กาชาด ยังคงเดินหน้าต่อตามพื้นที่เป้าหมาย ออกหน่วยให้บริการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น พร้อมนำระบบบริการยืนยันตัวตนด้วยภาพใบหน้า (Face Verification) ที่ร่วมพัฒนากับเนคเทค สวทช. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แก่กลุ่มชาติพันธ์ุ ผู้หนีภัยการสู้รบ ณ พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ จ. ตาก
เมื่อวันที่ 21-22 มิถุนายน 2565 สภากาชาดไทย โดยสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมเหล่ากาชาดจังหวัด โรงพยาบาลท่าสองยาง หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และ International Rescue Committee (IRC) ร่วมด้วยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ลงพื้นที่ออกหน่วยให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มที่ 3 (เข็มกระตุ้น) พร้อมนำระบบบริการบันทึกข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตนด้วยภาพใบหน้า (Face Verification) ให้แก่กลุ่มชาติพันธ์ุ ผู้หนีภัยการสู้รบ ที่ไม่มีสัญชาติไทย ณ พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ จ.ตาก จำนวนกว่า 220 คน เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์แก่เพื่อนมนุษย์ที่เดือดร้อนและไร้โอกาส ตามหลักมนุษยธรรม ให้สามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข ได้รับความช่วยเหลือในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเท่าเทียมกัน
ในการปฏิบัติงานครั้งนี้ เนคเทค สวทช. ได้นำระบบบริการยืนยันตัวตนด้วยภาพใบหน้า (Face Verification) พัฒนาขึ้นโดย ทีมวิจัยการประมวลผลและเข้าใจภาพ กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (IPU/ AINRG) และงานยกระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (LTSS) เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน ร่วมกับระบบสแกนม่านตา (Iris Scan) จัดเก็บข้อมูลโดย International Rescue Committee (IRC) สำหรับการลงทะเบียนยืนยันตัวตนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และบันทึกข้อมูลประวัติการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มชาติพันธ์ุ ผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งระบบบริการยืนยันตัวตนด้วยภาพใบหน้า จะทำการเก็บข้อมูลภาพในครั้งแรกของผู้ที่มารับวัคซีน เมื่อมารับการฉีดวัคซีนครั้งถัดไป ระบบฯ สามารถค้นหาข้อมูลบุคคลจากภาพใบหน้า (Face Search) ด้วยขั้นตอนการตรวจจับวิเคราะห์ภาพใบหน้า แล้วนำมาประมวลผลเปรียบเทียบภาพใบหน้าที่ลงทะเบียนไว้แล้วในระบบฯ และคัดเลือกใบหน้าที่ใกล้เคียงขึ้นมาแสดงผล ใช้ในกรณีที่ผู้รับวัคซีนไม่ได้นำเอกสารประจำตน หรือหลักฐานการฉีดวัคซีนมาแสดง แต่หากเคยบันทึกภาพใบหน้าและเก็บข้อมูลลงในระบบฯไว้แล้ว ผู้รับวัคซีนสามารถมาที่จุดคัดกรองให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล โดยใช้ภาพใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนเข้ารับบริการฉีดวัคซีนได้ ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้มารับวัคซีนอย่างมากเพราะข้อมูลการฉีดวัคซีนจะได้รับการบันทึกอย่างต่อเนื่อง
– กลุ่มชาติพันธุ์ ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ บ้านถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี (3 ครั้ง) จำนวน 1,649 คน
– ศูนย์พักพิงบ้านใหม่ในสอย จ.แม่ฮ่องสอน (3 ครั้ง) จำนวน 2,763 คน
– ศูนย์พักพิงแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก (3 ครั้ง) จำนวน 685 คน
– ตลาดทะเลไทย จ.สมุทรสาคร (1 ครั้ง) จำนวน 1,636 คน
– ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร (1 ครั้ง) จำนวน 513 คน
– แรงงานด้อยสิทธิ ในกรุงเทพฯ ณ สำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ สภากาชาดไทย กรุงเทพมหานคร (30 ครั้ง) จำนวน 788 คน
– ศูนย์การค้าซีคอน บางแค กรุงเทพมหานคร (1 ครั้ง) จำนวน 231 คน