ปิดเทอมใหญ่ เที่ยวไปเรียนรู้ไป

เรื่องโดย
นุรักษ์ จิตต์สะอ้าน


ปิดเทอมใหญ่กันไปแล้ว พร้อมกับการจากลาของฤดูหนาวในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และการก้าวเข้ามาของเดือนมีนาคมและเมษายนอันแสนโหดร้อน (แทนคำว่าโหดร้ายดูจะน่ารักดีนะ) นี่เราก็เข้าสู่ฤดูร้อนกันมาพักหนึ่งแล้ว คุณผู้อ่านทุกท่านเป็นอย่างไรกันบ้างครับกับฤดูร้อนปีนี้ ชีวิตของคนไทยก็จะต้องเป็นอย่างนี้แหละ ผ่านฝน ผ่านหนาว (?) แล้วก็ต้องผ่านร้อนวนไป ทำอย่างไรได้เมื่อฤดูกาลของประเทศเขตร้อนมันเป็นวัฏจักรอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร

สำหรับประเทศไทยนั้นฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาที่อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 36–37 องศาเซลเซียส แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ โดยจากการเก็บสถิติอุณหภูมิมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 อุณหภูมิสูงสุดของประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559 วัดได้ 44.6 องศาเซลเซียส ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แม้ว่าเราจะช่วยกันลดความร้อนของโลกได้ยากเต็มที แต่ก็ยังมีวิธีที่จะช่วยเพิ่มหนทางสู้กับความร้อนจากดวงอาทิตย์แบบไม่ต้องใช้งบประมาณมากมายนักได้อยู่ ก็คือช่วยกันปลูกต้นไม้คนละต้นสองต้น เพื่อเพิ่มร่มเงาให้พวกเราได้ใช้หลบใช้บังความร้อนจากแสงแดดยามฤดูร้อนของทุกปี ที่จริงที่กระทรวงศึกษาธิการเลือกปิดเทอมใหญ่ช่วงฤดูร้อนก็เหมาะสมแล้วเหมือนกัน ร้อนแบบนี้จะเรียนจะเล่นคงไม่สนุกนัก แถมโรงเรียนยังต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการเปิดเครื่องปรับอากาศอีก

พูดถึงปิดเทอม ปิดเทอมใหญ่นี้นานตั้ง 2 เดือน ไม่รู้ว่าเด็ก ๆ เลือกทำอะไรในช่วงว่าง ๆ กันบ้าง อภิภูอาจจะเริ่มต้นอ่านหนังสือล่วงหน้าสำหรับการขึ้นชั้นเรียนถัดไป ณัฐดนัยเลือกไปเรียนดนตรี เลยเล่นและฝึกฝนการเล่นอุปกรณ์ดนตรีที่ตนเองชื่นชอบ วริศราไม่ชอบเล่นดนตรีแต่ใช้เวลาช่วงปิดเทอมไปเรียนนาฏศิลป์และเต้นรำแทน จิรายุไม่ชอบเสียงดังแต่ชอบความเงียบสงบ จับพู่กันละเลงภาพตามแต่ใจจะจินตนาการ กษิดิศชอบออกกำลังกายเป็นประจำก็เลยขอเงินพ่อไปซื้อรองเท้าสตั๊ดและลูกฟุตบอลใหม่เพื่อจะได้เล่นกับเพื่อน ๆ ให้เต็มที่ตลอดปิดภาคเรียนไปเลย แต่เดี๋ยวก่อนครับ มีใครสนใจ “การเที่ยวป่า” บ้างไหมครับ

หลายคนอาจสนใจพร้อมกับสงสัยว่าการเที่ยวป่ามันไม่อันตรายหรอกหรือ ต้องมีอุปกรณ์อะไรมากมายหรือเปล่า ไปเที่ยวแล้วจะได้ประโยชน์อะไรกลับมาบ้าง คำถามเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นในหัวของพ่อแม่ผู้ปกครองหรือแม้แต่น้อง ๆ หนูๆ เอง ผู้เขียนขอบอกเลยว่าการเที่ยวป่าเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เห็นและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายในโลกกว้าง นอกเหนือจากสิ่งที่มีอยู่แต่ในหนังสือเรียนของเรา ซึ่งบางเรื่องราวหากอ่านแต่ในตำราก็อาจจะจดจำได้ประเดี๋ยวประด๋าว แต่เมื่อได้มีโอกาสได้พบเห็นและเรียนรู้ด้วยตนเองกลับทำให้เข้าใจได้ชัดเจนและลึกซึ้งขึ้น


อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก

ในป่ามีสิ่งที่น่าสนใจสำหรับการเรียนรู้มากมาย ตั้งแต่สิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น ดิน หิน ทราย ลำธาร ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เช่น แมลง ปลา นก สัตว์กินพืช สัตว์ผู้ล่า ผู้ย่อยสลาย ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของพลังงานและแร่ธาตุอย่างเป็นวงจร ในรูปแบบของห่วงโซ่อาหาร (food chain) และสายใยอาหาร (food web) ผ่านองค์ประกอบในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ ผู้ผลิต (producer) ผู้บริโภค (consumer) และผู้สลายสารอินทรีย์ (decomposer)

