เที่ยวหล่ม ชมถ้ำ ณ อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท

เรื่องโดย นุรักษ์ จิตต์สะอ้าน


สวัสดีครับผู้อ่านที่รักทุกท่าน เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาพื้นที่ลุ่มน้ำในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย มีฝนตกอย่างหนักและต่อเนื่องอยู่หลายวันจนทำให้เกิดอุทกภัยที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างหนัก แต่คนไทยเราไม่เคยทิ้งกันอยู่แล้ว หลายภาคส่วนทั้งภาคประชาชน เอกชน และหน่วยงานราชการหลายแห่ง ต่างก็ระดมสรรพกำลังให้ความช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยให้ผ่านช่วงเวลายากลำบากนี้ไปได้นะครับ ส่วนจังหวัดในที่ราบลุ่มภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครก็ต้องเตรียมรับมือกับมวลน้ำมหาศาลนี้ ให้ผ่านไปลงอ่าวไทยโดยมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจให้น้อยที่สุดด้วย

สาระวิทย์ฉบับนี้ ผู้เขียนขอนำผู้อ่านไปสัมผัสกับบรรยากาศที่แฝงไปด้วยความลึกลับ สวยงาม ร่องรอยอารยธรรมในยุคโบราณที่น่าค้นหา จากการไปท่องเที่ยวที่มีองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานอยู่อย่างละเล็กละน้อยกันในพื้นที่อำเภองาวและอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ หล่มภูเขียว สระน้ำมรกตท่ามกลางหมู่แมกไม้บนเขาหินปูน ถ้ำผาไท ถ้ำเก่าแก่ที่ยังคงมีชีวิตด้วยความงามของหินงอกหินย้อยจนถึงปัจจุบัน และแหล่งภาพเขียนสีโบราณ ประตูผา ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์แหล่งใหญ่ที่สุดในเขตภาคเหนือตอนบน

แห่งแรกที่จะเริ่มต้นพาไปเที่ยวชม คือ หล่มภูเขียว ซึ่งมีลักษณะเป็นสระน้ำที่อยู่ท่ามกลางป่าดิบแล้งในภูมิประเทศที่เป็นระบบนิเวศเขาหินปูน คล้ายกับเป็นสระน้ำที่อยู่บนปากปล่องภูเขาไฟก็ไม่ปาน หล่มภูเขียวตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) อำเภองาว จังหวัดลำปาง โดยอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติฯ ขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 32 กิโลเมตร ในวันที่ผู้เขียนเดินทางไปเป็นช่วงกลางเดือนสิงหาคมซึ่งสภาพภูมิอากาศเต็มไปด้วยก้อนเมฆและท้องฟ้าปิดจึงมองเห็นผืนน้ำในสระเป็นสีเขียวมรกต แต่ถ้าวันใดที่ท้องฟ้าสดใสและมีแสงแดดส่องลงมา พื้นผิวของสระน้ำจะเป็นสีฟ้าใส สามารถมองเห็นปลาตัวใหญ่ที่ว่ายไปมาประหนึ่งล่องลอยอยู่กลางอากาศเลยทีเดียว ยังไม่มีใครดำน้ำลงไปสำรวจอย่างแท้จริงว่าก้นสระมีความลึกเท่าไหร่ แต่คาดการณ์กันว่าอาจลึกถึง 40 เมตรเลยทีเดียว

แห่งที่สองที่จะเดินทางไปกันต่อคือ ถ้ำผาไท โดยขับรถมาตามถนนพหลโยธินเพื่อมุ่งหน้ากลับตัวเมืองลำปาง ผ่านตัวอำเภองาวมาประมาณ 20 กิโลเมตรก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ที่นี่จะมีจุดลงทะเบียนเพื่อให้ทราบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไปในถ้ำจำนวนเท่าไหร่ และมีบริการมัคคุเทศก์น้อย ซึ่งก็คือน้องนักเรียนที่มีบ้านอยู่ใกล้ถ้ำมาหารายได้พิเศษเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยการนำและบรรยายข้อมูลให้แก่นักท่องเที่ยว นับว่าเป็นการใช้เวลาว่างในวันหยุดให้เกิดประโยชน์ได้หลายอย่างทีเดียว

ถ้ำผาไทเป็นถ้ำขนาดใหญ่ เกิดจากภูเขาหินปูน มีความลึกประมาณ 1,150 เมตร โดยจัดเป็นเส้นทางเดินเข้าชมภายในถ้ำประมาณ 450 เมตร ตลอดเส้นทางเดินได้ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเพื่อให้นักท่องเที่ยวชมความงามของหินงอก (stalagmite) หินย้อย (stalactite) เสาหิน (column or pillar) และเพื่อความปลอดภัยในการเที่ยวชมภายในถ้ำ ที่ถ้ำผาไทแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เคยเสด็จประพาสเมื่อปี พ.ศ. 2469 โดยทรงลงพระปรมาภิไธยย่อ ปปร. บริเวณโถงปากทางเข้าถ้ำอีกด้วย

