นักชีววิทยา จุฬาฯ โชว์ “กะท่างน้ำดอยภูคา” ตัวชี้วัดสุขภาพสิ่งแวดล้อม ชนิดใหม่ของโลก

            นักวิจัยภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ภาพการค้นพบใหม่ “กะท่างน้ำดอยภูคา” กะท่างน้ำชนิดใหม่ของโลก จากอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน บนแนวเทือกเขาหลวงพระบาง เป็นตัวชี้วัดสุขภาพป่าที่สมบูรณ์และไร้สารเคมีปนเปื้อน

            อาจารย์ ดร. ปรวีร์ พรหมโชติ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยคณะทำงานได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิเชฏฐ์ คนซื่อ และ อาจารย์ ดร. ภาณุพงศ์ ธรรมโชติ อาจารย์จากภาควิชาเดียวกัน และได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยทั้งจากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ผู้สนับสนุนจากประเทศฝรั่งเศส และมหาวิทยาลัยพะเยา  ภายใต้การสนับสนุนการสำรวจโดยศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน คณะวิจัยสนใจการค้นพบกะท่างน้ำ บริเวณดอยภูคา ที่มีเรื่องเล่าการพบเห็นในนิตยสารบางฉบับมามากกว่า 20 ปีแล้ว  คณะนักวิจัยจึงสนใจที่ค้นคว้าเพิ่มเติมว่า กะท่างที่พบนั้นยังมีอยู่หรือไม่ เป็นจุดเริ่มต้นของการลงพื้นที่ โดยขออนุญาตและได้รับความอนุเคราะห์จาก นายฉัตรชัย โยธาวุธ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา และมี นายพศิน อิ่นแก้ว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานท่านอื่นๆ เป็นผู้นำเส้นทาง

            “จากลักษณะทางกายภาพของ กะท่างน้ำดอยภูคา ที่มีสีน้ำตาลแถบส้ม รวมทั้งการตรวจแถบรหัสพันธุกรรม (DNA banding) ทำให้คณะนักวิจัยทราบได้ว่า สัตว์ตัวนี้ถือเป็นกะท่างน้ำสายพันธุ์ใหม่ของโลก ที่สำคัญยังได้รับรู้ถึงความสมบูรณ์ของพื้นป่าบริเวณนี้อีกด้วย เพราะกะท่างน้ำดอยภูคา เป็นสัตว์ที่สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดสุขภาพสิ่งแวดล้อมของผืนป่าในบริเวณที่พบได้เป็นอย่างดี จากธรรมชาติของ ไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยของกะท่าง จะอยู่อาศัยได้ในบริเวณผืนป่าสมบูรณ์ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและไม่ถูกทำลาย รวมถึงพื้นที่นั้น ๆ ต้องไม่มีสารเคมีปนเปื้อน 100% เท่านั้น ซึ่งคณะนักวิจัยและคณะผู้นำทาง ต้องปีนขึ้นบนยอดดอย ที่สูงชัน ผ่านป่าดิบที่สมบูรณ์ เพื่อค้นหาแอ่งน้ำ ที่เป็นแหล่งอาศัยของกะท่าง จนไปถึงแอ่งน้ำบนดอยหญ้าหวาย มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,795 เมตร โดยธรรมชาติของกะท่างนั้นจะอาศัยในแอ่งน้ำบริเวณหุบบนยอดเขามีขนาดประมาณ 200 ตารางเมตร และเป็นน้ำที่ปกคลุมด้วยหญ้าที่มีความสูงไม่มากนัก มีก้อนหินขนาดใหญ่อยู่กลางแอ่งน้ำและนอกจากนั้นยังมีขอนไม้ล้มที่มีโพรงจมอยู่กับพื้นของแอ่งน้ำที่มีความลึกไม่มากนัก หรือประมาณครึ่งหน้าแข้ง” ดร. ปรวีร์ กล่าวและเพิ่มเติมว่า

