เรื่องโดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์
หากเปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ดูคำว่า “งัว” หรือ “วัว” จะพบความหมายนึงบอกว่า “เป็นชื่อปลาทะเลหลายชนิดหลายสกุล เช่น ในสกุล Triacanthus วงศ์ Triacanthidae, ในสกุล Monacanthus วงศ์ Monacanthidae, ในสกุล Balistes วงศ์ Balistidae, ในสกุล Anacanthus วงศ์ Anacanthidae มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยเฉลี่ยยาว 30 เซนติเมตร บางชนิดยาวได้ถึง 75 เซนติเมตร ผิวหนังหยาบเหนียวหรือเป็นแผ่นกระดูกหนาเรียงติดต่อกัน ฟันเป็นแผ่น ใช้แทะเล็มหาอาหารตามแนวปะการังและพื้นท้องทะเล ก้านครีบหลังก้านแรกและครีบท้องเป็นแท่งกระดูกใหญ่คล้ายเขาสัตว์, บางชนิดมีชื่อเรียกว่า วัว หรือ กวาง”
ปลางัวหรือปลาวัวที่พจนานุกรมยกตัวอย่างมานั้นอยู่ในอันดับ Tetraodontiformes ซึ่งมีญาติร่วมอันดับ คือ ปลาปักเป้าและปลาหนังช้าง ที่จริงแล้วปลาในอันดับนี้มีทั้งปลาทะเลและน้ำจืดขนาดเล็กถึงกลาง มีลักษณะสำคัญคือส่วนหัวโต ปากเล็กมาก มักมีฟันเป็นซี่ใหญ่หรือเป็นแผ่น ช่องเหงือกแคบ ลักษณะรูปร่างเป็นรูปไข่หรือทรงสี่เหลี่ยม คอดหางเรียว ลำตัวกลมหรือแบนข้าง มักไม่มีครีบท้องหรือมีครีบท้องที่แปลงรูปไป ผิวหนังหนา เหนียว มีเกล็ดเป็นหนามเล็กฝังในผิว ส่วนมากว่ายน้ำโดยใช้ครีบหลังและครีบก้น จึงว่ายน้ำได้เชื่องช้า
ปั้นน้ำเป็นปลาฉบับนี้จะแนะนำปลางัวบางชนิดที่พบและเป็นที่รู้จักในน่านน้ำไทยให้รู้จักกัน
วงศ์ปลาวัวสามเงี่ยง (Family Triacanthidae)
มีลักษณะรูปร่างสี่เหลี่ยม เรียวที่คอดหาง ลำตัวแบนข้าง ปากเล็ก จะงอยปากยื่นยาว ฟันซี่เล็ก ที่เกล็ด เล็กมาก ครีบหลังสองตอน ตอนแรกเป็นก้านครีบแข็ง มีอันหน้าสุดใหญ่ยาว ครีบอกเล็ก ครีบท้องมีก้านครีบแข็งยาวแหลม มีก้านเดียวในแต่ละครีบ คอดหางเรียวยาว ครีบหางเว้าลึก อาศัยในชายฝั่งทั่วไป พบ 6 ชนิด เช่น
ปลาวัวสามเงี่ยง (Triacanthus nieuhofii) โคนก้านครีบหลังอันแรกมีสีดำ ครีบหางสีเหลืองสด ขนาดโตสุดมีความยาว 18 เซนติเมตร
ปลาวัวสามเงี่ยงจมูกยาว (Tripodichthys blochii) รูปร่างเรียวกว่าและปากยาวกว่าปลาวัวสามเงี่ยง ขนาดตัวเล็กกว่านิดหน่อย ตาโตกว่า ตัวมีลายขีด ๆ สีน้ำตาล อาศัยตามกองหินและชายฝั่ง
วงศ์ปลาวัวหางพัด (Family Monacanthidae)
ลักษณะรูปร่างเป็นรูปไข่หรือเหลี่ยม ลำตัวแบนข้างมาก เกล็ดมีขนาดเล็กเป็นหนาม ปากเล็ก มีฟันเล็กเป็นเส้นสั้น ๆ ครีบหลังมีสองตอน ตอนแรกมีก้านครีบแข็ง 2 ก้าน ครีบท้องแปลงรูปเป็นก้านแข็งอันเดียวอยู่ใต้ผิว ครีบก้นยาว ครีบหางตัดตรงหรือโค้งเป็นรูปพัดหรือมีปลายแหลม สีลำตัวมีลวดลายต่าง ๆ แล้วแต่ชนิด อาศัยตามชายฝั่งและแนวปะการัง พบ 18 ชนิด
ตัวอย่างเช่น ปลาวัวหางพัด (Monacanthus chinensis) ลำตัวคอดหางมีหนามเป็นตะขอสั้น 3 คู่ ครีบหางใหญ่ มีขนาดโตสุดมีความยาว 17 เซนติเมตร
วงศ์ปลาวัว (Family Balistidae)
ปลาในวงศ์นี้มีหนังเหนียว เกล็ดแข็งคล้ายเกราะหุ้ม ปากเล็ก มีฟันซี่ใหญ่ อาศัยตามแนวปะการัง กองหิน พบทั้งหมด 21 ชนิด ชนิดที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ ปลาวัวไททัน (Balistoides viridescens) เป็นปลาวัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร โดยนิสัยแล้วมันค่อนข้างก้าวร้าว แต่ก็จะอยู่ในอาณาเขตของตัวเอง หากคนรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของมันอาจโดนจู่โจมได้ ตามข่าวที่เราเห็นกันบ่อย ๆ ว่ามักจะมีนักดำน้ำถูกเจ้าปลาวัวไททันทำร้าย