Headlines

ดาวศุกร์ ที่มาของวันศุกร์

โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer


          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในดินแดนกรีกโบราณ มีงานอภิเษกสมรส (แต่งงาน) ของพระราชาพีเลียส (Peleus) แห่งเมืองเทีย (Phthia) กับทีติส (Thetis) เทพธิดาแห่งทะเล เหล่าทวยเทพได้รับเชิญมางานโดยพร้อมหน้า ยกเว้นเอริส (Eris) เทพีแห่งความแตกแยก ที่ไม่ได้รับเชิญมา


ภาพการตัดสินของปารีส (Judgement of Paris) วาดโดย Sandro Botticelli จิตรกรชาวอิตาลี ประมาณปี พ.ศ. 2028-2031
ที่มาภาพ Wikipedia

          ด้วยความโกรธและต้องการจะแก้แค้น เอริสได้แอบโยนลูกแอปเปิลทองคำที่สลักข้อความไว้ว่า “สำหรับผู้ที่สวยที่สุด” เข้าไปในงาน ทำให้เกิดการถกเถียงกันวุ่นวายว่าใครคือผู้ที่สวยที่สุดที่จะได้แอปเปิลทองคำลูกนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทพีผู้เป็นใหญ่ทั้งสามคือ เฮรา (Hera) มเหสีของซูส (Zeus) ราชาแห่งเทพเจ้าทั้งหลาย, อทีนา (Athena) และแอโฟรไดที (Aphrodite) ราชธิดาของซูส (ทั้งสองไม่ได้ประสูติจากเฮรา)

          เฮรา, อทีนา และ แอโฟรไดที ได้ขอให้ซูสทรงช่วยตัดสิน ซูสทรงเกรงว่าถ้าตัดสินให้ใครคนใดคนหนึ่งชนะ อีกสองคนจะไม่พอใจ ดังนั้นจึงบอกว่าตนไม่สามารถตัดสินได้ แล้วให้ทั้งสามไปหาเจ้าชายปารีส (Paris) แห่งเมืองทรอย (Troy) เพื่อตัดสิน


ภาพกำเนิดวีนัส (The Birth of Venus) วาดโดย Sandro Botticelli จิตรกรชาวอิตาลี ประมาณปี พ.ศ. 2028-2029
ที่มาภาพ Wikipedia

          เจ้าชายปารีสเมื่อทรงพบเทพีทั้งสามแล้วก็ยังทรงไม่สามารถตัดสินพระทัยได้ เนื่องจากเทพีแต่ละองค์ก็มีความงามคนละแบบ เทพีทั้งสามจึงทรงพยายามให้สินบน โดยถ้าเจ้าชายปารีสทรงตัดสินให้ชนะ เฮราจะทรงมอบอำนาจให้เจ้าชายปารีสได้ทรงครอบครองยุโรปและเอเชีย, อทีนาจะทรงมอบทักษะความสามารถให้เจ้าชายปารีสได้กลายเป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่ ส่วนแอโฟรไดทีจะทรงมอบผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลก เมื่อทรงได้ฟังข้อเสนอเช่นนี้ เจ้าชายปารีสทรงไม่ลังเลที่จะเลือกแอโฟรไดทีเป็นผู้ชนะได้แอปเปิลทองคำ

          ผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลกคือ เฮเลน (Helen) ราชินีของพระราชาเมเนเลอัส (Menelaus) แห่งเมืองสปาร์ตา (Sparta) เจ้าชายปารีสได้ทรงแอบลักพาตัวเฮเลนไปยังเมืองทรอย

          เมเนเลอัสกริ้วมาก ทรงชวนพระราชาและเจ้าชายเมืองต่างๆ ไปทำสงครามกับเมืองทรอยเพื่อชิงเฮเลนกลับคืนมา เกิดเป็นสงครามครั้งใหญ่ยาวนานถึง 10 ปี นั่นคือ สงครามกรุงทรอย (Trojan War)

          ชาวโรมันเรียกเทพีแอโฟรไดทีของชาวกรีกว่า วีนัส (Venus) ในภาษาอังกฤษคำนี้ยังแปลว่า ดาวศุกร์ ที่มาของวันศุกร์

          คำว่าวันศุกร์ในภาษาอังกฤษคือ Friday มาจากภาษาอังกฤษเก่าว่า frīġedæġ แปลว่า วันของฟริกก์ (Frigg) เทพีของชาวนอร์ส (Norse) หรือชาวไวกิง (Viking) ราชินีของเทพโอดิน (Odin)