            “บริเวณดังกล่าว ค้นพบกะท่างน้ำดอยภูคา ปีนอยู่ตามกอหญ้า ขอนไม้และก้อนหินกลางแอ่งน้ำ มากกว่า 50 ตัว และส่วนใหญ่เป็นตัวผู้ เมื่อสำรวจทั้งแอ่งน้ำและริมตลิ่ง พบว่ากะท่างน้ำดอยภูคากำลังมุ่งหน้าเข้าผืนป่า คาดเดาว่าเป็นช่วงปลายของฤดูผสมพันธุ์ ธรรมชาติของกะท่างน้ำ เมื่อผสมพันธุ์กันแล้ว ตัวเมียจะวางไข่หลัง และทิ้งไข่ปล่อยให้ปรับตัวไปตามธรรมชาติ ส่วนตัวพ่อและแม่นั้นจะมุ่งหน้ากลับผืนป่า เพราะโดยธรรมชาติของ กะท่างจะใช้ชีวิตอยู่บนบกยกเว้นช่วงเวลาผสมพันธุ์เท่านั้น ทั้งนี้การค้นพบดังกล่าว ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารทางวิทยาศาสตร์เป็นที่เรียบร้อย”  ดร. ปรวีร์ กล่าวทิ้งท้าย


ข้อมูลเพิ่มเติม

“กระท่างน้ำดอยภูคา” ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่สถานที่พบสัตว์ชนิดนี้คืออุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน

มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Tylototriton phukhaensis

จัดเป็นกะท่างน้ำชนิดที่ 5 ที่มีรายงานการตั้งชื่อในประเทศไทย

“กะท่างน้ำดอยภูคา” จัดเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในวงกระท่างน้ำ หรือ

Family Salamandridae สัตว์ในวงนี้เป็นสัตว์เทินน้ำสะเทินบกที่มีลักษณะที่สำคัญคือมีสีน้ำตาลแถบส้ม มีขาสี่ข้าง มีหางยาว มีความแตกต่างจากกลุ่มของกบ เขียด คางคกที่เราคุ้นเคยซึ่งเป็นญาติที่มีความใกล้ชิดกัน สัตว์ในกลุ่มนี้มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก (เมื่อวัดจากปลายจมูกถึงปลายหางประมาณ 10 เซนติเมตร) มีรูปร่าง 2 แบบ คือ

แบบที่ 1 เรียกว่า newt หรือ นิวท์ มีลักษณะของผิวหนังที่ไม่เรียบ มีต่อมน้ำพิษปรากฏอยู่บนผิวหนังด้านหลัง บริเวณลำตัวและหัวมีสันที่ปรากฏอย่างชัดเจน มีสีสันบนลำตังไม่มากนัก ที่พบเด่นชัดคือ สีส้ม ที่ปรากฏตามสันของร่างกาย ปลายขาและปลายหาง

แบบที่ 2 เรียกว่า salamander หรือ ซาลาแมนเดอร์ มีลักษณะของผิวหนังเรียบลื่น อาจจะมีของต่อมน้ำพิษปรากฏอยู่หลังลูกตา ลำตัวมีร่องอยู่ด้านข้างระหว่างขาหน้าและขาหลัง ซึ่งจะไม่ปรากฏในกลุ่มนิ้วท์ พวกซาลาแมนเดอร์ไม่พบในประเทศไทย

สถานภาพของประชากร (สถานที่ค้นพบ)

ปัจจุบันมีรายงานการค้นพบเพียงแห่งเดียวเท่านั้น จำเป็นที่จะต้องมีการสำรวจในบริเวณอื่นของเทือกเขาหลวงพระบาง ทางฝากล้านนาตะวันออกซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน

ถิ่นที่อยู่อาศัยของกะท่างน้ำในประเทศไทยนั้นมีขอบเขตการกระจายค่อนข้างจำกัด คือ จะพบในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางมากกว่า 1,000 เมตร และอยู่ในบริเวณที่มีอากาศเย็น แอ่งน้ำสะอาดและป่าปกคลุมที่ยังคงเป็นธรรมชาติ ดังนั้นกะท่างน้ำ สามารถใช้เป็นตัวขี้วัดทางชีวภาพที่สามารถบ่งบอกถึง “สุขภาพ”ของสิ่งแวดล้อมได้

การศึกษาในครั้งนี้คณะผู้วิจัยขอขอบคุณหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา นายฉัตรชัย โยธาวุธ ที่อนุญาตให้เข้าสำรวจและนายพศิน อิ่นวุธ และเจ้าหน้าของอุทยานฯ ที่ได้นำทาง อาจารย์ ดร. ปรวีร์ พรหมโชติ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิเชฏฐ์ คนซื่อ และ อ. ดร. ภาณุพงศ์ ธรรมโชติ และได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนการสำรวจโดยศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน

 

About Author