ม.มหิดล สร้างสรรค์และพัฒนาอุปกรณ์เทียบวัดสมรรถนะหัวเก็บภาพอัลตราซาวด์ ทางเลือกวินิจฉัยปลอดภัยจากรังสี

          ทุกสิ่งบนโลกล้วนมีทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการใช้ เช่นเดียวกับการใช้รังสีเพื่อประกอบการวินิจฉัยและรักษาโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งรังสี “เอกซเรย์” (X-ray) ที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายหากได้รับในปริมาณมากเกินไป การใช้ “อัลตราซาวด์” (Ultrasound) หรือการใช้คลื่นเสียงในการตรวจจับความผิดปกติในร่างกาย จึงนับเป็นอีกทางเลือกที่ปลอดภัย


รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงผลงานล่าสุด “อุปกรณ์สอบเทียบวัดรองหัวเก็บภาพอัลตราซาวด์” ซึ่งเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรแล้ว ดำเนินการโดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล

          “หัวเก็บภาพอัลตราซาวด์” (Ultrasound probe) มีความสำคัญต่อการตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ อาทิ การตรวจทารกในครรภ์มารดา และมะเร็งเต้านม ซึ่งให้ผลที่แตกต่างตามลักษณะของหัวเก็บภาพที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องนำมา “สอบเทียบวัด” หรือ “Calibration” เพื่อให้สามารถใช้ได้อย่างเที่ยงตรง และแม่นยำเสียก่อน

          โดยในการตรวจมะเร็งเต้านม หัวเก็บภาพจะแปลงสัญญาณเสียง ให้เป็นสัญญาณภาพ เพื่อนำทางให้รังสีแพทย์สามารถเก็บชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจหาเซลล์มะเร็งได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น โดยสมรรถนะของ “อุปกรณ์สอบเทียบวัดรองหัวเก็บภาพอัลตราซาวด์” ที่ได้รับการสร้างสรรค์และพัฒนาขึ้นโดย ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบทางคลินิก เพื่อพัฒนาระบบนำทางช่วยในการผ่าตัดเก็บชิ้นเนื้อมะเร็งเต้านมให้พร้อมขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ภายใน 3 – 5 ปีข้างหน้า

          “แพทย์จะทราบได้อย่างไรว่า หัวเก็บภาพอัลตราซาวด์ที่ใช้นั้นมีประสิทธิภาพในการใช้ประกอบการวินิจฉัยและรักษาโรคได้ดีเพียงใด ในขณะที่หัวเก็บภาพต่างยี่ห้อ และต่างรุ่นกัน จะให้ภาพที่แตกต่างกัน เช่น ขนาด และความลึกของเนื้อเยื่อ หรือสิ่งที่ต้องการตรวจ ดังนั้น “การสอบเทียบวัด” หรือ “Calibration” เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แปลงผลลัพธ์ออกมาได้อย่างแน่นอน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่สุด” รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ กล่าว

          ด้วยภารกิจของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ถึงพร้อมด้วยองค์ความรู้ในการสนับสนุนด้าน Active Medical Devices และ AI ที่ใช้ในทางการแพทย์ โดยมีวิสัยทัศน์สู่ความเป็นเลิศในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยกระดับเทียบเคียงประเทศชั้นนำระดับเอเชียต่อไป เชื่อว่าจะนำพาประเทศชาติสู่การบรรลุเป้าหมายทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจได้ต่อไปอย่างแน่นอน


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author