที่ลดลงผ่านโครงการความยั่งยืน
ที่มา: การ์ทเนอร์ (ตุลาคม 2565)
“ผู้นำองค์กรบรรลุความสำเร็จในด้านการปฏิบัติงานและการประหยัดในห่วงโซ่อุปทานด้วยโครงการความยั่งยืนของพวกเขา ตามกลยุทธ์ “Two For One” ที่การลงทุนด้านความยั่งยืนช่วยสนับสนุนเป้าหมายทางธุรกิจ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุน ที่ช่วยเพิ่มผลกระทบของโครงการได้อย่างมากด้วยการสร้างวงจรการทำธุรกิจด้วยคุณธรรม”
ความยั่งยืนขับเคลื่อนการเติบโตองค์กรและนวัตกรรม
ความยั่งยืนสามารถเพิ่มมูลค่าและสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ โดย 57% ของผู้นำธุรกิจระบุว่าโครงการความยั่งยืนมีความเชื่อมโยงสำคัญต่อผลกำไรขาดทุนขององค์กร และ 42% ใช้ประโยชน์จากกิจกรรมความยั่งยืนต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม สร้างความแตกต่าง และการเติบโตแก่องค์กรผ่านผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน
“การลงทุนด้านความยั่งยืนสามารถส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่างได้ แต่ควรระมัดระวังความเสี่ยงจากการมุ่งสู่องค์กรสีเขียว เนื่องจากไม่มีทางลัดสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงควรมุ่งเน้นไปที่คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญต่อลูกค้าและจัดลำดับความสำคัญนั้น ๆ เพื่อกำหนดรูปแบบของการตัดสินใจซื้อ เมื่อเรามองในมุมกลยุทธ์ ความยั่งยืนนั้นเป็นทางแสงสว่างแก่ธุรกิจในสภาวะตลาดที่ยากลำบาก”
ลูกค้าการ์ทเนอร์เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ “2022 Sustainability Survey: Use Sustainability to Drive Value and Mitigate Disruption.”