เที่ยวพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์…ความเป็นไปแห่งกาลเวลา

เรื่องโดย นุรักษ์ จิตต์สะอ้าน


สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เราก้าวเข้าสู่เดือนตุลาคม เดือนที่ว่ากันว่าเป็นอีกช่วงการเปลี่ยนผ่านแห่งฤดูกาล ปลายฝนต้นหนาว ซึ่งในช่วงปลายฤดูฝนปีนี้ประเทศไทยเราและประเทศในภูมิภาคอินโดจีนต่างได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่ค่อนข้างเยอะมากกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลจากพายุซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ ถึงแม้ว่าศูนย์กลางของพายุจะไม่ได้เข้าประเทศไทยโดยตรง แต่อิทธิพลจากมันก็หอบเอาฝนปริมาณมหาศาลตกลงในพื้นที่แหล่งต้นน้ำลำธารของหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง

จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจังหวัดหนึ่งคือ เชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีแม่น้ำสำคัญจำนวน 3 สาย โดยมีแม่น้ำ 2 สาย ที่มีต้นกำเนิดอยู่ในรัฐฉานของประเทศเมียนมาร์ ได้แก่ แม่น้ำแม่สาย (ความยาวรวมทั้งหมด 30 กิโลเมตร ความยาวในประเทศไทย 15 กิโลเมตร) ไหลลงแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงแสน แม่น้ำกก (ความยาวรวมทั้งหมด 285 กิโลเมตร ความยาวในประเทศไทย 130 กิโลเมตร) ไหลลงแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงแสนเช่นกัน และอีกหนึ่งสายที่มีต้นกำเนิดจากทิวเขาผีปันน้ำในประเทศไทยของเราเอง คือ แม่น้ำอิง (ความยาวรวมทั้งหมด 260 กิโลเมตร) ไหลลงแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงของ จากปริมาณฝนตกอย่างหนักและต่อเนื่องอยู่หลายวัน ทำให้เกิดอุทกภัยที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนในจังหวัดเชียงรายอย่างหนัก ผู้เขียนก็ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมบริจาคเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ แม้ไม่ได้เป็นจำนวนที่มากมาย แต่ความห่วงใยของพี่น้องคนไทยที่ช่วยกันคนละเล็กละน้อย ก็น่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวเชียงรายได้มากทีเดียว

ผู้เขียนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปท่องเที่ยวป่าช่วงนี้ก่อน โดยเฉพาะในพื้นที่ฝนตกหนักของภาคเหนือ เพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของตัวผู้เขียนเอง จะได้อยู่เขียนเรื่องราวเชิงวิทยาศาสตร์ผ่านการท่องเที่ยวให้ทุกท่านอ่านกันไปเรื่อย ๆ ดังนั้นสาระวิทย์ฉบับนี้จึงเลือกพาไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา จังหวัดลำปาง ซึ่งมีอาคารโดดเด่นเป็นสง่าตั้งอยู่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 พหลโยธิน หากเดินทางจากจังหวัดตากมาเรื่อย ๆ จนเข้าเขตบริเวณตัวอำเภอเกาะคา จะอยู่ด้านซ้ายมือ

พิพิธภัณฑ์ฯ แห่งนี้เป็น 1 ใน 7 หน่วยงานด้านพิพิธภัณฑ์ทางธรณีวิทยาของประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและบริหารโดยกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนอีก 6 แห่ง ได้แก่ (1) พิพิธภัณฑ์แร่-หิน กรุงเทพมหานคร (2) ศูนย์วิจัยทรัพยากรแร่และหิน จังหวัดระยอง (3) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี (4) ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น (5) พิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์ และ (6) พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เรื่องของการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา เป็นอีกหนึ่งการเรียนรู้เกี่ยวกับการถือกำเนิดสิ่งมีชีวิตขึ้นในโลก แน่นอนว่ามนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตแรกที่ถือกำเนิดขึ้นบนโลกนี้ โลกของเราเกิดมาเมื่อกว่า 4,600 ล้านปีมาแล้ว ในขณะที่สิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่ได้รับการเก็บบันทึกไว้ว่าเกิดขึ้นเมื่อ 3,500 ล้านปีมาแล้ว คือ ไซยาโนแบคทีเรีย (cyanobacteria) หรือสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (blue-green algae) ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ยงคงกระพัน อยู่คู่โลกของเรามานานแสนนาน ผ่านการเกิดขึ้นและสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด ทำให้อยากรู้ต่อว่าเพื่อนร่วมโลกยุคโบราณของไซยาโนแบคทีเรียมีอะไรบ้าง โดยเฉพาะชนิดที่ขุดพบในแหล่งซากดึกดำบรรพ์ในประเทศไทยเองนั้นจะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนสัตว์ในปัจจุบันที่พวกเรารู้จัก คุ้น ๆ หรือไม่ ตามมาดูกันครับ

