Headlines

ครั้งแรกเทคนิคการแพทย์-รังสีเทคนิคไทย คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล คว้ารางวัล TQC ด้วยกลยุทธเชิงรุก

          เพราะ “ลูกค้า” คือบุคคลที่สำคัญที่สุด แต่สำหรับสถาบันอุดมศึกษาในปัจจุบันมีภารกิจหลักที่ครอบคลุมทั้งทางด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ “ลูกค้า” จึงหมายถึงได้ทั้ง “ผู้เรียน” “ผู้ให้ทุนวิจัย” หรือ “หุ้นส่วนทางวิชาการและความร่วมมือ” ไปจนถึง “ผู้ป่วย” ซึ่งอยู่ในภารกิจของสถาบันอุดมศึกษาที่มีโรงเรียนแพทย์ และคณะ/สถาบันที่เกี่ยวข้องที่ทำหน้าที่ร่วมผลิตบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับใช้สังคมและประเทศชาติ

          นับเป็นครั้งแรกของวงการเทคนิคการแพทย์และรังสีเทคนิคของไทย ที่คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการศึกษาเทคนิคการแพทย์แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานถึง 65 ปี สามารถคว้ารางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC) ประจำปีพ.ศ.2564 จัดโดย สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการมุ่งสู่รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของประเทศ

          ศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นับเป็นเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษแล้วที่ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ใช้เกณฑ์ EdPEx (Education Criteria for Performance Excellence) หรือเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ ซึ่งเป็นเกณฑ์เดียวกันกับ “MBNQA” (The Malcolm Baldrige National Quality Award) ที่ใช้ในการประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ซึ่งใช้กับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา

          ซึ่งผลจากการประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความโดดเด่นครบพร้อมทั้งทางด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ ซึ่งในด้านการเรียนการสอนพิสูจน์ได้จากการมีหลักสูตรเทคนิคการแพทย์และรังสีเทคนิคระดับปริญญาตรีที่ได้มาตรฐานเครือข่ายการประกันคุณภาพมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network – Quality Assurance: AUN-QA) และสามารถผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมที่ผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ได้ตามโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในระดับประเทศได้อย่างครบวงจร ทั้งการวิจัยและพัฒนา การทดสอบ การผลิตและขึ้นทะเบียนโดยโรงงานต้นแบบ และการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ภายใต้ บริษัท เอ็มที อินโนเทร็กซ์ จำกัด (MT InnoTrex Co.,Ltd.) ที่มีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ถือหุ้น 100%

          นอกจากการมีบทบาทลงพื้นที่ให้บริการประชาชนตรวจ COVID-19 เพื่อยับยั้งปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวทั่วประเทศไทยแล้ว คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีบทบาทอันโดดเด่นด้านการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อรองรับสังคมสูงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี จากการมีสุขภาวะที่ดีและยั่งยืนทั้งกายและใจ ด้วยบริการของศูนย์สุขภาพองค์รวมและเวชศาสตร์ชันสูตร คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้มีการนำเอานวัตกรรมต่างๆ ที่คิดค้นขึ้นโดยนักวิจัยของคณะฯ มาใช้กับผู้รับบริการของศูนย์ฯ ด้วย อาทิ การตรวจวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าสมองและระดับฮอร์โมนความเครียด

          และที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นอย่างยิ่งให้กับวงการวิจัยทางเทคนิคการแพทย์และรังสีเทคนิคของไทย คือ การที่คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สามารถขยายศักยภาพในการเป็น “แม่ข่าย” ในการดูแลห้องปฏิบัติการทางเทคนิคการแพทย์ทั่วประเทศไทย และบางส่วนในภูมิภาคอาเซียน พร้อมได้รับเครื่องหมายคุณภาพต่างๆ ด้านบริการสุขภาพ ได้แก่ ISO 15189, 15190 และการขยายขอบข่ายมาตรฐานด้านเครื่องมือแพทย์ และบริการต่างๆ ได้แก่ ISO 17025, 17043 และ 13485 ฯลฯ

          ด้วยผลงานและบริการคุณภาพที่ครบพร้อมในทุกด้านของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านนวัตกรรม มั่นใจได้ว่า ก้าวต่อไปสู่รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นในด้านนวัตกรรม (TQC Plus Innovation) และรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดคงอยู่ไม่ไกล จากการเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และมีจุดแข็งจากการใช้กลยุทธในเชิงรุก ที่พร้อมก้าวไปข้างหน้า และที่สำคัญที่สุดเพื่อคนไทยทุกคน


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author