เราจะได้พบเห็นพืชพรรณมากมายที่อยู่ในสภาพธรรมชาติจริง ๆ ทั้งพืชที่มีท่อลำเลียง (vascular plant) และพืชที่ไม่มีท่อลำเลียง (non-vascular plant) ได้เรียนรู้ลักษณะวิสัย (habit) ของพืช ได้แก่ ไม้ล้มลุก (herb) ไม้เถาหรือไม้เลื้อย (climber) ไม้พุ่ม (shrub) และไม้ต้น (tree) ได้มีโอกาสเรียนรู้การจำแนกชนิด (identification) พันธุ์ไม้ในเบื้องต้น ด้วยลักษณะของเปลือกลำต้น ดอก และผล ก่อนจะนำเอาความรู้ในเบื้องต้นเหล่านี้ไปต่อยอดเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เช่น สรรพคุณทางยาจากส่วนต่าง ๆ ของพืช การใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ ฯลฯ

เราอาจจะมีโอกาสพบเห็นสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ในช่วงระยะต่าง ๆ และบทบาทหน้าที่ของสัตว์เหล่านั้นในธรรมชาติ เช่น ตัวหนอนของแมลงหลายชนิดที่ช่วยแทะเล็มใบอ่อนของพืช ไม่ให้ปกคลุมป่าจนหนาแน่น จวบจนกลายร่างเป็นแมลงปีกแข็งหรือผีเสื้อซึ่งมีส่วนช่วยในการผสมเกสรดอกไม้ ก่อให้เกิดเป็นผลไม้นำไปสู่การขยายพันธุ์ของพืช ได้เห็นนกหลากหลายชนิดโฉบกินตัวหนอนหรือแมลงไม่ให้มีมากจนเกินไป หรือบทบาทของนกในการกินผลไทรสุกและเป็นตัวแพร่กระจายเมล็ดไทรไปทั่วผืนป่า

ในป่านอกจากจะมีพืชที่ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตและสัตว์ป่าที่ทำหน้าที่ผู้บริโภคแล้ว ยังมีสิ่งมีชีวิตอีกจำพวกหนึ่งที่เรียกว่า ผู้สลายสารอินทรีย์ ซึ่งทำหน้าที่ย่อยสลายซากพืชหรือซากสัตว์ป่าที่ตายแล้วให้กลายเป็นสารอาหารที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป โดยผู้สลายสารอินทรีย์ที่อาจพบเห็นได้ในป่า ได้แก่ เห็ดและราชนิดต่าง ๆ ซึ่งการจดจำและเรียนรู้ชนิดของเห็ดราชนิดต่าง ๆ นั้นนำมาต่อยอดการใช้ประโยชน์ตามสรรพคุณ ทั้งคุณค่าในเชิงอาหารและยาได้อีกด้วย

เมื่อเราเข้าป่าและได้ศึกษาความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้สลายสารอินทรีย์ รวมถึงสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นใช้ประโยชน์ร่วมกัน และมีการหมุนเวียนของสารอาหาร พลังงาน ฯลฯ เราก็จะเห็นภาพได้ว่า ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในหน่วยพื้นที่นั้น ๆ ก่อให้เกิดระบบหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ ระบบนิเวศ (ecosystem) ซึ่งหน่วยพื้นที่ที่ต่างกันก็จะมีองค์ประกอบที่แตกต่างกันออกไป ระบบนิเวศจึงต่างกันออกไป เช่น ระบบนิเวศป่าไม้ (forest ecosystem) ระบบนิเวศทุ่งหญ้า (grassland ecosystem) ระบบนิเวศแหล่งน้ำ (aquatic ecosystem)


อุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน

แม้แต่ละระบบนิเวศจะมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดปลีกย่อย แต่ทุกระบบนิเวศจะก่อให้เกิดการถ่ายทอดของพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น จากพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานความร้อนจากการเผาผลาญอาหารของสิ่งมีชีวิต รวมถึงการหมุนเวียนของสสารในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การตรึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของพืชในกระบวนการสังเคราะห์แสง สร้างเป็นเส้นใย ไฟเบอร์ และเซลลูโลส เมื่อกวางมาแทะเล็มใบอ่อนของพืชนั้น ๆ กระบวนการย่อยอาหารของกวางก็จะแปรสภาพเส้นใยให้กลายเป็นแป้งและโปรตีนต่อไป กลไกเหล่านี้นับได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ และมนุษย์ไม่จำเป็นเลยที่ต้องสร้างขึ้นมา เพียงแต่ต้องรู้จักอนุรักษ์ สงวนรักษา เพื่อให้ป่าตามธรรมชาติทำหน้าที่เป็นเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ และแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับพวกเราต่อไป ซึ่งในประเทศไทยของเรามีกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าไม้ จึงได้มีการกำหนดพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองในรูปแบบต่าง ๆ วันนี้จะขอยกตัวอย่างพื้นที่คุ้มครองเหล่านั้นให้รู้จักกันครับ เผื่อใครสนใจจะเข้าไปท่องเที่ยว

