จ๊ะจ๋าหน้าฝน…ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

เรื่องโดย นุรักษ์ จิตต์สะอ้าน


ในที่สุดพวกเราก็ได้ก้าวข้ามฤดูร้อนที่แสนร้อนแรงกันมาจนได้และกลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว เจอกันใหม่ปีหน้านะจ๊ะฤดูร้อน ปีนี้ผู้เขียนมีความรู้สึกว่าฝนเหมือนจะมาไวกว่าเมื่อปีกลาย และพอกลับไปตรวจสอบข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าปี พ.ศ. 2567 นี้ ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม และในปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม นับว่าความรู้สึกของผู้เขียนยังมีความถูกต้องอยู่ 2 วัน โดยในปีนี้จะมีฝนมากกว่าปีที่แล้ว ในขณะที่ช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคมจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงอยู่ในราว 1 เดือน ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมจะเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด

สาระวิทย์ฉบับนี้ผู้เขียนขอนำท่านผู้อ่านไปสัมผัสบรรยากาศอันแสนสดชื่นของฝนแรกและส่องนกในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูฝนกันที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์กันครับ

เมื่อราวกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เดินทางมุ่งหน้าสู่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 จากตัวเมืองเชียงใหม่ ก่อนจะเลี้ยวขวาก่อนถึงตัวอำเภอจอมทอง ไปตามทางแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1009 เพื่อเดินทางต่อไปสู่จุดสูงสุดในสยาม ที่ระดับความสูง 2,565 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง นั่นคือจุดสิ้นสุดของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1009 …ยอดดอยอินทนนท์

ทันทีที่ได้เดินทางเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติฯ เราจะค่อย ๆ พบระบบนิเวศป่าไม้ที่แตกต่างกันไป 4 ประเภท ประกอบด้วย ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ พบได้ทั่วไปบริเวณพื้นที่ด้านล่างรอบอุทยานแห่งชาติฯ ที่ระดับความสูง 400–800 เมตร โดยมีพันธุ์ไม้ที่โดดเด่นในป่าเต็งรัง ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง ก่อแพะ มะขามป้อม พันธุ์ไม้เด่นในป่าเบญจพรรณ ได้แก่ สัก ตะแบก ประดู่ แดง ซ้อ รวมถึงไผ่ชนิดต่าง ๆ ป่าดิบแล้ง ซึ่งพบในระดับความสูง 400–1,000 เมตร บริเวณตอนล่างจนถึงบริเวณตอนกลาง กระจายเป็นหย่อมเล็ก ๆ ตามบริเวณริมลำห้วยสายต่าง ๆ พันธุ์ไม้เด่นที่พบ ได้แก่ ยางแดง ยางนา ตะเคียนทอง ก่อเดือย ไทรย้อย มะเดื่อ และเมื่อเราเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาไปเรื่อย ๆ จากระดับความสูงตั้งแต่ประมาณ 1,000 เมตรขึ้นไป ระบบนิเวศจะเริ่มเป็นป่าดิบเขา พันธุ์ไม้เด่นที่พบ ได้แก่ สนสามใบ สารภีดอย จำปีหลวง นางพญาเสือโคร่ง หลายแห่งมีลักษณะคล้ายป่าดึกดำบรรพ์ ตามกิ่ง ยอด และลำต้นของต้นไม้อยู่ท่ามกลางไอหมอกและละอองน้ำเล็ก ๆ จึงปกคลุมไปด้วยมอส กล้วยไม้ และเฟิร์นหลากหลายชนิด ประหนึ่งเราเดินอยู่ในดินแดนแห่งเทพนิยายกันเลยทีเดียว

กิจกรรมการส่องนกหรือดูนก (bird watching) เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสายธรรมชาตินิยมทำกันในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โดยช่วงเวลาที่นิยมกันมากที่สุดคือช่วงฤดูหนาว เป็นช่วงเวลาที่นักดูนกจะได้มีโอกาสพบเจอนกป่านานาชนิดทั้งที่เป็น

