เร่งสำรวจและอนุรักษ์ถิ่นอาศัย ก่อน “ปลาซิวสมพงษ์” จะสูญพันธุ์

โดย ชวลิต วิทยานนท์ และ จารุปภา วะสี


 

          ปลาซิวสมพงษ์ Trigonostigma somphongsi (Meinken, 1958) อยู่ในวงศ์ปลาซิว (Danionidae) ในอันดับปลาตะเพียน ซิว รากกล้วย (Cypriniformes) เป็นปลาเฉพาะถิ่นของไทย พบเฉพาะในลุ่มน้ำบางปะกงตอนกลางที่จังหวัดนครนายกและปราจีนบุรี เป็น 1 ใน 100 สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของโลก มีสถานภาพตามเกณฑ์ IUCN Redlist ระดับโลกใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และเป็น 1 ใน 10 ชนิดพันธุ์ของโครงการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีความสำคัญระดับโลกในพื้นที่ภาคการผลิตของประเทศไทย โดยเป็นชนิดที่ต้องได้รับการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน และมีโอกาสสูงมากที่จะสูญพันธุ์หากไม่ดำเนินการใดๆ

ปลาซิวสมพงษ์ตัวผู้

          ปลาซิวสมพงศ์เป็นปลาขนาดเล็ก โตเต็มที่ยาวไม่เกิน 2.5 เซนติเมตร มีความสำคัญในฐานะเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพและความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ชุมน้ำที่ดี มีถิ่นอาศัยในหนองบึงในที่ราบต่ำที่มีพรรณไม้น้ำหนาแน่น ลำตัวสีเหลืองส้ม มีแถบดำเส้นตรงเป็นแนวยาวข้างลำตัวและสีจะสดใสขึ้นเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ปลาเพศผู้รูปร่างเรียวยาวและขนาดเล็กกว่าเพศเมีย มักพบว่ายน้ำระดับกลางน้ำหรืออยู่ระหว่างพรรณไม้น้ำ กินอาหารจำพวกแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็ก แม่ปลาวางไข่ครั้งละประมาณ 8-10 ฟอง ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปลาชนิดอื่น โดยแปะติดกับใบของพืชน้ำ และฟักเป็นตัวราว 2 วัน มักพบปะปนอยู่กับปลาซิวขนาดเล็กชนิดอื่นในถิ่นอาศัยเดียวกัน แต่พบจำนวนน้อยกว่ามาก โดยถิ่นอาศัยเดิมน่าจะอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นหนองบึงที่มีพรรณไม้น้ำหนาแน่นที่เคยมีทั่วในภาคกลางตอนล่าง แต่ปัจจุบันถิ่นอาศัยเช่นนี้หายไปมากกว่า 95%

ปลาซิวสมพงษ์ตัวเมีย

          ข้อมูลเกี่ยวกับปลาซิวสมพงษ์มีน้อยมากในทุกมิติ เนื่องจากพบได้น้อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ และขยายพันธุ์ได้น้อยในที่เพาะเลี้ยง โลกรู้จักปลาชนิดนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2501 (Meinken, H., 1958) จากวงการผู้เลี้ยงปลาสวยงามในประเทศเยอรมนี ซึ่งได้ปลาไปจากพ่อค้าส่งออกปลาสวยงามไทย โดยปะปนกับปลาซิวขนาดเล็กชนิดอื่น หลังจากนั้นชื่อปลาซิวสมพงษ์ก็ปรากฏประปรายในวารสารปลาสวยงามในยุโรปและเอเชีย กระทั่งในราว 30 ปีที่ผ่านมาก็ไม่มีการกล่าวถึงว่ามีการค้นพบอีกเลย จนเคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้วในธรรมชาติ กระทั่งมีรายงานพบใหม่ของประชากรกลุ่มเล็กๆ เป็นครั้งแรกในธรรมชาติเมื่อปี พ.ศ. 2556 ในลุ่มน้ำบางปะกงตอนกลาง ที่จังหวัดนครนายกและปราจีนบุรี (Petsut, N. et al., 2014)

