เรื่องโดย ปิยพร เศรษฐศิริไพบูลย์
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)
“แต่ก่อนไม่มีรายได้จากผัก เดี๋ยวนี้ได้วันละ 40-50 บาท บางวันได้ 100-200 บาท ผักที่เราปลูกเองกินอร่อยกว่า ไม่ต้องซื้อผักจากตลาดแล้ว” วันเพ็ญ บุญเชิด เล่าด้วยรอยยิ้มระหว่างที่รดน้ำแปลงผักน้อย ๆ ของเธอ
วันเพ็ญเป็นสมาชิกกลุ่มปลูกผักบ้านบุตาโสม ตำบลเมืองบัว อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ เธอได้รับจัดสรรพื้นที่ขนาด 1.5×7 เมตร เป็นหนึ่งในแปลงผักนับสิบแปลงบนพื้นที่เกือบ 1 ไร่ ด้านหลังโรงเรียนบ้านบุโสม จากพื้นที่รกร้าง สภาพดินที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ถูกแปรเปลี่ยนเป็นแปลงผักเขียวขจีเต็มพื้นที่ ด้วยความตั้งใจของเสมอ กระจ่างจิต ผู้ใหญ่บ้านบุตาโสม ที่ต้องการให้ลูกบ้านได้รับประทานผักปลอดภัย
“ชาวบ้านพบสารเคมีตกค้างในเลือดกันทุกคน เราทำนาปีละครั้ง การรับสารเคมีอาจไม่เยอะเท่าผักที่เราซื้อกินทุกวัน วิธีที่เราพอจะป้องกันได้ก็คือ ปลูกผักกินเอง”
เสมอใช้เวลากว่า 2 ปี ปรับปรุงพื้นที่บำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์และขี้วัว ก่อนจะแบ่งพื้นที่ให้สมาชิกรุ่นบุกเบิก 10 คน ได้จับจองปลูกผักปลอดภัยไว้บริโภคเอง
“ปีแรกใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 1 งานกว่า ๆ แบ่งพื้นที่กัน รับผิดชอบแปลงตัวเองเป็นหลัก ปลูกผักที่อยากกิน ปลูกได้บ้างไม่ได้บ้าง ต้นไม่ใหญ่ ไม่งาม บางทีก็ยืนต้นตาย”
ช่วงปี พ.ศ. 2565 สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ลงพื้นที่สร้างความร่วมมือและขยายผลการทำงานในตำบลเมืองบัว เสมอมีโอกาสเข้าร่วมประชุมและได้นำเสนอปัญหาการผลิตผักของกลุ่มฯ เป็นจุดเริ่มต้นที่ สท. สวทช. ได้เข้าถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้กลุ่มฯ
“เราปลูกแบบรู้ แต่รู้ไม่จริง ไม่ได้ศึกษาดิน ปุ๋ยหรือการใช้สารชีวภาพต่างๆ ปลูกแน่นไปเพราะอยากได้เยอะ ดูแลก็ไม่ถูกวิธี อยากให้ผักงามก็ใส่แต่ปุ๋ยและน้ำหมัก พอ สท. สวทช. ลงมาให้ความรู้ตั้งแต่การเตรียมแปลง การเพาะกล้า ระยะปลูก รวมไปถึงการคิดต้นทุน-กำไรการผลิต เราเห็นความเปลี่ยนแปลง ผักโตและงาม คนมาเห็นก็อยากซื้อ จากที่ปลูกกินเอง สมาชิกก็ได้ขายด้วย”
นอกจากองค์ความรู้การปลูกพืชผักแล้ว สมาชิกกลุ่มฯ ยังได้เรียนรู้การใช้ “โรงเรือนปลูกพืช” อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยให้พวกเขาปลูกผักได้ทุกฤดู
“ที่ผ่านมาเรามีปัญหาหน้าฝนปลูกผักไม่ได้ ผักไม่โต การมีโรงเรือนจะช่วยเราได้ แล้วเรายังได้รู้วิธีที่จะใช้โรงเรือนให้คุ้มค่า วิธีคำนวณพื้นที่ปลูก จำนวนต้นที่จะปลูก การคิดต้นทุนและกำไรเป็นตารางเมตร เราเริ่มเรียนรู้มากขึ้นและมองไปถึงอนาคตว่าถ้าจะปลูกขายเชิงตลาด ก็น่าจะเป็นไปได้”
โรงเรือนปลูกพืชโครงสร้างไม้ไผ่ขนาด 2.5×11.6×2.5 เมตร จำนวน 2 หลัง และโรงเรือนปลูกพืชโครงสร้างเหล็กขนาด 3x6x2.5 เมตร (ดัดแปลงจากโครงเต็นท์เก่า) จำนวน 1 หลัง ตั้งเรียงอยู่ริมพื้นที่ เป็นโรงเรือนที่เสมอเขียนโครงการ “หมู่บ้านนำร่องปลูกผักปลอดภัย” ขอรับสนับสนุนงบประมาณจาก องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองบัว จำนวน 20,000 บาท และได้รับสนับสนุนพลาสติกคลุมโรงเรือนจาก สท. สวทช.
