Headlines

เบาหวานกับภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุ: การเข้าถึงบริการและการจัดการ

อ.ดร.เสาวลักษณ์ สุขพัฒนศรีกุล
อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลรากฐาน


          เบาหวานเป็นปัญหาสุขภาพที่มีความท้าทายต่อระบบบริการสุขภาพโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายงานการสำรวจสุขภาพคนไทยครั้งที่ 6 พ.ศ.2562-2563 พบผู้สูงอายุเป็นเบาหวานสูงถึงร้อยละ 20.4 และจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเดือนกันยายน ปี 2565 ที่ผ่านมา พบผู้สูงอายุเป็นเบาหวานถึงร้อยละ 21.12 หากผู้สูงอายุไม่สามารถควบคุมเบาหวานได้จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และเศรษฐกิจ


อ.ดร.เสาวลักษณ์ สุขพัฒนศรีกุล
อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลรากฐาน

          ในปัจจุบันพบว่าเบาหวานมีความสัมพันธ์กับการเกิด “ภาวะเปราะบาง” ในผู้สูงอายุ ซึ่งภาวะเปราะบางเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเป็นภาวะการสูญเสียความสามารถในการปรับสมดุลพลังงานสำรองของร่างกายจนเกิดวงจรความเสื่อมในร่างกายที่ผิดปกติ ทำให้สูญเสียความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน อีกทั้งยังสามารถเพิ่มความรุนแรงของความเจ็บป่วย ทำให้เกิดการบกพร่องการรู้คิด การเคลื่อนไหวของร่างกายลดลง เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม และเกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นนำไปสู่การพึ่งพิงต่อครอบครัว ดังนั้นเป้าหมายของการรักษาเบาหวานในผู้สูงอายุ คือ การควบคุมระดับน้ำตาลร่วมกับการควบคุมและลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน การดูแลผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานจึงควรคำนึงถึงภาวะเปราะบางร่วมด้วย ทั้งนี้ญาติสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นที่สำคัญของภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุ ดังนี้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กิจกรรมทางกายต่ำ เดินช้า เหนื่อยล้า และน้ำหนักลดลงโดยไม่ได้ตั้งใจ

          การคัดกรอง“ภาวะเปราะบาง” ในผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน โดยใช้การประเมินผู้สูงอายุแบบองค์รวมจึงเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการดูแลผู้สูงอายุเบาหวาน เนื่องจากสามารถช่วยประเมินและวางแผนการจัดการเบาหวานในผู้สูงอายุได้อย่างครอบคลุมเป็นรายบุคคลในเรื่องการรับประทานอาหารและการฝึกการออกกำลังกาย สำหรับการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานและมีภาวะเปราะบางนั้น ญาติควรดูแลผู้สูงอายุให้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมตามหลักจานอาหารสุขภาพ (ผัก 2 ส่วน: เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ 1 ส่วน: ข้าว 1 ส่วน) ดูแลให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่มีระดับความหนักปานกลาง เช่น การเดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น (วันละ 30-50 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์) เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดน้ำหนักตัว รวมถึง ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ร่วมกับการดูแลให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน เช่น ยกน้ำหนัก ออกกำลังกายด้วยยางยืด เป็นต้น (วันละ 2-4 ชุด ชุดละ 8-12 ครั้ง อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้แก่ผู้สูงอายุ

          เนื่องในสัปดาห์ วันเบาหวานโลกที่ผ่านมา คลินิคการพยาบาลและการผดุงครรภ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยบริการสุขภาพที่อยู่ใกล้ชุมชน ได้เห็นความสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดภาวะการพึ่งพิง จึงมีการให้บริการตรวจรักษาโรคเบื้องต้น และคัดกรองปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุแบบเป็นองค์รวมตลอดจนให้คำแนะนำอย่างครบวงจรสำหรับการดูแลผู้สูงอายุทุกวันศุกร์ เวลา 13.00 – 16.00 น. สามารถติดต่อสอบถาม นัดหมาย ขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-424-6855

          “เข้าถึง เข้าใจ…ห่างไกลการพึ่งพิงจากเบาหวาน”


เอกสารอ้างอิง

  • Hanlon, P., Fauré, I., Corcoran, N., Butterly, E., Lewsey, J., McAllister, D. A., & Mair, F. S. (2020).
  • Identification and prevalence of frailty in diabetes mellitus and association with clinical outcomes: a systematic review protocol. BMJ open10(9), e037476.
  • Strain, W. D., Down, S., Brown, P., Puttanna, A., & Sinclair, A. (2021). Diabetes and Frailty: An
  • Expert Consensus Statement on the Management of Older Adults with Type 2 Diabetes. Diabetes therapy: research, treatment and education of diabetes and related disorders12(5), 1227–1247.
  • Yanase, T., Yanagita, I., Muta, K., & Nawata, H. (2018). Frailty in elderly diabetes patients. Endocrine journal65(1), 1-11.

About Author