ม.มหิดลร่วมระดมสมองสุขภาพสัตว์ – สุขภาพคน – สุขภาพโลก เตรียมพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่

สิ่งที่มองไม่เห็น ใช่ว่าจะไม่มีอะไรเกิด เช่นการติดต่อของโรคระหว่างคนและสัตว์ (Zoonoses) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชายแดนที่การอพยพ เดินทาง หรือเคลื่อนย้ายคน หรือสัตว์ข้ามชายแดนโดยขาดการเฝ้าระวัง อาจหมายถึงการกลับมา หรือการเกิดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ข้ามแดน (Transboundary Emerging Infectious Diseases)

เป็นที่มาของการจัดประชุม MUGH Consultative Meeting 2024 จัดโดย สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหน่วยประสานงานภารกิจสุขภาพโลกมหิดล (MUGH) ร่วมด้วยคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์กรระดับชาติ และนานาชาติ เพื่อค้นหาทางออกของปัญหาการติดเชื้อข้ามแดนดังกล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร.มธุรส ทิพยมงคลกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิชาการ และอาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาพัฒนาสุขภาพ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในแกนนำที่ทำให้การจัดประชุม MUGH Consultative Meeting 2024 เมื่อเร็ว ๆ นี้เกิดขึ้นด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการระบบสุขภาพ ซึ่งจะทำให้ “ประเด็นโลก” กลายเป็นเรื่องที่ทุกคน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชุมชน” ซึ่งเปรียบเหมือน “ครอบครัวใหญ่” ของท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมป้องกันโรคติดต่อระหว่างคนและสัตว์ ซึ่งเป็นประเด็นสุขภาพในระดับภูมิภาคอาเซียน แต่ยังไม่มีแพลตฟอร์มใดๆ ให้เข้าถึง จากการประชุม MUGH Consultative Meeting 2024 ได้จุดประกายการจัดตั้งศูนย์ ASEAN One Health Collaboration Network ขึ้น

เพื่อการร่วมมือขับเคลื่อนสุขภาพหนึ่งเดียวตามแนวคิด “Think Global Act Local” รองศาสตราจารย์ ดร.มธุรส ทิพยมงคลกุล กล่าว

ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของการขับเคลื่อน นอกจากเพื่อการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่แล้ว “การป้องกันเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ” ที่กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก และเป็นประเด็นสำคัญที่พบในสัตว์ป่า หรือแม้กระทั่งในสัตว์ทะเล คือ การจะทำอย่างไรให้ “ทุน” กับ “Tech” เติบโตไปด้วยกัน

เนื่องจากปัญหาที่พบในบางประเทศ แม้มี “ทุน” และมี “Tech” แต่ยังขาดพื้นที่จริงในการพัฒนาองค์ความรู้ ในทางกลับกันหลายประเทศที่มีพื้นที่ของปัญหา แต่ไม่มี “ทุน” และไม่มี “Tech” จึงเชื่อมั่นว่าการประชุมในครั้งนี้จะเป็นการช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย พร้อมสร้างความแข็งแกร่งด้านสุขภาพโรคติดเชื้อระหว่างคนและสัตว์ข้ามแดนให้กับภูมิภาคอาเซียนได้ต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์อนุวัตน์ วิรัชสุดากุล รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ สื่อสารองค์กร และเทคโนโลยีสารสนเทศ และอาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในแกนนำจัดการประชุม MUGH Consultative Meeting 2024 ได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ของการกลับมาของโรคระบาดว่าอาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดคิด

อาทิ จากการเดินทางด้วยเส้นทางอันยาวไกลกว่านับ 1,000 กิโลเมตรต่อสัปดาห์ของ “สัตว์ปีก” อย่าง “นกนางนวล” ที่อาจทำให้ “โรคไข้หวัดนก“ (H5N1) ที่ครั้งหนึ่งเคยระบาดหนัก กลับอุบัติขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจุดแวะพักระหว่างทางที่อาจทำให้นกนางนวลนำพาเชื้อมาสู่จุดหมายปลายทางได้

หรือแม้แต่ “สัตว์บก” อย่าง “หมูป่า” ที่กำลังเป็นปัญหาการแพร่ระบาดของ “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” ซึ่งติดต่อจากเชื้อไวรัส โดยมี “หมูป่า” เป็นแหล่งรังโรค และมีเห็บอ่อนเป็นพาหะนำโรค นอกจากนั้น การทิ้งซาก “หมูป่า” ที่ติดเชื้อไว้ตามชายแดน อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อข้ามประเทศได้

ซึ่งการที่ “หมูป่า” เข้ามาหากินในเขตชุมชนที่มี “สุกรเลี้ยง” อาจนำ “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” มาติดต่อ “สุกรเลี้ยง” ได้

ในการประชุม MUGH Consultative Meeting 2024 ยังได้มีการกล่าวถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรชายฝั่งและทะเลอีกด้วย นอกจากนั้น ในระดับภูมิภาค ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่น และสัตว์อพยพ (MoZWE) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำหน้าที่เลขาธิการประสานงานเครือข่ายสุขภาพสัตว์ป่าระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภายใต้การสนับสนุนของ World Organization for Animal Health (WOAH) อันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” และที่พึ่งพิงสุขภาพสัตว์ – สุขภาพคน – สุขภาพโลก

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

ภาพจาก สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author