เรื่องโดย นุรักษ์ จิตต์สะอ้าน
เป็นอย่างไรกันบ้างครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พวกเราได้เดินทางมาถึงช่วงกลางฤดูฝนกันแล้ว ที่ผ่านมาหลายพื้นที่ดูจะชุ่มฉ่ำกันเลยทีเดียว ช่วงนี้หากขับรถออกไปนอกตัวเมืองหลาย ๆ แห่ง ตามห้วยหนองคลองบึงต่างเต็มไปด้วยมวลน้ำ มองไปข้างทางก็เห็นต้นไม้ใบหญ้าสีเขียวชอุ่มดูมีชีวิตชีวาเสียนี่กะไร แหล่งปลูกข้าวนาปีที่ต้องรอน้ำฝนเริ่มปักดำกันจนหมดแล้ว ทั้งนาในที่ลุ่มและนาในที่ดอน โดยเฉพาะทางภาคเหนือหลายที่ ได้ปักดำนาขั้นบันไดไปกันแล้ว จากนี้ไปอีกประมาณ 3–4 เดือน ก็จะมีภาพความเขียวขจีของนาขั้นบันไดหรือนาในที่ลุ่มของภูมิภาคต่าง ๆ ทยอยออกมาให้เราเห็นแบบอิ่มเอมใจอย่างแน่นอนครับ
สาระวิทย์ฉบับนี้ผู้เขียนขอนำท่านผู้อ่านไปสัมผัสกับบรรยากาศอันหลากหลายความรู้สึกจากการไปท่องเที่ยวที่มีองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานอยู่อย่างละเล็กละน้อยกัน 3 แห่ง แห่งแรกสัมผัสบรรยากาศผ่านกาลเวลาไปกับซากดึกดำบรรพ์ ต้นไม้กลายเป็นหิน ที่อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) จังหวัดตาก แห่งที่สองสัมผัสบรรยากาศป่าไม้บนยอดเขากันที่ช่องเย็น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร และแห่งที่สามสัมผัสบรรยากาศศิลปวัฒนธรรมผ่านอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรกันครับ
อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) จังหวัดตาก
พื้นที่อนุรักษ์แห่งนี้อยู่ระหว่างเตรียมการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยถ้ามองจากแผนที่แล้วจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 อาณาบริเวณแยกออกจากกัน (ไม่เชื่อมต่อกันเป็นผืนเดียวกัน) โดยอาศัยจุดอ้างอิงที่เด่นชัด คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ได้แก่ พื้นที่ดอยสอยมาลัยซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายมือ (ขาขึ้น) ห่างจากทางหลวงฯ ประมาณ 14–15 กิโลเมตร และพื้นที่ไม้กลายเป็นหินซึ่งอยู่ฝั่งขวามือ (ขาขึ้น) ติดกับทางหลวงฯ โดยนักเดินทางสามารถขับรถเข้าไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีที่จอดรถสะดวกสบาย
มีการขุดค้นพบแหล่งไม้กลายเป็นหินจำนวน 7 หลุมในอุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย–ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) โดยมีต้นไม้กลายเป็นหินที่เห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในหลุมที่ 1 และหลุมที่ 7 จะพบลักษณะของต้นไม้กลายเป็นหินขนาดใหญ่ตั้งแต่บริเวณโคนต้นจนถึงเกือบปลายยอด ตรงนี้มีการสร้างอาคารครอบไว้อย่างดีเพื่อจัดแสดงในสภาพที่แห้ง หลีกเลี่ยงไม่ให้ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่จะไปทำลายความสมบูรณ์ของซากดึกดำบรรพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำฝนและระดับน้ำใต้ดิน โดยซากดึกดำบรรพ์ทั้งสองหลุมพบว่าเป็น Koompassioxylon elegans ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับต้นทองบึ้ง (Koompassia malaccensis) ในปัจจุบัน เป็นพรรณไม้ที่ไม่พบในสภาพธรรมชาติทางพื้นที่ภาคเหนือ แต่พบได้เฉพาะในเขตป่าดิบชื้นและป่าพรุทางภาคใต้ของไทย คาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว โดยซากดึกดำบรรพ์หลุมที่ 1 ซึ่งคาดว่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 120,000 ปี ได้รับการรับรองและบันทึกจาก Guinness World Records เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ว่าคือ ต้นไม้กลายเป็นหินยาวที่สุดในโลก ที่สถิติความยาว 69.70 เมตร เทียบเท่ากับตึกสูง 20 ชั้น กันเลยทีเดียว
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร
เราเดินทางต่อเนื่องมาจากจังหวัดตาก ล่องไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 และเลี้ยวขวาตรงแยกนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1117 เมื่อเข้าเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์แล้ว ก็เข้าไปแจ้งรายชื่อเข้าพักที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเสียก่อน และเดินทางไปจนสุดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1117 ก็จะถึงจุดหมายปลายทางที่สองของเรา นั่นก็คือ ช่องเย็น ซึ่งเป็นยอดเขาที่มีความสูงประมาณ 1,800 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง สภาพป่าบริเวณช่องเย็นเป็นป่าดิบเขา บางช่วงพบเห็นป่าดิบแล้ง ไร่ร้าง ทุ่งหญ้า และป่าเบญจพรรณที่ค่อนข้างชื้นในช่วงฤดูฝนเช่นนี้