          ดาวศุกร์ได้ชื่อว่าเป็นน้องสาวฝาแฝดของโลกเนื่องจากมีขนาดเล็กกว่าโลกเล็กน้อย อย่างไรก็ตามมีความแตกต่างระหว่างดาวศุกร์กับโลกที่สำคัญคืออุณหภูมิและการหมุน

          ระบบสุริยะ (solar system) มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ถัดมาเป็นดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน

          ดาวศุกร์แม้จะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าดาวพุธ แต่ดาวศุกร์กลับร้อนกว่าดาวพุธ โดยเวลากลางวันบนดาวพุธด้านมีอุณหภูมิสูงมากถึง 430 องศาเซลเซียส แต่เวลากลางคืนกลับมีอุณหภูมิต่ำถึง -180 องศาเซลเซียส ที่ดาวพุธอุณหภูมิต่างกันมากเช่นนี้เนื่องจากดาวพุธมีชั้นบรรยากาศบาง ทำให้ไม่สามารถรักษาอุณหภูมิให้คงที่ไปทั่วดาวได้

          ขณะที่ดาวศุกร์มีอุณหภูมิที่พื้นผิวสูงมากถึง 475 องศาเซลเซียส (สามารถละลายตะกั่ว) ดาวศุกร์จึงเป็นดาวที่ร้อนที่สุดในระบบสุริยะ


ภาพดาวศุกร์ถ่ายโดยใช้เรดาร์ของยาน Magellan เมื่อปี ค.ศ. 1989 แล้วใช้คอมพิวเตอร์รวมสร้างภาพขึ้นมา
ที่มาภาพ NASA

          สาเหตุที่ดาวศุกร์มีอุณหภูมิสูงมากเนื่องจากเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) หรือปรากฏการณ์ดาวศุกร์ร้อน (เหมือนปรากฏการณ์โลกร้อน แต่บนดาวศุกร์รุนแรงกว่า) ชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 96 เปอร์เซ็นต์ เป็นก๊าซเรือนกระจกที่เก็บความร้อนจากรังสีดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกแบบกู่ไม่กลับ (runaway greenhouse effect) ซึ่งเป็นอุทาหรณ์สำหรับโลกของเรา

          ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนดาวศุกร์เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากภูเขาไฟ แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนโลกจำนวนมากเกิดจากการกระทำของมนุษย์


ภาพกราฟอุณหภูมิโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2423-2564 น่าเป็นห่วงว่าอาจเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกแบบกู่ไม่กลับเช่นเดียวกับดาวศุกร์
ที่มาภาพ NASA

          เมื่อมองจากภายนอกเราจะมองไม่เห็นพื้นผิวดาวศุกร์เลย เนื่องจากมีเมฆพิษหนาปกคลุมทั่วทั้งดาว เป็นเมฆกรดกำมะถัน (sulfuric acid) กลิ่นเหมือนไข่เน่า ความหนาของเมฆ 25 กิโลเมตร

          ดาวศุกร์ยังเป็นดาวที่หมุนรอบตัวเองในทิศทางตรงข้ามหรือกลับด้านเมื่อเทียบกับโลกและดาวเคราะห์ส่วนใหญ่ในระบบสุริยะ บนดาวศุกร์เราจะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก และตกทางทิศตะวันออก

          นอกจากนี้ดาวศุกร์ยังหมุนรอบตัวเองช้ามาก 1 วัน บนดาวศุกร์ (ดาวศุกร์หมุนรอบตัวเอง 1 รอบ) เท่ากับ 243 วันบนโลก แต่ 1 ปี บนดาวศุกร์ (ดาวศุกร์หมุนรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบ) เท่ากับ 225 วันบนโลก ทำให้บนดาวศุกร์ 1 วัน นานกว่า 1 ปี

          ความกดอากาศบนดาวศุกร์มากกว่าโลกเราถึง 90 เท่า ดาวศุกร์ไม่มีดวงจันทร์บริวาร และไม่มีวงแหวน


ภาพพื้นผิวดาวศุกร์ ถ่ายโดยยาน Venera 14 เมื่อปี พ.ศ. 2525
ที่มาภาพ NASA

          ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้โลกที่สุด และเป็นดาวเคราะห์ดวงแรกที่มนุษย์ส่งยานอวกาศไปสำรวจ โดยยาน Mariner 2 ของสหรัฐอเมริกาเป็นลำแรกที่บินผ่านดาวศุกร์และส่งภาพกลับมาโลกเมื่อปี พ.ศ. 2505, ยาน Venera 3 ของสหภาพโซเวียต เป็นยานลำแรกที่ตกลงถึงพื้นผิวดาวศุกร์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ปี พ.ศ. 2509  และนับเป็นยานอวกาศของมนุษย์ลำแรกที่ไปถึงพื้นผิวดาวเคราะห์ดวงอื่น, ยาน Venera 4 ของสหภาพโซเวียตเป็นยานลำแรกที่เข้าไปสำรวจบรรยากาศของดาวศุกร์และส่งข้อมูลกลับมาโลกได้ในปี พ.ศ. 2510 และยานที่สามารถลงจอดและถ่ายภาพพื้นผิวดาวศุกร์ได้ลำแรกคือยาน Venera 9 ของสหภาพโซเวียต ในปี พ.ศ. 2518