          จากการสำรวจข้อมูล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2562 พบว่า ประชากรปลาซิวสมพงษ์มีแนวโน้มลดลงจากปัจจัยคุกคามหลักคือ การสูญเสียถิ่นอาศัยและมลภาวะจากชุมชนและการเกษตร การขยายตัวของการทำนาแบบอุตสาหกรรมที่ใช้สารเคมี และการเปลี่ยนพื้นที่เป็นชุมชน โดยมีการประเมินขนาดพื้นที่ที่พบทั้งหมดในโลก/ไทย (EOO) และขนาดพื้นที่ถิ่นอาศัยจริงในโลก/ไทย (AOO) น้อยกว่า 100 ตารางกิโลเมตร โดยปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดที่ทำงานอนุรักษ์หรือมีแผนงานเพื่ออนุรักษ์ปลาชนิดนี้

          รายงานฉบับดังกล่าวเสนอให้ทำการวิจัยอย่างเร่งด่วน เพื่อสำรวจประชากร ถิ่นอาศัย และนิเวศวิทยาของแหล่งที่พบ และแหล่งอื่นๆที่เหมาะสมในการปล่อยคืน เพื่อเป็นแนวทางการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ โดยระบุพื้นที่ที่มีประชากรและศักยภาพเชิงอนุรักษ์ คือพื้นที่ชุ่มน้ำในตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก และพื้นที่ในศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี (ชวลิต วิทยานนท์, 2562) ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มต่ำรับน้ำท่วมตามธรรมชาติ (แก้มลิง) ผืนสุดท้ายของลุ่มน้ำบางปะกง ซึ่งถือเป็นระบบนิเวศใกล้สูญพันธุ์จากที่ราบภาคกลางของประเทศไทย และสันนิษฐานว่าเป็นพื้นที่ที่พบและถิ่นอาศัยจริงแหล่งสุดท้ายของปลานี้ในโลก

          น้ำจากป่าเขาใหญ่และแม่น้ำปราจีนบุรีจะหลากเข้าท่วมทุ่งนาย่านนี้เป็นประจำทุกปีในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม โดยบางจุดลึกเกินกว่า 5 เมตร ปลาที่อยู่ในหนองบึงขนาดเล็กและคลองธรรมชาติที่กระจายอยู่ทั่วไปจะว่ายเข้าไปในทุ่งน้ำหลากกว้างใหญ่เพื่อหาอาหาร ผสมพันธุ์ และวางไข่ ข้าวในนาเริ่มออกรวง คนทำบ่อปลาก็สูบน้ำหลากซึ่งเป็นน้ำดีมาใส่บ่อเลี้ยงปลาที่ผึ่งแห้งรอไว้ และปล่อยลูกปลาลงเลี้ยง  เมื่อน้ำเริ่มลดจากทุ่งและไหลกลับสู่ลำน้ำธรรมชาติในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะเป็นมหกรรมจับปลาที่ว่ายออกจากทุ่งเพื่อทำปลาร้า ปลาส้ม ซึ่งเป็นสินค้าของฝากสำคัญของย่านนี้

ถิ่นอาศัย

          ในช่วงหน้าแล้งเดือนมกราคม-เมษายน พื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นทุ่งหญ้า มีการเผาตอซังและไถนาเพื่อเตรียมหว่านเมล็ดข้าวรุ่นต่อไป พร้อมๆ กับเป็นช่วงจับปลาในบ่อขาย ส่วนปลาธรรมชาติจะกลับไปอยู่ในหนองบึงและคลองตามธรรมชาติ บางส่วนว่ายลึกลงไปอยู่ในรูปู รูหนู ฯลฯ ที่อาจเชื่อมกับแหล่งน้ำใต้ดิน และเมื่อถึงฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม เมล็ดข้าวจะเริ่มงอกและเติบโต บ่อปลาที่จับปลาขายหมดแล้วก็ปล่อยแห้งเพื่อรอน้ำหลากมาเติมรอบใหม่ และปลาที่อยู่ในคลองหนองบึงก็เริ่มโต รอเวลาที่จะว่ายเข้าทุ่งเมื่อน้ำหลากมาอีกครั้ง

          เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี ระบบนิเวศจึงยังมีความหลากหลายตามธรรมชาติตามห่วงโซ่อาหารที่สมบูรณ์ ทั้งพืชและสัตว์ในน้ำและในทุ่ง ในพื้นที่พบปลาราว 70 ชนิด และยังพบปลาที่เคยถูกเข้าใจว่ามีเฉพาะในลุ่มน้ำโขงถึง 2 ชนิด คือปลาซิวแคระ 3 จุด และปลาหางกรรไกรเล็ก และยังพบแมลงน้ำ สัตว์น้ำต่างๆจำนวนมาก ในฤดูฝนอุดมสมบูรณ์ด้วยกบเขียด เมื่อน้ำเริ่มลดจะมีหนู งู และนกน้ำจำนวนมาก รวมทั้งนกนักล่าอพยพจำพวกเหยี่ยว อินทรี และแร้ง รวมกันหลายพันตัวเข้ามาพักอาศัยในฤดูหนาว เกิดเป็นนิเวศบริการต่อมนุษย์และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายรูปแบบตามไปด้วย

