โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ขณะที่เจ้าหญิงยุโรปา (Europa) แห่งเมืองไทเออร์ (Tyre อยู่ในประเทศเลบานอน) ทรงกำลังเก็บดอกไม้อยู่ในท้องทุ่ง มีวัวสีขาวสวยงามท่าทางเชื่อง เดินมาคลอเคลีย เจ้าหญิงยุโรปาเลยวางพระทัย แล้วทรงลองขึ้นขี่บนหลังวัว
ภาพเจ้าหญิงยุโรปากับวัว บนแจกันศิลปะกรีกโบราณ ประมาณ 480 ปีก่อนคริสตกาล หรือ 2,501 ปีก่อน
ที่มา Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Europa_(consort_of_Zeus)
ทันใดนั้นวัวก็วิ่งลงไปในทะเล และว่ายน้ำพาเจ้าหญิงยุโรปาไปถึงเกาะครีต (Crete) ประเทศกรีซ
เมื่อถึงเกาะครีตวัวตัวนั้นได้แปลงร่างกลับเป็นร่างเดิมคือ เทพเจ้าซูส (Zeus) ราชาแห่งเทพเจ้าทั้งหลาย หลังจากนั้นทั้งคู่ทรงมีโอรสด้วยกัน 3 พระองค์
ชื่อเจ้าหญิงยุโรปาต่อมาได้กลายเป็นชื่อทวีปยุโรป (Europe)
ภาพดวงจันทร์ยุโรปา บริวารของดาวพฤหัสบดี
ที่มา NASA https://photojournal.jpl.nasa.gov/catalog/PIA00502
ยุโรปายังเป็นชื่อดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี 1 ใน 4 ดวง ที่กาลิเลโอ (Galileo Galilei) ค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1610 อีกด้วย
แล้วเทพเจ้าซูสทรงเสกให้มีกลุ่มดาววัว (Taurus) บนท้องฟ้า
กลุ่มดาววัวเป็นที่มาของชื่อเดือนพฤษภาคม คำว่า “พฤษภาคม” มาจากคำว่า “พฤษภ” แปลว่า วัว และคำว่า “อาคม” แปลว่า การมาถึง พฤษภาคมจึงมีความหมายว่า ดวงอาทิตย์มาถึงกลุ่มดาววัว หรือราศีพฤษภ
ภาพดวงอาทิตย์เข้าไปอยู่ในกลุ่มดาววัววันที่ 14 พฤษภาคม 2564
ที่มา แอป Celestron SkyPortal
กลุ่มดาววัวเป็นหนึ่งในกลุ่มดาวจักรราศี (zodiac) 12 กลุ่มดาว ที่ดวงอาทิตย์ผ่านใน 1 ปี ในทางดาราศาสตร์ปีนี้ดวงอาทิตย์จะเข้าไปอยู่ในกลุ่มดาววัววันที่ 14 พฤษภาคม ถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2564 แล้วจะเข้าสู่กลุ่มดาวคนคู่ต่อไป
เราสามารถมองเห็นกลุ่มดาววัวได้ด้วยตาเปล่า แม้ในเมืองที่มีมลพิษแสงมากอย่างกรุงเทพฯ
ดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาววัวคือดาวอัลเดบารัน (Aldebaran) หรือดาวโรหิณี (Rohini แปลว่าสีแดง) อยู่ตรงตาวัว มีความสว่างประมาณ +0.95 เป็นดาวยักษ์สีแดงใหญ่กว่าดวงอาทิตย์เราประมาณ 44 เท่า ห่างจากโลกประมาณ 65 ปีแสง หรือประมาณ 615 ล้านล้านกิโลเมตร
ชื่อดาวอัลเดบารันมาจากภาษาอาหรับ แปลว่า ผู้ติดตาม หมายถึงติดตามดาวลูกไก่
