หนึ่งในรายการพื้นฐานของการตรวจสุขภาพประจำปี คือ การเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเลือด ซึ่งสามารถช่วยบ่งชี้เบื้องต้นในเรื่องของ “ภาวะซีด” ชนิดซึ่งพบได้บ่อยในคนไทย คือ โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron Deficiency Anemia) และธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ซึ่งมีลักษณะผลตรวจทางห้องปฏิบัติการที่คล้ายคลึงกันมาก จึงจำเป็นต้องใช้การตรวจยืนยันอีกหลายการทดสอบเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัย
ธาลัสซีเมียเป็นภัยเงียบที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยอาจไม่แสดงอาการใน “ผู้ที่เป็นพาหะ หรือมียีนแฝง” และไม่อาจทราบได้หากไม่ได้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
ในปัจจุบันพบคนไทยเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย ประมาณร้อยละ 30 – 40 หรือประมาณ 20 ล้านคน และมีผู้ป่วยกว่า 5 แสนราย
ด้วยโปรแกรม “ThalPred” (Thalassemia Prediction) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ใหม่ ช่วยตรวจคัดกรองโรคเลือดจากพันธุกรรม “ธาลัสซีเมีย” ที่มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมมอบเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” จะได้ทำให้ประชาชนคนไทยในวันนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการเข้าถึงการคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข และส่งผลกระทบเชิงลึกต่อสังคม และเศรษฐกิจของประเทศ
จากงบประมาณที่จะต้องสูญเสียเป็นจำนวนมหาศาลไปกับการตรวจพิเศษทางห้องปฏิบัติการ และการรักษาพยาบาล ซึ่ง ThalPred จะเข้ามามีส่วนช่วยให้แพทย์ตัดสินใจ และวางแผนการวินิจฉัยเบื้องต้น พร้อมเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง แม่นยำ ลดภาระงานของนักเทคนิคการแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการตรวจวินิจฉัย เพื่อการรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.พรลดา นุชน้อย ศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรม ทีมนักวิจัย และนักศึกษาของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้สร้างสรรค์ และพัฒนาโปรแกรม “ThalPred” ได้กล่าวถึงเทคโนโลยี AI ที่ใช้ในการช่วยวินิจฉัยโรคเลือดจากพันธุกรรม “ธาลัสซีเมีย” ว่าเป็นการใช้ “Machine Learning” หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถเรียนรู้ จดจำรูปแบบข้อมูลของผู้ป่วย คำนวณ วิเคราะห์ สร้างอัลกอริธึม (algorithm) ที่เหมาะสม เพื่อทำให้เกิดการตัดสินใจได้เหมือน หรือดีกว่ามนุษย์
รองศาสตราจารย์ ดร.พรลดา นุชน้อย ศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรม คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สร้างสรรค์ และพัฒนาโปรแกรม “ThalPred”
ซึ่งการตรวจดูความสมบูรณ์ของเลือด เพื่อบ่งชี้ “ภาวะซีด” เรียกว่า “การตรวจ CBC” (Complete Blood Count) ซึ่งเป็นการตรวจพื้นฐานที่บรรจุอยู่ในโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปีทั่วไป
โดยจะประกอบไปด้วยการตรวจเพื่อดูพารามิเตอร์ต่างๆ เช่น จำนวนและรูปร่างของเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ ปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่น (Hematocrit: Hct) ปริมาณฮีโมโกลบิน (Hemoglobin:Hb) ซึ่งมีประโยชน์ช่วยค้นหาสัญญาณความผิดปกติของร่างกายเพื่อการป้องกันและรักษาโรค
“ค่าพารามิเตอร์” ที่ได้จากการตรวจ CBC สามารถนำไปกรอกในโปรแกรม “ThalPred” โดยจะใช้พารามิเตอร์ดังต่อไปนี้ 1.จำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดง (RBC) 2.ปริมาณฮีโมโกลบิน (Hb) 3.ปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่น (Hct) 4.ค่าเฉลี่ยขนาดของเม็ดเลือดแดง (MCV) 5.ค่าเฉลี่ยฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง (MCH) และ 6.ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง (MCHC)
โดยในเบื้องต้นโปรแกรม “ThalPred” ช่วยวินิจฉัยโรคเลือดจากพันธุกรรม “ธาลัสซีเมีย” ด้วย AI ได้จดลิขสิทธิ์ในนาม “มหาวิทยาลัยมหิดล” และเผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติแล้ว และกำลังพัฒนาเวอร์ชันถัดไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้งานให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
อาการเหนื่อยง่ายเมื่อออกแรง อ่อนเพลีย หน้ามืด เวียนศีรษะ ใจสั่น พบได้ใน “ผู้ที่มีภาวะซีด” ซึ่ง “ภาวะซีด” อาจจะเกิดจากการขาดสารอาหารจำพวกธาตุเหล็ก สามารถรักษาได้ด้วยการให้ธาตุเหล็ก
ในขณะที่ซีดจาก “ธาลัสซีเมีย” ซึ่งเป็นโรคเลือดทางพันธุกรรมทำให้กระบวนการสร้างฮีโมโกลบินมีความผิดปกติ มีอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่ไม่มีอาการ จนถึงรุนแรงแบบที่จำเป็นต้องได้รับเลือด
หากสงสัยว่ามีภาวะซีด หรือมีปัจจัยเสี่ยง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมไปถึงการตรวจเพื่อวางแผนมีบุตร ซึ่งจะช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคธาลัสซีเมียในประชากรไทยได้
ผู้สนใจสามารถเข้าไปศึกษาโปรแกรม “ThalPred” ช่วยวินิจฉัยโรคเลือดจากพันธุกรรม “ธาลัสซีเมีย” ด้วย AI โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ https://codes.bio/thalpred/
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210