เรื่องโดย มฆวัน ศรีจันทร์
“ส้ม” เป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภค และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาก แม้ในประเทศไทยมีการปลูกเป็นจำนวนมาก แต่ผลผลิตที่ได้ก็ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ อันเนื่องมาจากปัญหาหลายประการ เช่น ด้านการเพาะปลูกเจอกับปัญหาโรคกรีนนิ่งและโรคทริสเตซา ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตลดลง เชื้อก่อโรคเหล่านี้สามารถติดมากับต้นพันธุ์ได้ ซึ่งการใช้ต้นพันธุ์ที่ปลอดจากเชื้อโรคสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้
ส้มเขียวหวาน เป็นสายพันธุ์หนึ่งของส้มที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก จนทำให้ราคาส้มค่อนข้างสูง ส้มมีสรรพคุณทางยาในการช่วยบรรเทาอาการกระหาย ช่วยป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ป้องกันไม่ให้เกิดอาการของโรคไข้หวัด ช่วยลดปริมาณของคอเลสเตอรอลในโลหิต และยังช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารภายในร่างกายเป็นไปอย่างปกติ เป็นต้น
ส้มเขียวหวานเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญ ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยส่งออกส้มเขียวหวานมีปริมาณ 629,570 ตัน คิดเป็นมูลค่า 18.65 ล้านบาท แต่ประเทศไทยก็ยังมีการนำเข้าส้มเขียวหวานจากต่างประเทศ เช่น จากประเทศจีน เพื่อให้เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ โดยปี พ.ศ. 2558 การนำเข้าส้มเขียวหวาน 7,402,861 ตัน คิดเป็นมูลค่า 196.74 ล้านบาท เห็นได้ชัดว่าปริมาณการนำเข้ามากกว่าปริมาณการส่งออก
แม้ประเทศไทยจะมีการเพาะปลูกส้มเขียวหวานเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังคงมีปัญหาบางประการ เช่น การเจริญเติบโตช้า แมลง โรคพืช ทำให้ส่งผลต่อจำนวนผลิต โดยปัญหาที่นับว่าสำคัญและมีผลต่อคุณภาพของส้ม ได้แก่ โรครากเน่า โรคแอนแทรคโนส โรคกรีนนิ่ง โรคทริสเทซา เป็นต้น เชื้อโรคสามารถแพร่ระบาดได้ทั้งทางกิ่งพันธุ์และแมลงพาหะ ถ้ามีเชื้อโรคเหล่านี้อยู่ในต้นพันธุ์โดยที่เกษตรกรไม่รู้ และทำการตอนกิ่งพันธุ์จากต้นพันธุ์ เชื้อไวรัสที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อส้มก็จะติดไปกับกิ่งพันธุ์ เมื่อนำกิ่งพันธุ์ไปเพาะปลูกก็จะเกิดปัญหาโรคตามมาและมีการแพร่ระบาดของโรคไปอย่างกว้างขวาง การเพาะปลูกโดยทั่วไปเกษตรกรนิยมใช้ต้นพันธุ์จากกิ่งตอน ซึ่งไม่สามารถทราบได้ว่ามีเชื้อโรคติดอยู่หรือไม่ ถ้ามีการติดเชื้อโรคอยู่ เมื่อนำไปปลูกก็จะทำให้ต้นส้มอ่อนแอ และไม่มีความต้านทานต่อเชื้อราอันเป็นสาเหตุโรครากเน่า ส่งผลทำให้ต้นส้มแสดงอาการทรุดโทรม ตายเร็ว และให้ผลผลิตไม่คุ้มกับการลงทุน และการขยายพันธุ์ส้มด้วยวิธีการแบบเดิม สามารถทำได้เฉพาะฤดูกาล และความพร้อมของวัสดุปลูก แต่การใช้เทคโนโลยีชีวภาพการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช สามารถช่วยเหลือในเรื่องการผลิตต้นพันธุ์ได้
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช คือการนำชิ้นส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ใบ ราก ยอด ตาข้าง มาเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ที่เหมาะสมในสภาพปลอดเชื้อ แล้วเลี้ยงในที่ที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อม ได้แก่ อุณหภูมิ แสง และความชื้น แต่การขยายพันธุ์วิธีนี้ก็ยังมีข้อจำกัด เพราะถึงแม้การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะให้พันธุ์พืชที่ออกมาตรงกับสายพันธุ์เดิม แต่ถ้าในการปฏิบัติการมีการใช้ฮอร์โมนพืช เร่งการเจริญเติบโตที่มากเกินความจำเป็นก็อาจส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ได้เช่นกัน แต่ข้อดีของวิธีการนี้คือ ต้นพันธุ์ที่ได้ มีความแข็งแรง ปลอดเชื้อ สามารถผลิตต้นพันธุ์ปริมาณมากได้ในระยะเวลาสั้น
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อส้มทำได้โดยนำเมล็ดส้มมาฟอกฆ่าเชื้อและเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ โดยจะได้ต้นส้มประมาณ 3-4 ต้นต่อเมล็ด คัดเลือกต้นที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง นำปลายยอดของส้มไปเลี้ยงบนอาหารที่กระตุ้นให้มีการเพิ่มจำนวนของยอด แล้วนำยอดที่ได้ไปเลี้ยงบนอาหารที่ชักนำให้เกิดราก จากนั้นจึงนำออกมาอนุบาลและนำออกเพื่อลงแปลงปลูกต่อไป วิธีนี้นับว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสำหรับการขยายพันธุ์พืชหลายๆ ชนิด เช่น กล้วย ขิง ปทุมมา เป็นต้น และการปรับปรุงพันธุ์พืช
ดังนั้นการใช้ต้นพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นทางเลือกทางหนึ่งเพื่อช่วยลดปัญหาโรคที่ติดมากับกิ่งพันธุ์ เพื่อให้ได้ต้นส้มที่สมบูรณ์แข็งแรงสามารถให้ผลผลิตมีคุณภาพจำนวนมากขึ้น