“เราใช้รูปแบบโรงเรือนของ สท. สวทช. สร้างโรงแรกเสร็จก็ล้ม เพราะเราอ่านแบบผิด ก็ทำกันใหม่ ส่วนไม้ไผ่ในพื้นที่หายาก ที่มีอยู่ไม้ก็ไม่ตรง ต้องซื้อจากพื้นที่อื่น ตอนนี้ก็ปลูกไม้ไผ่ไว้เองแล้ว ต่อไปจะได้เอามาทำโรงเรือน”
เมื่อได้เติมเต็มความรู้ ผลผลิตผักที่งอกงามเป็นแรงดึงดูดให้ชาวบ้านสนใจเข้าร่วมกลุ่มมากขึ้น จาก 10 คน ขยับเป็น 19 คน ขณะที่พื้นที่มีจำกัด ยรรยง ปลาเงิน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ต้องจัดสรรแบ่งพื้นที่ให้เพียงพอ รวมไปถึงพื้นที่ในโรงเรือนปลูกพืชต้นทุนต่ำ
“การปลูกผักเปลี่ยนวิถีคนในชุมชนไปเยอะ ชาวบ้านเริ่มไม่กินผักตลาด เริ่มเข้าใจผักตลาดกับผักที่ปลูกเองต่างกันอย่างไร แล้วการปลูกผักยังสร้างความสามัคคีในชุมชน ลูกบ้านที่เคยทะเลาะกัน จับมาปลูกผักแปลงใกล้กัน คุยกันไปคุยกันมา เดี๋ยวก็ดีกันเอง”
ช่วงเช้าและเย็นของทุกวัน สมาชิกกลุ่มฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงจะเข้ามาดูแลรดน้ำแปลงผักของตนเองและแปลงข้างเคียง ตัดเก็บผลผลิตที่พร้อมบริโภค หากมีเหลือเกินความต้องการ นำไปแบ่งขายราคาถูกให้ชาวบ้าน
“ราคาขายถูกกว่าท้องตลาดและได้ปริมาณเยอะกว่า เช่น สลัด ตลาดขาย 30 บาทต่อกอ แต่เราขาย 10 บาท เราไม่กำหนดชนิดผักที่ปลูก แต่ไม่ให้ซ้ำกันมากไป เพราะถ้าเหลือขายจะขายไม่หมด หมู่บ้านเราเป็นหมู่บ้านเล็ก ก็เริ่มมีสมาชิกไปขายต่างหมู่บ้านบ้างแล้ว พอเริ่มมีรายได้ก็เริ่มขยันดูแลผักดีกว่าที่ผ่านมา คนที่ขยันมีรายได้จากผักเดือนละ 2-3 พันบาท จากเดิมที่ปลูกแล้วเก็บกินได้ก็เก็บกิน ถ้าตาย ก็แล้วไป แต่หลังจากได้รับความรู้และมีรายได้จากการขายผัก การดูแลเอาใจใส่ดีขึ้นเยอะ”
การเกิดขึ้นของแปลงผักปลอดภัยในชุมชนสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งต่อสุขภาพ รายได้ และความสามัคคีของชาวบ้าน ซึ่งเสมอตั้งใจให้พื้นที่ปลูกนี้เป็นแปลงเรียนรู้ให้ชุมชน
“จุดนี้เป็นแปลงสาธิตให้คนสนใจมาเรียนรู้ มาลองทำฝึกฝีมือ ทำเก่งแล้ว รู้จักคำนวณแล้วไม่ขาดทุน ได้กำไร พอมองเห็นอนาคต ก็ขยายไปใช้พื้นที่นาตัวเอง ขยับเป็นรายได้เสริมต่อไปได้”
ยรรยงเสริมว่า รายได้ต่อครัวเรือนของชาวบ้านไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี รายได้จากผักเอาไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ถ้าจะให้ปลูกผักเป็นรายได้หลักของครอบครัว ต้องเรียนรู้แล้วไปทำในพื้นที่ตัวเองและมีมาตรฐานรับรอง
เมื่อต้นปี พ.ศ. 2567 เสมอเป็นตัวแทนกลุ่มไปศึกษาดูงานการผลิตพืชผักในระบบเกษตรอินทรีย์ที่สวนจิราภาออร์แกนิคและสวนปันบุญ อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ เครือข่ายการทำงานของ สท. สวทช. ที่นั่นได้จุดประกายความคิดและความฝันให้เสมอต้องการขับเคลื่อนการปลูกผักของกลุ่มฯ ไปถึงการรับรองมาตรฐาน Organic Thailand และสามารถส่งจำหน่ายโรงพยาบาลในพื้นที่
“ตอนนี้ต้องทำให้เก่งก่อน ใช้ประโยชน์จากแปลงสาธิตที่เรามีอยู่ ศึกษาและฝึกฝนให้ถ่องแท้ ปลูกผักต้องใส่ใจ ดูแลสภาพดิน น้ำเป็นอย่างไร มีอะไรมารบกวนผัก เราจะจัดการอย่างไร ต้องรู้วิธี พัฒนาตัวเอง ถ้าเราได้มาตรฐาน จะยกระดับผักเราได้ เวลาไปขายก็สร้างความเชื่อมั่นได้” เสมอทิ้งท้าย
ที่มา: หนังสือ ‘พลังวิทย์’ เสริมศักยภาพเกษตรไทย, สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร, 2567.