ทั้งนี้เมื่อพูดถึงระบบนิเวศภายในถ้ำ นอกเหนือจากแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น แคลเซียมคาร์บอเนตแล้ว หลายคนมักจะนึกถึงสิ่งมีชีวิตภายในถ้ำด้วยเช่นกัน จากข้อมูลการสำรวจสิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ พบสัตว์ป่าชนิดสำคัญที่อาศัยอยู่ภายในถ้ำผาไท ได้แก่ ค้างคาว จำนวน 3 ชนิด คือ

  • ค้างคาวหน้ายักษ์ทศกัณฐ์ (great leaf-noted bat: Hipposideros armiger) มีลักษณะเด่นที่แผ่นหนังรอบจมูกจำนวน 4 แผ่น กินแมลงปีกแข็งเป็นอาหาร ในถ้ำผาไทมีประชากรไม่มากและพบไม่ตลอดทั้งปี ในฝูงหนึ่งมีประชากรอยู่ราว 200 ตัว มีพฤติกรรมการเลี้ยงลูกอย่างดี มักไม่ตกเป็นเหยื่อของงูผู้ล่าภายในถ้ำมากนัก อาจเนื่องจากประชากรที่ไม่มากและสถานที่เลือกเกาะนอนเป็นที่ที่งูเลื้อยขึ้นไปค่อนข้างยาก
  • ค้างคาวปีกถุงเคราดำหรือค้างคาวลูกหนู (black-bearded tomb bat: Taphozous melanopogon) มีลักษณะเด่นที่หางจะยื่นออกมาจากบริเวณพังผืดอย่างชัดเจน กินแมลงเป็นอาหารเช่นกัน เป็นชนิดที่พบมากที่สุดและมักเกาะนอนในหลายบริเวณ ประชากรมีมากถึง 5,000 ตัวโดยประมาณ พบว่ามีพฤติกรรมการอพยพย้ายถิ่นในฤดูหนาว มีพฤติกรรมการเลี้ยงลูกที่ไม่เก่งนัก มักจะพบว่าลูกร่วงตกไปบนพื้นถ้ำ จึงเป็นเหยื่อของงูผู้ล่าและสัตว์ประเภทอื่นบ่อยที่สุด
  • ค้างคาวแวมไพร์แปลงใหญ่ (greater false vampire bat: Megaderma lyra) ลักษณะเด่นอยู่ที่ใบหูยาวแต่มีลำตัวที่เล็ก เป็นชนิดที่พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก ที่ถ้ำผาไทมีประชากรน้อยเพียง 30 ตัว โดยประมาณ กินแมลง ลูกนก ลูกหนู และสัตว์ขนาดเล็ก เช่น เขียด กิ้งก่า โดยพบว่าเมื่อกินเหยื่อเสร็จมักทิ้งเศษซากของเหยื่อหล่นตามพื้นถ้ำอยู่เป็นประจำ

ส่วนเจ้า “งูผู้ล่า” ที่เรากล่าวถึงว่ามักจะล่าค้างคาวในถ้ำหรือลูกค้างคาวที่หล่นตามพื้นถ้ำเป็นอาหาร คือ งูกาบหมากหางนิล (cave dwelling snake: Elaphe taeniura ridleyi) เป็นงูอีกชนิดหนึ่งที่หาพบเจอยาก เพราะมักดำรงชีวิตอยู่ในถ้ำ โดยเฉพาะถ้ำที่มีค้างคาว เนื่องจากอาหารหลักของงูกาบหมากหางนิลก็คือค้างคาวนั่นเอง แท้จริงแล้วงูกาบหมากหางนิลเป็นงูที่ไม่มีพิษและมีนิสัยไม่ดุร้าย และมักจะถูกผูกโยงในเรื่องเล่าลึกลับว่าเป็นงูเฝ้าสมบัติภายในถ้ำอีกต่างหาก

หินงอก (stalagmite)

หินที่มีลักษณะเหมือนงอกออกมาจากพื้นถ้ำ เกิดมากในถ้ำภูเขาหินปูน เมื่อฝนที่ตกลงมามีคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ละลายเจือปนมาด้วย กลายเป็นกรดคาร์บอนิก (H2CO3) ไหลผ่านและซึมมาทำปฏิกิริยากับแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ในหินปูน จึงเกิดการกัดเซาะ เกิดเป็นสารละลายแคลเซียมไฮโดรเจนคาร์บอเนตตกตะกอนหยดลงมาสู่พื้นด้านล่าง เมื่อน้ำระเหยไป ตะกอนดังกล่าวจึงจับตัวเป็นแท่งมีลักษณะเป็นหินงอกตามพื้นถ้ำ

หินย้อย (stalactite)

หินที่มีลักษณะเหมือนย้อยลงมาจากเพดานถ้ำในวัฏจักรการเกิดเดียวกับหินงอก แต่เป็นส่วนที่ตะกอนเกาะตัวด้านบนเพดานส่งหยดน้ำที่เป็นสารละลายแคลเซียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต บางส่วนตกลงมาสู่พื้นด้านล่าง โดยที่ตะกอนบางส่วนเกิดสะสมและจับตัวเป็นแท่งมีลักษณะเป็นหินย้อยตามเพดานถ้ำ

เสาหิน (column or pillar)