ชื่อดาวโรหิณีมาจากภาษาสันสกฤต มีที่มาจากศาสนาฮินดูว่า พระจันทร์ทรงได้พระธิดาทั้ง 27 องค์ (นักษัตร) ของพระทักษะ (Daksha) เป็นพระชายา แต่พระจันทร์ทรงลำเอียงโปรดแต่โรหิณีองค์เดียว พระชายาอีก 26 องค์ไม่พอพระทัย จึงทรงไปฟ้องพระบิดา พระทักษะกริ้วมากจึงทรงสาปให้พระจันทร์เว้าแหว่ง ภายหลังพระศิวะได้ทรงช่วยพระจันทร์ ทำให้เกิดเป็นข้างขึ้นข้างแรมทุกเดือน
ดาวโรหิณีหรือดาวอัลเดบารันยังเป็นส่วนหนึ่งของกระจุกดาวไฮอาดีส (Hyades) รูปร่างเหมือนตัวอักษร V ในภาษาอังกฤษ โดยดาวอัลเดบารันอยู่ปลายด้านหนึ่งของตัว V คนไทยเรียกกระจุกดาวไฮอาดีสว่า ดาวธง เพราะมองเห็นเป็นธง 3 เหลี่ยม
ภาพกระจุกดาวลูกไก่ ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope)
ที่มา https://hubblesite.org/contents/media/images/2004/20/1562-Image.html
วัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจในกลุ่มดาววัวคือ ดาวลูกไก่ หรือ กระจุกดาวลูกไก่ หรือ กฤติกา (Krittika) ภาษาอังกฤษคือ Pleiades (พลีอาดีส) หรือ Seven Sisters หรือภาษาญี่ปุ่นคือ スバル (Subaru ซูบารุ และกลายเป็นยี่ห้อรถยนต์) และมีชื่อในบัญชีวัตถุเมซีเย (Messier object) ว่า M45
นิทานพื้นบ้านไทยเล่าว่า มีตายายคู่หนึ่งอาศัยอยู่ในป่า วันหนึ่งมีพระธุดงค์ผ่านมา ตายายอยากทำบุญ แต่เนื่องจากเป็นคนยากจน มีเพียงแม่ไก่ที่เลี้ยงไว้ จึงตัดสินใจจะฆ่าแม่ไก่ทำเป็นอาหารไปถวายพระ
แม่ไก่ได้ยินตากับยายคุยกัน จึงมาสั่งเสียร่ำลาลูกไก่ทั้ง 7 ตัว หลังจากนั้นตายายก็จับแม่ไก่ไปฆ่า ลูกไก่ทั้ง 7 ตัว เห็นดังนั้นจึงกระโดดลงกองไฟตายตามแม่ไก่ไป เทวดาเห็นเข้าจึงให้ลูกไก่กลายเป็นดาวอยู่บนท้องฟ้า
นิทานกรีกโบราณไม่เห็นเป็นลูกไก่ แต่เห็นเป็นหญิงสาว 7 คน ลูกสาวของยักษ์แอตลาส (Atlas) กำลังวิ่งหนีนายพรานโอไรออน (Orion คนไทยเรียก ดาวเต่า ดาวไถ)
กระจุกดาวลูกไก่มีความสว่าง +1.6 สามารถเห็นในกรุงเทพฯ ได้ (ในกรุงเทพฯ เห็นดาวที่มีความสว่างไม่เกินประมาณ +3.0)
ในเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ ตอนที่ 18 ระหว่างออกล่องเรือตามหาพระอภัยมณี คืนหนึ่งนางสุวรรณมาลีชวนสินสมุทรกับอรุณรัศมีออกมาดูดาว
“ดูโน่นแน่แม่อรุณรัศมี
ตรงมือชี้ดาวเต่านั่นดาวไถ
โน่นดาวธงตรงหน้าอาชาไนย
ดาวลูกไก่เคียงอยู่เป็นหมู่กัน”
ภาพเนบิวลาปู ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล
ที่มา https://hubblesite.org/contents/news-releases/2005/news-2005-37.html
วัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในกลุ่มดาววัวคือ เนบิวลาปู (Crab Nebula) หรือ M1 เป็นซากดาวระเบิด (supernova remnant) ความสว่าง 8.4 ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่สามารถเห็นได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์