          ชาวบ้านแถวนี้ยังไม่ค่อยรู้จักปลาชนิดนี้ แต่เหมารวมกับปลาซิวขนาดเล็กอื่นๆ ที่เอาไปทำเป็นหมกและจ่อม มีเฉพาะผู้นำชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ที่รู้จักปลาชนิดนี้จากนักวิชาการที่เข้าไปเก็บตัวอย่างเป็นครั้งคราวในฤดูน้ำหลาก โดยรับรู้ถึงความสำคัญของปลาชนิดนี้ในระดับโลก แต่ก็ยังแยกชนิดด้วยตัวเองได้ไม่ชัดเจน และยังไม่ได้บอกต่อไปในกลุ่มชาวบ้าน เนื่องจากขาดข้อมูลและไม่แน่ใจต่อผลกระทบที่จะตามมาหากยังไม่ได้วางแผนการจัดการหรืออนุรักษ์ที่เพียงพอ

ฝูงในธรรมชาติ

          ในย่านนี้มีฮอตสปอตทางนิเวศวิทยาอยู่แห่งหนึ่งคือ “ทุ่งใหญ่ปากพลี” สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแหล่งสำคัญในการผสมพันธุ์ วางไข่ และเลี้ยงลูกอ่อนของปลาซิวสมพงษ์ เนื่องจากมีการสำรวจพบพ่อแม่ปลาว่ายเข้ามาในทุ่งในช่วงน้ำหลากเข้าทุ่ง และพบปลาวัยหนุ่มสาวว่ายออกจากทุ่งในช่วงน้ำลด อย่างไรก็ตาม ต้องมีการสำรวจข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อยืนยันความน่าจะเป็นนี้

          ทุ่งนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักดูนกในชื่อ “ดงเหยี่ยวดำทุ่งใหญ่ปากพลี” เนื่องจากเป็นแหล่งรวมนอนของนกอพยพนักล่าจำพวกเหยี่ยว อินทรี และแร้ง หลายพันตัว โดยเฉพาะเหยี่ยวหูดำที่เข้ามาหากินในทุ่งนาโดยรอบในฤดูหนาวตั้งแต่ช่วงน้ำเริ่มลดลงจากทุ่งในเดือนพฤศจิกายนจนถึงก่อนฤดูร้อนในเดือนมีนาคม มีนกหายากและใกล้สูญพันธุ์อย่างนกอินทรีปีกลายและแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย และนกประจำถิ่นที่ทำรังออกลูกในทุ่งใหญ่และอพยพท่องเที่ยวไปถึงบังกลาเทศคือเหยี่ยวดำไทย และยังมีนกทุ่งนกน้ำอื่นๆ อีกจำนวนมาก

          เกือบสิบปีแล้วที่ปลาซิวสมพงษ์ฝูงเล็กๆ ได้รับการค้นพบใหม่อีกครั้งในพื้นที่รอยต่อนครนายก-ปราจีนบุรี หลังจากที่เชื่อกันว่าสูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติ การค้นพบนั้นสร้างความปิติยินดีอย่างยิ่งในกลุ่มคนเล็กๆ ที่เป็นนักอนุกรมวิธานปลาน้ำจืดและนักอนุรักษ์ธรรมชาติที่สนใจประเด็นวิกฤติการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ถึงขนาดมีบางคนกล่าวว่าเป็นความยินดีเหมือนการได้กลับมาค้นพบสมัน ซึ่งเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นในที่ราบลุ่มภาคกลางของไทย และถูกระบุว่าสูญพันธุ์ไปจากโลกแล้วเมื่อเกือบร้อยปีก่อน

