ด้วยคำจำกัดความของคำว่า “พันธะสัญญา” ของมหาวิทยาลัย (University Social Engagement) ที่ประกาศโดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ในงาน MUSEF 2021 (Mahidol University Social Engagement Forum 2021) เมื่อปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นเหมือนคำมั่นสัญญาที่ชาวมหาวิทยาลัยมหิดลทุกคนยึดมั่นพร้อมทำประโยชน์เพื่อชุมชน
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ด้วยพันธะสัญญาที่มหาวิทยาลัยมหิดลมีต่อชุมชน ที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิด “การยกระดับ” ทางวิชาการเพื่อทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อ “การชี้นำสังคม” ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งทิศทางการทำวิจัยต่อแต่นี้ไปจะต้องสามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อการแก้ปัญหาเร่งด่วนของสังคม ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยเรื่องการใช้เครื่องตรวจวัดโซเดียมคลอไรด์ในอาหารที่ไม่ใช่เพียงการแสดงศักยภาพทางเทคโนโลยี แต่เป็นการขับเคลื่อนสังคมสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการบริโภคโซเดียมให้ขยายวงกว้างออกไป เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยต่อไปได้อีกด้วย
นอกจากนี้ เพื่อสนองรับนโยบายของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ได้นำไปสู่ “การเสริมพลัง” (Synergies) หรือการสร้างเครือข่ายที่รวบรวมเอาความเชี่ยวชาญที่หลากหลายของแต่ละสถาบันอุดมศึกษามาทำประโยชน์เพื่อสังคมร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการเสริมศักยภาพของการทำงานให้เกิดผลกระทบต่อไปได้อีกเท่าทวีคูณ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนซับซ้อน ที่จำเป็นจะต้องมีความชัดเจน และเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหา และด้วยความเข้าใจในบริบทของปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
ซึ่งการวิจัยระดับแนวหน้า (frontier research) ของสถาบันอุดมศึกษาไทย ตามนโยบายของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ประกอบไปด้วยกลุ่มวิจัยหลัก ได้แก่ กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยี กลุ่มส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และกลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
ซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยมหิดลจะอยู่ในกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยี และกลุ่มส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ที่อยู่บนพื้นฐานเพื่อสุขภาวะของประชาชน ในขณะที่งานวิจัยของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏจะเน้นหนักไปที่การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
จึงได้กลายเป็นที่มาของการเสริมพลังระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมจัดเสวนาทางวิชาการ “เสริมพลังทางการศึกษาเพื่อสังคมไทย” ทางออนไลน์ ในวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2565 เวลา 09.00 – 12.00 น.
โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน และบรรยายพิเศษ เรื่อง “สถาบันอุดมศึกษาเพื่อสังคม” เพื่อเป็นการ “ถอดบทเรียน” เตรียมพร้อมสู่งาน MUSEF 2022 (Mahidol University Social Engagement Forum 2022) “Healthy Together” ที่มหาวิทยาลัยมหิดลจะจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2565 นี้ต่อไป
ในงานเสวนาทางวิชาการ “เสริมพลังทางการศึกษาเพื่อสังคมไทย” ทางออนไลน์ ที่กำหนดจัดในวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2565 นี้ จะมีการเสวนา เรื่อง “มหาวิทยาลัยเพื่อการรับใช้ชุมชน : บทบาทและความร่วมมือ” โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ธรรมรักษ์ ละอองนวล รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยรัตน์ ปราณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พจนีย์ สุขชาวนา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และ นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
ร่วมด้วยนิทรรศการออนไลน์ผลงานรับใช้สังคม ซึ่งมีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ “เพื่อนรักต่างศาสนา : สานเสวนาเรื่องสุขภาพสู่สันติภาพในสังคมไทย” “การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในเมืองใหญ่” “ทิศทางท่องเที่ยวไทยในยุค Next Normal” “เพิ่มศักยภาพเด็กไทยด้วย “โรงเรียนฉลาดเล่น”
PIRAB Model ยกระดับพัฒนาการเด็กปฐมวัย (อำนาจเจริญ)” “การจัดการทรัพยากรน้ำบึงบอระเพ็ดเพื่อความยั่งยืน (นครสวรรค์)” “การจัดการดินเพื่อการเกษตรต้นแบบ บ้านสามัคคีธรรม (กาญจนบุรี)” “การนำใช้ทุนทางสังคมเพื่อการจัดการสุขภาวะชุมชนของตำบลพรหมนิมิต อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์”
“MUSEUM POOL: พิพิธภัณฑ์ออนไลน์จากชุมชนท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ออนไลน์วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี” “การพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ชุมชนในตำบลท่าเสา และอำเภอวังกระแจะ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ภายใต้แนวคิด : ไทรโยคเมืองไม้ผล มนต์เสน่ห์แห่งขุนเขา”
ติดตาม Facebook Live ได้ที่ MUSEF Conference สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานบริการวิชาการและพันธกิจสัมพันธ์กับสังคม กองแผนงาน มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6141
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย
วิไล กสิโสภา
นักวิชาการสารสนเทศ
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210