เป็นปรากฏการณ์ที่หินงอกและหินย้อยสะสมและจับตัวกันเป็นแท่งที่ยาวมากเพียงพอและบรรจบเหมือนหลอมรวมเป็นเสาแท่งเดียวกัน

แห่งที่สามที่จะไปเยือนคือ แหล่งภาพเขียนสีโบราณ ประตูผา หลังดื่มด่ำความสวยงามของถ้ำผาไทแล้ว ผู้เขียนออกเดินทางไปตามถนนพหลโยธินกลับเข้าสู่ตัวเมืองลำปาง เมื่อพ้นเขตอำเภองาวเข้าสู่เขตอำเภอแม่เมาะจะมองเห็นทิวเขาหินปูนขนาดใหญ่รูปร่างแนวตัดเป็นแนวหน้าผาดูยิ่งใหญ่น่าเกรงขาม จุดหมายข้างหน้าคือศาลเจ้าพ่อประตูผา ซึ่งมีที่จอดรถก่อนถึงกองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 3 ค่ายประตูผาประมาณ 4 กิโลเมตร

แหล่งภาพเขียนสีโบราณ ประตูผา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง ดำเนินการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์โดยกองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 3 ค่ายประตูผา (กองทัพภาคที่ 3) มีการจัดทำเส้นทางเดินศึกษาภาพเขียนสีตามแนวหน้าผาจำนวน 7 กลุ่ม ประกอบด้วย

  • กลุ่มที่ 1 ผาเลียงผา
  • กลุ่มที่ 2 ผานกยูง
  • กลุ่มที่ 3 ผาวัว
  • กลุ่มที่ 4 ผาเต้นระบำ
  • กลุ่มที่ 5 ผาหินตั้ง
  • กลุ่มที่ 6 ผานางกางแขน
  • กลุ่มที่ 7 ผาล่าสัตว์

จากการศึกษาทางด้านโบราณคดีโดยกรมศิลปากร พบว่าเนื้อหาของภาพเขียนสีทำให้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับการดำรงชีวิตที่น่าจะมีทั้งการล่าสัตว์และการเลี้ยงสัตว์ ทำให้ทราบถึงสภาพแวดล้อมในอดีต ทราบถึงลักษณะการแต่งกายของคนในสมัยนั้น ตลอดจนประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับความตายหรือการปลงศพ

ภาพเขียนด้วยสีแดงที่มีความเข้มจางของสีต่างกันในแต่ละภาพ สีแดงที่ใช้เขียนน่าจะมาจากดินเทศ เพราะพบหลักฐานจากการขุดค้นบริเวณเพิงผาใต้ภาพเขียนสีกลุ่มที่ 1 ซึ่งพบก้อนดินเทศมีร่องรอยการขัดฝนจนเรียบ และโครงกระดูกตรงช่วงปลายแขน มือ และต้นขาที่มีกลุ่มดินเทศวางตัวเรียงเป็นแนวยาวและติดแน่นกับโครงกระดูก คาดว่าแหล่งวัตถุดิบของดินเทศน่าจะมาจากภายในพื้นที่ เพราะในแอ่งประตูผา โดยเฉพาะบริเวณเนินเขาต่าง ๆ พบก้อนดินเทศหรือหินสีแดงขนาดต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วไป

AMS Dating คืออะไร

AMS Dating ย่อมาจากคำว่า Accelerator Mass Spectrometry Dating คือ การหาอายุของโบราณวัตถุโดยเปลี่ยนคาร์บอน-14 ซึ่งเป็นธาตุกัมมันตรังสีที่อยู่ในโบราณวัตถุให้อยู่ในรูปไอออน แล้วแยกออกมาด้วยสนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็ก จากนั้นนำไปคำนวณหาอายุโบราณวัตถุเทียบเคียงกับครึ่งชีวิต (half life) ของคาร์บอน-14 ที่เท่ากับ 5,730 ปี

นอกจากนี้ยังมีการขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีในบริเวณใกล้เคียง เช่น โครงกระดูกมนุษย์ กระดูกสัตว์ ภาชนะดินเผา ขวานหินขัด ลูกปัด และนำเอาอินทรียวัตถุทางโบราณคดีที่พบ เช่น เมล็ดข้าว โครงกระดูกมนุษย์ ฯลฯ มาหาอายุด้วยวิธีการ AMS dating พบว่า มีอายุอยู่ระหว่าง 3,000–3,200 ปี ก่อนปัจจุบัน โดยประมาณ

ก่อนจะจบทริปในสาระวิทย์ฉบับนี้ ผู้เขียนขอให้ผู้อ่านทุกท่านรักษาสุขภาพในช่วงคาบเกี่ยวกลางฤดูฝนค่อนไปทางปลายฤดูฝน และเช่นเคยครับ…อย่าลืมแบ่งเวลาท่องเที่ยวเพื่อชื่นชมความสวยงามและความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม พร้อมกับเรียนรู้วิทยาศาสตร์ใกล้ตัวเราอย่างเพลิดเพลินกันนะครับ


อ่านบทความพร้อมภาพประกอบฉบับเต็มได้ที่

About Author