  • นกประจำถิ่น (resident) หมายถึง นกที่พบเห็นได้ตลอดปี
  • นกอพยพ (winter visitor) หมายถึง นกที่ปกติจะทำรังวางไข่ทางตอนเหนือและตอนกลางของทวีปเอเชียในช่วงสภาพอากาศหนาวจัดทางตอนเหนือ ราวเดือนกันยายนถึงตุลาคมก็จะย้ายถิ่นลงมาอาศัยทางใต้แถบประเทศไทย เมื่ออุณหภูมิทางตอนใต้ร้อนจัด จึงอพยพกลับไปหากินยังพื้นที่ตอนเหนือและตอนกลางของทวีปเอเชียอีกครั้งในช่วงเดือนเมษายนถึง พฤษภาคมของปีถัดไป
  • นกอพยพผ่าน (passage migrant) หมายถึง นกอพยพที่หยุดแวะพักหาอาหารในประเทศไทยเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อสะสมไขมันและพลังงาน ก่อนบินต่อลงไปทางทิศใต้ เลยไปจนถึงประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลีย โดยบางชนิดอาจมีโอกาสพบในประเทศไทยเพียงระยะเวลาไม่กี่วัน ในช่วงต้นฤดูหนาวและปลายฤดูร้อน
  • นกอพยพมาทำรังวางไข่ (breeding visitor) หมายถึง นกบางชนิดที่ย้ายถิ่นเข้ามาในประเทศไทยเพียงเพื่อทำรังวางไข่ในช่วงฤดูร้อนถึงฤดูฝน หรือปลายฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว

แต่การมาดูนกของเราในครั้งนี้เป็นช่วงส่งท้ายหน้าร้อนต้อนรับหน้าฝน ดังนั้นจึงมีโอกาสพบเพียงนกในกลุ่มที่เป็นนกประจำถิ่น ส่วนนกอพยพและนกอพยพผ่านก็จะอพยพกลับทางเหนือขึ้นไปกันหมดตั้งแต่ที่ประเทศไทยร้อนจัดตอนต้นเดือนเมษายนแล้ว

จุดที่ใช้เป็นจุดส่องนกนั้นเราควรเลือกบริเวณที่จอดรถที่ไม่ไปรบกวนการจราจรของผู้ใช้เส้นทางท่านอื่น เริ่มต้นกันตั้งแต่ช่วงเวลาที่มีแสงแรกของวันราว 6.30 น. เป็นต้นไป โดยช่วงเช้าจนถึงสาย ๆ เป็นช่วงที่นกป่าส่วนใหญ่เริ่มต้นหากินในแต่ละวัน จึงเป็นช่วงเวลาที่นกจะกระฉับกระเฉง กระตือรือร้น (active) เป็นพิเศษ จากนั้นช่วงสาย ๆ ไปจนถึงเที่ยง ๆ บ่าย ๆ เป็นช่วงที่นกเริ่มหลบพักผ่อนนิ่ง ๆ และจะเริ่มกระฉับกระเฉงกันอีกครั้งก็เมื่อเริ่มบ่ายคล้อย เป็นบ่ายแก่ ๆ แดดร่มลมตก ไปจนพระอาทิตย์เริ่มลาลับขอบฟ้า เป็นอันว่าไม่เพียงแต่นกส่วนใหญ่ต้องหลับนอน เราเอง (นักดูนก) ก็ต้องพักผ่อนนอนหลับเฉกเช่นเดียวกัน สำหรับการแต่งกายควรให้มิดชิด ใส่เสื้อแขนยาวกางเกงขายาวเพื่อเป็นการป้องกันแสงแดดและแมลงไปในตัว แต่ไม่จำเป็นต้องปกปิดมิดชิดเสียจนอึดอัดไม่สบายตัว รองเท้าควรเป็นรองเท้าผ้าใบเพื่อความคล่องตัวและกระฉับกระเฉงในการก้าวเดินในป่า