ช่องเย็นเป็นจุดกางเต็นท์ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวสายธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี สมกับชื่อช่องเย็นนั่นแหละครับ ส่วนกิจกรรมที่เราจะมาทำกันที่ช่องเย็นคือ กิจกรรมดูนก เพราะว่าที่นี่เป็นหนึ่งในแหล่งดูนกป่าที่น่าสนใจในเขตรอยต่อภาคเหนือและภาคกลางค่อน ๆ มาทางตะวันตก โดยมีรายงานการพบนกเงือก (hornbill) ถึง 4 ชนิด ได้แก่ นกกก (great hornbill) นกแก๊ก (oriental pied hornbill) นกเงือกคอแดง (rufous-necked hornbill) และนกเงือกกรามช้าง (wreathed hornbill)
เราเลือกบริเวณดูนกในบริเวณช่องเย็นออกเป็น 2 เส้นทาง แต่ต่อเนื่องกัน เส้นทางแรกจากจุดกางเต็นท์ เดินย้อนลงไปประมาณ 500 เมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1117 ที่พาเราขึ้นมายังช่องเย็น การเดินบนถนนจะได้มุมมองที่ไม่รกทึบ ไม่มีเถาวัลย์ระเกะระกะ และเส้นทางที่สองเดินจากจุดกางเต็นท์ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของทางหลวงแผ่นดินสาย 1117 เข้าไปยังเส้นทางเดินในป่าประมาณ 500 เมตรเช่นเดียวกัน เป็นทางเดินที่รกกว่าเส้นทางแรก มีเถาวัลย์และพรรณไม้น้อยใหญ่ตลอดเส้นทางการเดินแต่ดูมีความท้าทายกว่าเส้นทางแรกอยู่ทีเดียวครับ ซึ่งตลอดการดูนกที่ช่องเย็นก็เจอนกทั้งสิ้น 76 ชนิด โดยมีชนิดที่น่าสนใจอยู่หลายชนิด เช่น นกเปล้าหางเข็มหัวปีกแดง (yellow-vented green-pigeon) นกกะรางอกสีน้ำตาลไหม้ (white-necked laughingthrush) นกเสือแมลงหัวขาว (collared babbler) นกปรอดหัวตาขาว (flavescent bulbul) นกปรอดภูเขา (mountain bulbul) นกจาบคาเคราน้ำเงิน (blue-bearded bee-eater) นกหัวขวานใหญ่หงอนเหลือง (greater yellownape) นกเด้าลมหลังเทา (grey wagtail) นกเงือกกรามช้าง (wreathed hornbill) นกปลีกล้วยลาย (streaked spiderhunter) นกเสือแมลงหน้าสีตาล (clicking shrike-babbler) นกแซงแซวหางบ่วงเล็ก (lesser racket-tailed drongo) ฯลฯ
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
แห่งที่สามที่จะพาไปเยี่ยมชมนั้นเป็นการท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมกันบ้าง ถึงแม้ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวสายศิลปวัฒนธรรมแต่ก็มีองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่จะนำมาบอกเล่าให้ท่านผู้อ่านอยู่ดีครับ
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรได้รับการประกาศและเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2534 เพื่อมุ่งเน้นการอนุรักษ์และพัฒนากลุ่มโบราณสถานทั้งภายในเมืองเนื้อที่ 503 ไร่ และนอกเมืองเนื้อที่ 1,611 ไร่ ให้เป็นแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด และเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534 องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยในชื่อ “เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร”
ภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรมีแหล่งโบราณสถานต่าง ๆ มากมาย ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม ชื่นชมงานการก่อสร้างอาคารที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปวัฒนธรรมของผู้คนในสมัยโบราณที่อาศัยอยู่ภายในเมืองกำแพงเพชร ซึ่งให้ความรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ ระเบียบแบบแผน การก่อสร้างที่ต้องใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานไปกับความสวยงามวิจิตรบรรจงทางศิลปศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวัดช้างรอบ วัดพระสี่อิริยาบถ วัดพระนอน วัดพระแก้ว วัดพระธาตุ ฯลฯ
ความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมเมืองกำแพงเพชรคือ การใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างวัดวาอารามรวมถึงพระพุทธรูป ฯลฯ โดยพื้นที่ของเมืองกำแพงเพชรนั้นอุดมไปด้วยศิลาแลง ในแต่ละแหล่งโบราณสถานหรือใกล้เคียงพบบ่อขุดตัดศิลาแลงขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างอาคารโบราณสถานโดยไม่ต้องขนย้ายมาจากบริเวณพื้นที่ไกล ๆ สะท้อนให้เห็นถึงช่างก่อสร้างเมืองกำแพงเพชรในยุคโบราณมีองค์ความรู้ในการแสวงหาแหล่งศิลาแลง รวมไปจนถึงการพัฒนาวิธีการใช้งานศิลาแลงในเชิงวิศวกรรม ดังปรากฏให้เห็นผ่านโบราณสถานเมืองกำแพงเพชรที่ก่อสร้างจากศิลาแลงที่ยังมีความมั่นคงแข็งแกร่งแม้ผ่านกาลเวลามายาวนานกว่า 500 ปี ผู้อ่านมาชมความยิ่งใหญ่ของเสาศิลาแลงชิ้นเดียวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีความสูงจากพื้นดิน 6 เมตร ได้ที่วัดพระนอน อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรครับ
ก่อนจะจบทริปในสาระวิทย์ฉบับนี้ ผู้เขียนขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านรักษาสุขภาพในช่วงฤดูฝนที่อาจกินเวลาไปอีกเดือนหรือสองเดือน และอย่าลืมแบ่งเวลาไปท่องเที่ยวชื่นชมความสวยงามและความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม เพื่อเรียนรู้วิทยาศาสตร์ใกล้ตัวเราอย่างเพลิดเพลินกันด้วยนะครับ
- อ่านบทความฉบับเต็มพร้อมภาพประกอบ [ดาวน์โหลดฟรี] [อ่านออนไลน์]