ภาพปรากฏการณ์ที่หาชมยาก 2 เหตุการณ์ เกิดพร้อมกัน คือ ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ (Transit of Venus)
ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555 (ครั้งต่อไปคือวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2660)
เห็นดาวศุกร์เป็นจุดดำด้านบนดวงอาทิตย์ ขณะที่แสงดวงอาทิตย์หักเหผ่านชั้นบรรยากาศที่ขอบฟ้า
เห็นดวงอาทิตย์เป็นรูปร่างเหมือนแจกันกรีกโบราณที่เรียกว่า แจกันอิทรัสกัน (Etruscan vase)
หรือตัวอักษรโอเมกา (omega) Ω ในภาษากรีก ภาพนี้ถ่ายที่ทะเลดำ (Black Sea) โดย Emil Ivanov
ที่มาภาพ NASA

          เมื่อมองจากบนโลก ดาวศุกร์เป็นดาวที่สว่างที่สุดอันดับ 3 บนท้องฟ้า รองจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ สามารถเห็นในเวลากลางวันก่อนดวงอาทิตย์ตกไม่นาน หรือหลังดวงอาทิตย์ขึ้นได้สักพัก

          มีบางคนเข้าใจผิดว่า ดาวศุกร์คือดาวเหนือ (Polaris) เนื่องจากดาวศุกร์มีความสว่างมาก ความจริงคือดาวเหนือสว่างไม่มาก อันดับความสว่าง (magnitude) +2 (เห็นได้ยากในกรุงเทพฯ) ขณะที่ดาวศุกร์สว่างมากที่สุดได้ถึงประมาณ -5 ต่างกันประมาณ 250 เท่า


ภาพการวัดองศาบนท้องฟ้า โดยเหยียดแขนออกไปแล้วยกนิ้วตามรูป ตัวอย่างเช่น ความกว้างของนิ้วก้อยประมาณ 1 องศา, ความกว้างของกำปั้นประมาณ 10 องศา ฯลฯ
ที่มาภาพ Time and Date

          ดาวศุกร์ไม่เคยอยู่ทิศเหนือ ส่วนดาวเหนือจะอยู่บนท้องฟ้าทิศเหนือตลอดเวลา ไม่มีขึ้นหรือตก เหมือนปักหมุดอยู่ประจำที่บนท้องฟ้าทิศเหนือ โดยดาวเหนือจะอยู่สูงจากขอบฟ้า (มุมเงย หรือ altitude) เท่ากับตำแหน่งละติจูด (latitude) ที่เราดูอยู่ เช่น กรุงเทพฯ ละติจูด 14 องศา ดาวเหนือก็อยู่สูง 14 องศา, เชียงใหม่ ละติจูด 19 องศา ดาวเหนือก็อยู่สูง 19 องศา ขณะที่ดาวศุกร์มีขึ้นและตก และเปลี่ยนตำแหน่งความสูง โดยสามารถขึ้นสูงได้ถึง 47 องศา

          ปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 เราจะเห็นดาวศุกร์ตอนเช้ามืดทางทิศตะวันออก จนถึงประมาณปลายเดือนสิงหาคมดาวศุกร์จะอยู่ต่ำมากจนมองเห็นได้ยาก หลังจากนั้นต้นเดือนธันวาคมจะเห็นดาวศุกร์ย้ายไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ตอนหัวค่ำ

          ดาวศุกร์ที่เห็นตอนเช้ามืดมีชื่อเรียกว่า ดาวประกายพรึก หรือ ดาวรุ่ง (morning star) และดาวศุกร์ที่เห็นตอนหัวค่ำเรียกว่า ดาวประจำเมือง (evening star)

          เมื่อมองดาวศุกร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องดูดาวจะเห็นดาวศุกร์เป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ เนื่องจากมุมมองจากบนโลก (แนะนำกล้องที่มีหน้ากล้องกว้างมากกว่า 60 มิลลิเมตร หรือ 2.4 นิ้ว กำลังขยายมากกว่า 50 เท่าขึ้นไป)

About Author