เราเลือกบริเวณดูนกออกเป็น 3–4 จุดใหญ่ ๆ ตามลักษณะชนิดของสังคมป่า จุดแรกคือบริเวณป่าเต็งรังและเบญจพรรณด้านล่าง ซึ่งเจอนกเหยี่ยวแมลงปอขาแดง (collared falconet) นกจาบคาหัวสีส้ม (chestnut-headed bee-eater) นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง (golden-fronted leafbird) นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง (black-headed woodpecker)

จุดต่อมาคือตรงบริเวณป่าดิบแล้งไปจนถึงป่าดิบเขาตอนล่าง ตั้งแต่น้ำตกวชิรธารไปจนถึงบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติฯ เราอาศัยช่วงที่ต้นไทรออกลูก นั่งดูนกบินมากินลูกไทรสุกกันไปเพลิน ๆ บ้าง แล้วก็เดินดูตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติบ้าง ก็ได้เจอนกอีกหลายชนิด เช่น นกปรอดโอ่งเมืองเหนือ (puff-throated bulbul) นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า (blue-winged leafbird) นกเอี้ยงถ้ำ (blue whistling-thrush) นกปีกแพรสีเขียว (green cochoa) นกนิลตวาใหญ่ (large niltava) นกหัวขวานจิ๋วท้องลาย (spectacled piculet) นกเปลือกไม้ (Hume’s treecreeper) นกปากนกแก้วหูเทา (grey-breasted parrotbill) นกติตแก้มเหลือง (yellow-cheeked tit)

จุดที่สามเราเดินขึ้นไปยังบริเวณยอดดอย เข้าใช้เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานและเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชื่อเสียงสำหรับการดูนกบนยอดดอยอินทนนท์ พบนกหางรำดำ (dark-backed sibia) นกศิวะหางสีตาล (chestnut-tailed minla) นกจับแมลงเล็กขาวดำ (little pied flycatcher) นกจับแมลงหน้าผากขาว (snowy-browed flycatcher) นกจับแมลงสีฟ้า (verditer flycatcher) นกจับแมลงสร้อยคอขาว (white-gorgeted flycatcher) นกมุ่นรกหัวน้ำตาลแดง (rufous-winged fulvetta) นกติตคิ้วเหลือง (yellow-browed tit) นกปีกสั้นสีน้ำเงิน (Himalayan shortwing) นกกินปลีหางยาวเขียว (green-tailed sunbird) และอื่น ๆ อีกหลายชนิด

นอกจากนี้เรายังมีโอกาสพบกับสัตว์อีก 2 ชนิด ที่ไม่สามารถหาพบได้ในเมือง ชนิดแรก ได้แก่ ด้วงครามอินทนนท์ (Enoplotrupes sharpi) ซึ่งเป็นแมลงปีกแข็ง สีออกเหลือบน้ำเงิน ตัวผู้มีส่วนที่ดูคล้ายกับนอแรดยาวโค้งไปด้านหลัง ในขณะที่ตัวเมียไม่ปรากฏลักษณะดังกล่าว พบได้เฉพาะพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 2,000 เมตร ขึ้นไป จากข้อมูลกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ด้วงครามชนิดนี้เป็นแมลงเฉพาะถิ่นพบได้ที่ดอยอินทนนท์และดอยผ้าห่มปกเท่านั้น เราพบด้วงครามอินทนนท์บินไปมาบ้างและพักการบินอยู่บนขอนไม้บ้าง ก้อนหินบ้าง ในบริเวณป่าดิบเขาบนยอดดอยทั้งเส้นทางฯ กิ่วแม่ปาน และเส้นทางฯ อ่างกา ราวประหนึ่งกับเป็นเฮลิคอปเตอร์ลำจิ๋วบินตรวจสภาพป่าบนยอดเขาที่สูงสุดของประเทศไทย