อุทยานแห่งชาติ เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยทิวทัศน์อันสวยงามเหมาะกับการพักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการศึกษา เช่น เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ที่หายาก โดยจากข้อมูลในเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (เมษายน พ.ศ. 2567) อุทยานแห่งชาติในลำดับแรกได้รับการประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2505 ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ครอบคลุมเนื้อที่ 2,165.55 ตารางกิโลเมตร ใน 4 จังหวัด ได้แก่ นครนายก สระบุรี นครราชสีมา และปราจีนบุรี และอุทยานแห่งชาติลำดับล่าสุด (ลำดับที่ 133) ได้รับการประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562 ได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยจง ครอบคลุมเนื้อที่ 336.32 ตารางกิโลเมตร ใน 2 จังหวัด ได้แก่ ลำปางและลำพูน

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นพื้นที่ได้รับการประกาศจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย ให้สัตว์ป่าที่มีโอกาสสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ โดยจากข้อมูลในเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (เมษายน พ.ศ. 2567) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในลำดับแรกได้รับการประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2508 ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ครอบคลุมเนื้อที่ 858.55 ตารางกิโลเมตร ในจังหวัดกาญจนบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำดับล่าสุด (ลำดับที่ 62) ได้รับการประกาศจัดตั้ง เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากะทูน ครอบคลุมเนื้อที่ 65.09 ตารางกิโลเมตร ในจังหวัดนครศรีธรรมราช

วนอุทยาน เป็นพื้นที่ที่มีทัศนียภาพที่สวยงามเหมาะกับการสงวนไว้เพื่อเป็นแหล่งคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ รวมถึงเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ทั้งนี้พื้นที่อาจจะได้รับการคุ้มครองในขนาดที่เล็กกว่าอุทยานแห่งชาติ โดยจากข้อมูลในเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (เมษายน พ.ศ. 2567) ปัจจุบันมีวนอุทยานได้รับการประกาศจัดตั้งแล้วทั้งสิ้น 91 แห่ง โดยมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2563 จำนวน 30 แห่ง เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563 จำนวน 20 แห่ง เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2564 จำนวน 20 แห่ง และเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 จำนวน 21 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ในทั่วทุกภาคของประเทศไทย

เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นพื้นที่ที่สมควรได้รับการประกาศจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าตามชนิดที่ได้รับความคุ้มครอง เพื่อความสมดุลของการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชุมชนในพื้นที่ โดยจากข้อมูลในเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (เมษายน พ.ศ. 2567) ปัจจุบันมีเขตห้ามล่าสัตว์ป่าที่ได้รับการประกาศจัดตั้งแล้วทั้งสิ้น 96 แห่ง กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคทุกประเทศ ครอบคลุมระบบนิเวศที่หลากหลาย ทั้งภูเขา ป่าไม้ แหล่งน้ำ ทะเล ชายฝั่ง และเกาะต่าง ๆ


น้ำตกก้อหลวง อุทยานแห่งชาติแม่ปิง

มาถึงตรงนี้คงพอเห็นภาพรวมของการท่องเที่ยวป่ากันบ้างแล้ว ปิดเทอมใหญ่ตั้ง 2 เดือน ผู้ปกครองทุกท่านอาจจะหาโอกาสพาบุตรหลานไปท่องเที่ยวธรรมชาติพร้อมกับการเรียนรู้ก่อนเปิดเทอมใหม่ เพื่อจะได้ใช้เวลาร่วมกันภายในครอบครัวอย่างสนุกสนาน เพลิดเพลิน แถมแฝงไปด้วยความรู้โดยไม่รู้ตัว และยังเป็นการปลูกฝังการรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็ก ๆ และทุกคนในครอบครัวด้วยอีกต่างหาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรจะคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย เช่น การใส่เสื้อผ้าที่รัดกุม ทะมัดทะแมง รวมไปจนถึงจัดเตรียมยาทาหรือสเปรย์กันแมลง และที่สำคัญผู้ปกครองควรจะทำหน้าที่เป็นทั้งครูนอกโรงเรียนและองครักษ์พิทักษ์บุตรหลานของท่านในคราวเดียวกันด้วยนะครับ อ้อ ! ฉบับหน้าเราจะเริ่มออกท่องเที่ยวป่ากันจริง ๆ แล้ว จะเริ่มที่ไหนเป็นแห่งแรก ฝากติดตามด้วยครับ

About Author