          ทั้งสมันและปลาซิวสมพงษ์เป็นสัตว์ที่อาศัยในถิ่นอาศัยเดียวกันคือที่ราบลุ่มภาคกลางของไทย สมันสูญพันธุ์ไปจากการถูกล่าและสูญเสียถิ่นอาศัยวิกฤติ (critical habiat) คือป่าโปรง ดงหญ้าสูง และทุ่งหญ้าน้ำแฉะ ส่วนปลาซิวสมพงษ์ แม้ไม่ได้ถูกล่าโดยตรง แต่ก็ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งจากการสูญสูญเสียถิ่นอาศัยที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติที่มีคุณภาพดีอย่างวิกฤติเช่นกัน รวมทั้งจากการที่แทบไม่มีคนรู้จักและตระหนักถึงความสำคัญของมันในฐานะเป็นชนิดพันธุ์ที่เป็นธงนำและตัวบ่งชี้คุณภาพและความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ชุมน้ำที่ดี ความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ของปลาซิวสมพงษ์ไปจากโลก จึงเท่ากับความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะสูญเสียระบบนิเวศพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มต่ำรับน้ำท่วมตามธรรมชาติ (แก้มลิง) ผืนสุดท้ายของลุ่มน้ำบางปะกงไปด้วย

          แม้จะผ่านไปเกือบสิบปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการสำรวจและวิจัยเพื่อการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์และถิ่นอาศัยของมันจากมุมมองที่เข้าใจถึงความสำคัญดังกล่าว และยังไม่มีงบประมาณหรือการดำเนินการใดๆ ลงไปทำงานในพื้นที่หรือทำงานร่วมกับชุมชนในประเด็นนี้โดยตรง ทำให้ชุมชนเอง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลาง ยังขาดข้อมูล ความรู้ และการตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและใกล้สูญพันธ์ที่ตนเองมีอยู่ ซึ่งหากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ โดยเร่งด่วน ทรัพยากรที่สำคัญเหล่านี้มีโอกาสที่จะสูญเสียไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้อีก

          นอกจากการขาดขาดข้อมูล ความรู้ และการตระหนักถึงความสำคัญของปลาซิวสมพงษ์และถิ่นอาศัย ความท้าทายเฉพาะหน้าต่อการอนุรักษ์ที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่คือ ความพยายามจากคนภายนอกชุมชนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ทำเป็นฟาร์มหมูและฟาร์มไก่ขนาดใหญ่ การเช่าใช้พื้นที่ในฤดูแล้งทำไร่แตงโมที่ต้องใช้สารเคมีปริมาณมาก การมีคนนอกเข้ามาจับสัตว์ในพื้นที่ทั้งเพื่อเป็นอาหารและการค้าเป็นจำนวนมาก ทั้งลูกเหยี่ยว งูเห่า ปลาและลูกปลา กบเขียด การมีคนนอกลักลอบเผาพื้นที่ในช่วงน้ำลดจากทุ่งเพื่อล่าสัตว์จนเกิดไฟลามทุ่งบ่อยครั้ง รวมทั้งความขัดแย้งกับนโยบายรัฐในการห้ามเผาตอซังข้าวโดยไม่มีทางออกอื่นให้ชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาที่ชุมชนต้องเผชิญและแก้ปัญหาอยู่อย่างเต็มกำลังโดยลำพัง

          ทั้งนี้ยังไม่นับถึงความท้าทายที่รออยู่ในอนาคต คือการเพิ่มจำนวนการสร้างเขื่อนที่ต้นน้ำ ความพยายามผลักดันให้เกิดโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ปลายแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง ซึ่งอาจกระทบต่อวงจรชีวิตของปลาซิวสมพงษ์และพื้นที่ชุ่มน้ำในพื้นที่

          ดังนั้นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนคือการเร่งสำรวจข้อมูลของปลาซิวสมพงษ์และถิ่นอาศัยของมันอย่างรอบด้าน โดยผู้เชี่ยวชาญภายนอกทำร่วมกับชุมชน ร่วมกันวางแผนการอนุรักษ์ทั้งปลาและถิ่นอาศัย พร้อมไปกับการเสริมศักยภาพและอำนาจชุมชนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับดูแลระบบนิเวศของท้องถิ่น รวมทั้งประสานเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรระดับต่างๆ ที่สามารถสนับสนุนการดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่อย่างยั่งยืนให้เข้ามามีส่วนร่วมในงานสำคัญนี้ร่วมกัน


*** ขอบคุณข้อมูลพื้นที่จาก คุณสิทธิชัย อิ่มจิตร สอบจ.นครนายก ผู้ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์นกเหยี่ยวปากพลี และคุณประทีป บุญเทียน กำนัน ต.ท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก ***

About Author