ม.มหิดล แนะทางออกท่องเที่ยวยั่งยืน เสริมสุขภาวะ ใส่หัวใจสีเขียว

          ทิศทางการจัดการท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนแปลงสู่กระแสรักษ์โลกอย่างเต็มรูปแบบ นับตั้งแต่ที่ได้มีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ “COP26” เมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ต่อเนื่องด้วยการประชุม “COP27” ณ เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา

          รองศาสตราจารย์ ดร.วลัญชลี วัฒนาเจริญศิลป์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยวและบริการนานาชาติ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) เปิดเผยว่า แม้กระแสเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางการจัดการท่องเที่ยวทั่วโลก


รองศาสตราจารย์ ดร.วลัญชลี วัฒนาเจริญศิลป์
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยวและบริการนานาชาติ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC)

          แต่ในส่วนของประเทศไทย ข้อมูลจากการประเมินโดยเกณฑ์ Travel & Tourism Development Index โดย World Economic Forum 2021 ที่ผ่านมาพบว่ายังขาดน้ำหนักด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การใช้ประโยชน์ของทุนวัฒนธรรม การให้ลำดับความสำคัญกับการท่องเที่ยวและเปิดกว้างสู่ความเป็นนานาชาติ

          จึงเป็นที่มาสู่ทางออกของการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้กลับฟื้นคืนอีกครั้ง โดยทางภาครัฐได้มีการวางกรอบการรับนักท่องเที่ยวที่ “เน้นคุณภาพ มากกว่าปริมาณ” เพื่อการควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเปิดมิติใหม่สู่การทำให้ประเทศไทยได้เป็น “ศูนย์กลางแห่งการเป็นประเทศปลายทางด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” และ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะ” ที่โดดเด่นของภูมิภาค

          พร้อมสนองเทรนด์ใหม่ การท่องเที่ยวไทยได้เปิดรับ “Workation” ที่เปิดโอกาสให้กลุ่ม Digital Nomad สามารถทำงานพร้อมได้พักผ่อนไปด้วยในตัว นอกจากนี้ยังมีการนำ Soft power ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เด่นของไทย 5 ประเภท ได้แก่ อาหาร (Food) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) เทศกาลประเพณี (Festival) และภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) มาช่วยเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าและบริการการท่องเที่ยว อาศัยพลังละมุนของทุนวัฒนธรรมช่วยเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์อันลึกซึ้งและมีความหมาย

          “การวางกรอบการรับนักท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพ มากกว่าปริมาณ ไม่ได้หมายถึง “การเลือกปฏิบัติ” ต่อนักท่องเที่ยว แต่เป็นการวางทิศทางการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการให้ตอบสนองนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวไทยได้ในภาพรวม” รองศาสตราจารย์ ดร.วลัญชลี วัฒนาเจริญศิลป์ กล่าว

          ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยไม่ได้มาเพียงเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ เพราะประเทศไทยมีบริการการท่องเที่ยวที่หลากหลายยิ่งขึ้น นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะได้รับการบริการด้านสุขภาวะที่คุณภาพดีและคุ้มค่า นักท่องเที่ยวธุรกิจจะได้สัมผัสกับการเป็น “ศูนย์กลางจัดประชุมสัมมนาที่ได้มาตรฐานโลก” ของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ผู้มาเยือนกลับไปพร้อมความประทับใจด้วยสินค้าและการบริการที่โดดเด่นแตกต่าง

          โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วลัญชลี วัฒนาเจริญศิลป์ ได้มองถึงความพร้อมของประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมายของการเปิดมิติใหม่ทางการท่องเที่ยวว่า ภาครัฐมีทิศทางที่เหมาะสม แต่ต้องมีการดำเนินการที่จะช่วยส่งเสริมการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการไทยให้ไปต่อได้อย่างมั่นคง

          ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การช่วยเหลือเรื่องการลดต้นทุนการประกอบการ และการขาดแคลนแรงงาน การสนับสนุนมาตรการด้านภาษี รวมถึงการช่วยเหลือด้านฐานข้อมูลนักท่องเที่ยว และการทำ dashboard ของนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเจาะลึกถึงพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม และพัฒนาสินค้าและบริการการท่องเที่ยวให้เป็นไปในทิศทางตามที่ยุทธศาสตร์ได้วางไว้

          มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการผลิตบุคลากรคุณภาพด้านการจัดการท่องเที่ยวและบริการ โดย MUIC ได้จัดเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนแบบนานาชาติ การันตีคุณภาพจากการรับรองมาตรฐาน AUN-QA (ASEAN University Network – Quality Assurance) และ UNWTO.TedQual จาก United Nation World Tourism Organization (UNWTO)

          นอกจากนี้ยังได้จัดหลักสูตรโดยเพิ่มรายวิชา “Health & Wellness” เพื่อสนองรับนโยบายการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยมุ่งผลิตนักศึกษาให้เป็น Global Citizen ภายใต้บริบทการเรียนการสอนแบบนานาชาติ ที่จะทำให้ได้บัณฑิตที่ถึงพร้อมด้วยทักษะที่จำเป็น และเริ่มงานได้ทั่วโลก

          การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ ผลตอบแทนที่ได้ไม่ใช่เพียงการทำ “รายได้” เข้าประเทศ แต่จะเป็นการสร้าง “ต้นทุนแห่งความยั่งยืน” ที่ประเมินค่าไม่ได้ จากการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะที่เปี่ยมด้วยคุณค่า และความหมาย พร้อมโอบกอดโลกไว้ด้วยหัวใจสีเขียว

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author