โรคซึ่งมีสาเหตุจากกลไกการเกิดโรคที่ซับซ้อน มักอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง NCDs โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโลกอย่างรุนแรง
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ฉัตรชัย เหมือนประสาท ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญาและวิจัย และอาจารย์ประจำโรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “เบาหวาน” เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะ “ไตเสื่อม” ซึ่งเป็นหนึ่งในโรค NCDs ที่มีกลไกการเกิดโรคที่ซับซ้อนในระยะรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ “เครื่องฟอกไต” เพื่อทดแทนการทำงานของไต ในการขจัดของเสียภายในร่างกายที่กำลังอยู่ในสภาวะไม่สมดุล
ซึ่งการมีภาวะน้ำตาลเกินเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เซลล์ไตไม่แข็งแรง ไปจนถึงเกิดการอักเสบในเลือดจนเป็นพิษต่อไต
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ฉัตรชัย เหมือนประสาท และทีมวิจัย ประสบผลสำเร็จจากการค้นพบสารสังเคราะห์ที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากสารชาลโคน (chalcone) ที่พบในสมุนไพรหลายชนิด เช่น ชะเอมเทศ เป็นต้น ที่ป้องกันภาวะไตเสื่อมในสัตว์ทดลองที่เป็นไตจากเบาหวานครั้งแรก โดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Biomedicine & Pharmacotherapy”
ซึ่งเป็นการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างนักวิจัยชีววิทยา – เคมีจาก 2 สถาบันอุดมศึกษาของไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ทุนวิจัยร่วมไทย-จีนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) และ มหาวิทยาลัยมหิดล และการสนับสนุนสัตว์ทดลองที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้อยู่ในสภาวะตามโจทย์วิจัยจาก สถาบันแคโรลินสกา (Karolinska Institute) ราชอาณาจักรสวีเดน
ไตเสื่อมมีกลไกการเกิดโรคที่ซับซ้อน ไม่ได้เกิดจากภาวะเบาหวานเพียงสาเหตุเดียว และปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันและรักษาโรคดังกล่าว
โดยทีมวิจัยคาดว่าการค้นพบสารสังเคราะห์ที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากสารที่พบในสมุนไพรไทยดังกล่าว จะเป็นความหวังสู่การพัฒนา “ยาตำรับใหม่” เพื่อมวลมนุษยชาติปลอดโรคไต และเบาหวานได้ต่อไปในอนาคต
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210