“สิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพ” ที่ระบุว่า “ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการดำรงชีวิตที่เพียงพอสำหรับสุขภาพและสุขภาวะของตนเอง และครอบครัว ประกอบด้วยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และบริการทางสังคมที่จำเป็น” ตามข้อ 5 ของ “ปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948“ ทำให้มุมมองของประชาชนส่วนใหญ่ต่อ “บัญชียาหลักแห่งชาติ” เป็นไปในทิศทางที่ตอบสนองความต้องการ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ต่อโอกาสสู่การมี “ชีวิตที่ยืนยาว”
รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงอุษา ฉายเกล็ดแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม “แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์“ อุทิศตนเพื่อการศึกษาความคุ้มค่าของยา พร้อมสิทธิประโยชน์ต่างๆ ไม่เพียงด้วยทักษะและประสบการณ์ในการประยุกต์ใช้ “ข้อมูลด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์” แต่ด้วยความสามารถในการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกลไกการเกิดโรคอย่างถ่องแท้รอบด้าน ก่อนได้บทสรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบายนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้มีอำนาจตัดสินใจ
หนึ่งในผลงานที่สร้างความภูมิใจ ได้แก่ การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของ “วิธีการตรวจวัณโรค“ ซึ่งเป็นโรคที่หากได้รู้ผลเร็ว ยิ่งช่วยลดการแพร่เชื้อ และเข้าสู่การรักษาได้เร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น
โดยได้มีการเปรียบเทียบวิธีการเทคนิคทางอณูชีววิทยา ซึ่งนับเป็น ”วิธีการตรวจวัณโรคแบบใหม่“ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง แต่สามารถทราบผลได้อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วัน กับ “วิธีการตรวจวัณโรคแบบเดิม“ ที่ต้องรอการเพาะเชื้อเป็นเวลานานนับเดือน
รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงอุษา ฉายเกล็ดแก้ว กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่ยาบางชนิดไม่ได้รับการบรรจุใน “บัญชียาหลักแห่งชาติ” อาจเนื่องมาจาก “ขาดข้อมูลด้านความคุ้มค่า” ด้านงบประมาณ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ และสถานพยาบาล
ด้วยนวัตกรรม “แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์” เพื่อศึกษาความคุ้มค่าของยา พร้อมสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่คิดค้นขึ้นดังกล่าว แม้ใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ที่เป็นสมการเดียวกัน แต่ปัจจัยเฉพาะของแต่ละโรค นับตั้งแต่เริ่มป่วย เข้ารับการรักษาอาการของโรคในระยะต่างๆ โดยครอบคลุมการกลับมาเป็นซ้ำ จนกระทั่งเสียชีวิต จำเป็นที่จะต้องศึกษาอย่างทุ่มเทเพื่อให้ได้บทสรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เหมาะสมมากที่สุด
เปี่ยมด้วยความภาคภูมิใจในความเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากการเป็นเบื้องหลังในการจัดทำ และผลักดัน “ยาหรือสิทธิประโยชน์ใหม่” ที่ใช้รักษาและวินิจฉัยโรคในกลุ่มซึ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อมนุษยชาติ อาทิ วัณโรค ตับแข็ง ไวรัสตับอักเสบซี มะเร็งเต้านม และโรคพิษสุนัขบ้า ให้ได้เข้าสู่ “บัญชียาหลัก” และ “ชุดสิทธิประโยชน์” ในประเทศไทยแล้ว
รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงอุษา ฉายเกล็ดแก้ว ยังได้ขยาย “ผลแห่งความสุข” จากการได้ “เข้าถึงโอกาส” สู่การมี “ชีวิตที่ยืนยาว” ไปยังประเทศต่างๆ ที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางในแถบภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เพื่อให้ได้รับการบรรจุสิทธิประโยชน์ต่างๆ ใน “บัญชียาหลัก” ซึ่งผ่านการกลั่นกรองเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
จากผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ส่งผลให้ รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงอุษา ฉายเกล็ดแก้ว จึงได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 ประเภทดีเด่นเฉพาะทาง สาขาการวิจัย โดยจะเข้ารับพระราชทานฯ จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 นี้
ถึงปัจจุบัน รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงอุษา ฉายเกล็ดแก้ว ยังคงทำหน้าที่ผู้อุทิศผลักดันสิทธิประโยชน์ ซึ่งไม่เพียงเจิดจรัสในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน แต่ยังได้ส่องสว่างไปยังประเทศต่างๆ ในแถบทวีปแอฟริกาที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำ และผลักดันบัญชียาหลัก พร้อมสิทธิประโยชน์ต่างๆ อุทิศเพื่อชาวสาธารณรัฐเคนยา และชาวสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย ต่อไป
ด้วย “หัวใจ” ที่พร้อมอุทิศเพื่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งนับเป็น “ความสำเร็จที่แท้จริง” อันเป็น “ปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหิดล” ตามรอยแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “พระราชบิดา” ของชาวมหาวิทยาลัยมหิดล สืบไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210