สำหรับชนิดที่สองที่เราได้ไปเจอในทริปครั้งนี้ คือ กะท่างน้ำหรือจักกิ้มน้ำ เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านอาจยังไม่ทราบว่ามันคือสัตว์ประเภทไหนกันแน่ ถ้าบอกว่ากะท่างน้ำคือ สัตว์ในกลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (Class Amphibia) อันดับย่อยซาลามานเดอร์และนิวต์ ก็อาจยังคลางแคลงใจอยู่ เพราะหากดูแบบผิวเผินทั่วไปรูปร่างหน้าตาพวกมันละม้ายคล้ายกับพวกกิ้งก่าหรือจิ้งจก และยังมีพฤติกรรมการคืบคลานลำตัวแบบชิดพื้นดินและมีหางยาว แต่พวกมันก็ไม่ใช่สัตว์เลื้อยคลาน (Class Reptilia) แบบกิ้งก่าและจิ้งจกนะครับ จุดง่าย ๆ อย่างหนึ่งในการจัดจำแนกพวกมันเป็นสัตว์ในกลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกคือ มีผิวหนังเรียบลื่นแบบกบเขียด ไม่มีเกล็ดแบบเดียวกับงูหรือกิ้งก่าซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลาน จึงจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในสภาพระบบนิเวศที่มีความชุ่มชื้น

จากการวิจัยที่นำโดยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2564 พบกะท่างน้ำในประเทศไทยจำนวน 6 ชนิด มี 3 ชนิดเป็นกะท่างน้ำเฉพาะถิ่น (endemic species) ที่พบในประเทศไทยเท่านั้น สำหรับชนิดที่มาปรากฏตัวให้เราเห็นในการไปทริปช่วงหน้าฝนในครั้งนี้ คือ กะท่างน้ำเหนือ หรือ กะท่างน้ำอุเอโนะ (Tylototriton uyenoi) ซึ่งพบกระจายพันธุ์อยู่ที่ดอยอ่างขาง ดอยเชียงดาว ดอยสุเทพ ดอยปุย ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น จังหวัดตาก อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร และพบใต้สุดที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี หากท่านผู้อ่านอยากพบเจอน้อง ๆ กะท่างน้ำในสภาพธรรมชาติ ผู้เขียนขอแนะนำให้มาเที่ยวป่าในหน้าฝน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเราแค่ถ่ายรูปน้องมาเป็นที่ระลึกถึงก็พอนะครับ อย่าไปพรากเขาจากบ้านที่แท้จริง ให้เขาได้อยู่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในระบบนิเวศป่าดิบเขาอย่างมีความสุข

ก่อนจะจบทริปเที่ยวป่า (อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์) ในสาระวิทย์ฉบับนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ตามพระราชดำริ ในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์) มาด้วย ซึ่งโครงการฯ มีภารกิจในการเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีสายพันธุ์ต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรกล้วยไม้หายากชนิดนี้ไม่ให้ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากสภาพธรรมชาติ นอกเหนือจากการมีโรงเรือนเพาะชำกล้วยไม้ให้ผู้สนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนนักศึกษาได้มาศึกษาภาคสนามแล้ว โครงการฯ ได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติไลเคน ในลักษณะที่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต สำหรับนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ในสภาพแวดล้อมบนภูเขาสูง นอกจากนี้แล้วพื้นที่โครงการฯ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในช่วงฤดูหนาวสำหรับผู้ที่หลงใหลกับโลกสีชมพูของดอกนางพญาเสือโคร่งริมทะเลสาบเล็ก ๆ โดยดอกนางพญาเสือโคร่งของที่นี่จะเริ่มบานเป็นพื้นที่แรกของประเทศไทยในช่วงต้นเดือนมกราคม แล้วร่วงโรยไปตามธรรมชาติราวต้นเดือนกุมภาพันธ์ หากใครไม่ชอบการเที่ยวป่าในฤดูฝน ก็อาจเลือกมาสัมผัสความงามบนยอดดอยอินทนนท์ในช่วงฤดูหนาวกันได้ครับ

About Author