ที่จอดรถของพิพิธภัณฑ์ฯ อยู่ตรงโซนด้านหน้าติดกับถนนพหลโยธิน กว้างขวางรองรับรถของผู้มาเที่ยวชมได้อย่างสบาย ๆ หลังจอดรถแล้ว เราเดินเข้าไปในเขตพื้นที่บริเวณตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ก็จะพบกับเสือเขี้ยวดาบ ยืนแยกเขี้ยวรอต้อนรับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์อยู่ 1 คู่ เสือเขี้ยวดาบ (saber-toothed tiger) หรือสไมโลดอน (Smilodon) ผู้มีถิ่นกำเนิดและแพร่กระจายในทวีปอเมริกา นับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์นักล่าที่โดดเด่นและน่าเกรงขามในยุคหนึ่งก่อนจะสูญพันธุ์ไปเมื่อราว 10,000 ปีที่ผ่านมา โดยมีญาติที่ใกล้ชิดกันในยุคปัจจุบันก็คือ เสือลายเมฆ (Neofelis sp.) และสิงโต (Panthera leo) นอกจากนี้ยังมีช้างดึกดำบรรพ์สายพันธุ์ต่าง ๆ ยืนตั้งตระหง่านรอให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูป เช่น ช้างสี่งา (Gomphotherium) ช้างสเตโกดอน (Stegodon) และมีไดโนเสาร์สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่พบในประเทศไทย มาโชว์ตัวกันพร้อมหน้าพร้อมตาให้นักท่องเที่ยวได้ทำความรู้จักก่อนเข้าสู่ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ

เราเริ่มต้นการเดินทางโดยกลับไปยังห้วงเวลาอันไกลโพ้นตั้งแต่เมื่อ 3,600 ล้านปี อันเป็นช่วงเวลาก่อกำเนิดไซยาโนแบคทีเรียหรือสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ผู้ผลิตออกซิเจนรายแรกจวบจนถึงปัจจุบันให้โลกใบนี้ โดยมีซากฟอสซิลสโตรมาโตไลต์ (Stromatolite) เป็นหลักฐานชี้ชัดถึงการกำเนิดขึ้นของผู้ผลิตออกซิเจนรายสำคัญของโลก แล้วจึงเข้าสู่มหายุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic Era) ในช่วงเวลา 543–245 ล้านปีก่อนนี้เอง อันเป็นช่วงเวลาที่มีการก่อกำเนิดสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่ในน้ำ ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม เช่น ไตรโลไบต์ แอมโมไนต์ หอย ปลา แมลง โดยตลอดมหายุคพาลีโอโซอิกนี้ได้แบ่งย่อยออกเป็นอีก 6 ยุค (period) และถึงจุดสิ้นสุดลงเมื่อเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Permian–Triassic extinction) สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกสูญพันธุ์ไปกว่าร้อยละ 95 ของสายพันธุ์ที่มีในขณะนั้น เนื่องมาจากการเกิดยุคน้ำแข็งฉับพลันหรือเกิดภูเขาไฟระเบิด

การจากไปของมหายุคพาลีโอโซอิกถูกแทนที่ด้วยการมาของมหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) ในช่วงเวลา 245–65 ล้านปีก่อน อันเป็นมหายุคที่น่าตื่นเต้นและเร้าใจ มีแต่สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่มหึมาบิ๊กบึ้มกันเสียทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคจูแรสซิก (Jurassic Period) อันเป็นยุคทองของเหล่าบรรดาไดโนเสาร์ (dinosaur) สายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานผู้เป็นใหญ่อยู่บนพื้นพสุธา เพลสซิโอซอร์ (plesiosaur) และอิกทีโอซอร์ (ichthyosaur) สัตว์เลื้อยคลานผู้ยึดครองท้องทะเล และเทอโรซอร์ (Pterosaur) สัตว์เลื้อยคลานบินได้ผู้ครอบครองท้องนภา กาลเวลาในมหายุคมีโซโซอิกได้สิ้นสุดลงพร้อมกับการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์และผองเพื่อน จากการที่ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกอย่างรุนแรง

  

ในประเทศไทยมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์หลากหลายประเภทตั้งแต่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง สัตว์มีกระดูกสันหลัง ซากพืชหลากหลายชนิด รวมถึงร่องรอยของสัตว์ดึกดำบรรพ์ เช่น รอยตีนและรอยทางเดินของไดโนเสาร์ ซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยมีอายุราว 500 ล้านปี พบที่เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล นอกเหนือจากที่เกาะตะรุเตาแล้วยังมีอีกหลายสถานที่ที่ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ ได้แก่ แอ่งเชียงม่วน แอ่งแม่ฮ่องสอน แอ่งลี้ แอ่งลำปาง แอ่งแม่เมาะ แอ่งเพชรบูรณ์ แอ่งโคราช และแอ่งกระบี่

  • บรมยุค (Eon) มหายุค (Era) ยุค (Period) และ สมัย (Epoch)
  • บรมยุคพรีแคมเบรียน (Precambrian Eon) 4,600–543 ล้านปีก่อน
  • บรมยุคพาเนอโรโซอิก (Phanerozoic Eon) 543 ล้านปี ถึงปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 3 มหายุค
  1. มหายุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic Era) 543–245 ล้านปีก่อน
  • ยุคแคมเบรียน (Cambrian Period) 543–488 ล้านปีก่อน
  • ยุคออร์โดวิเชียน (Ordovician Period) 488–444 ล้านปีก่อน
  • ยุคไซลูเรียน (Silurian Period) 444–416 ล้านปีก่อน
  • ยุคดีโวเนียน (Devonian Period) 416–359 ล้านปีก่อน
  • ยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous Period) 359–299 ล้านปีก่อน
  • ยุคเพอร์เมียน (Permian Period) 299–245 ล้านปีก่อน2. มหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) 245–65 ล้านปีก่อน
  • ยุคไทรแอสซิก (Triassic Period) 245–201 ล้านปีก่อน
  • ยุคจูแรสซิก (Jurassic Period) 201-145 ล้านปีก่อน
  • ยุคครีเทเชียส (Cretaceous Period) 145–65 ล้านปีก่อน3. มหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic Era) 65 ล้านปีก่อน ถึงปัจจุบัน
  • ยุคเทอเทียรี (Tertiary Period) 65-2.6 ล้านปีก่อน
    – สมัยพาลีโอซีน (Paleocene Epoch) 65–56 ล้านปีก่อน
    – สมัยอิโอซีน (Eocene Epoch) 56–33.9 ล้านปีก่อน
    – สมัยโอลิโกซีน (Oligocene Epoch) 33.9–23 ล้านปีก่อน
    – สมัยไมโอซีน (Miocene Epoch) 23–5.3 ล้านปีก่อน
    – สมัยไพลโอซีน (Pliocene Epoch) 5.3–2.6 ล้านปีก่อน
  • ยุคควอทเทอนารี (Quaternary Period) 2.6 ล้านปีก่อน ถึงปัจจุบัน
    – สมัยไพลสโตซีน (Pleistocene Epoch) 2.6 ล้านปีก่อน ถึง 12,000 ปีก่อน
    – สมัยปัจจุบัน (Holocene Epoch) 12,000 ปีก่อน ถึงปัจจุบัน

เมื่อสิ้นสุดมหายุคมีโซโซอิก บรรดาไดโนเสาร์ต่างล้มตายสูญพันธุ์หมดไป ในขณะเดียวกันก็เป็นการเริ่มต้นของมหายุคซีโนโซอิกที่มีการปรากฏกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ม้าอีโอฮิปปุส (Eohippus) ช้างสเตโกดอน (Stegodon) หมีถ้ำ (cave bear) ลิงไม่มีหาง (ape) และในราว 5–1.8 ล้านปี เป็นยุคที่บรรพบุรุษของมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นบนโลก เช่น มนุษย์ Homo habilis ในประเทศแทนซาเนีย ราว 2.3–1.6 ล้านปี มนุษย์ Homo erectus ที่มีถิ่นกำเนิดจากทวีปแอฟริกาและอพยพหรือแพร่กระจายมายังทวีปเอเชีย พบในราว 1.9 ล้านปี ถึง 27,000 ปีก่อน จวบจนมีการค้นพบมนุษย์ในยุคปัจจุบันเป็นครั้งแรกในภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือ นั่นคือ Homo sapiens ในประเทศโมร็อกโก เมื่อราว 300,000–350,000 ปีที่ผ่านมา

มนุษย์เกาะคา (Ko-Kha Man)

การศึกษาการแพร่กระจายของมนุษย์ Homo erectus ในทวีปเอเชียนั้นมีความเป็นมาดังนี้

  • ปี พ.ศ. 2434 ค้นพบซากมนุษย์โบราณกลุ่มนี้ที่หมู่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย จึงเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง เรียกว่า “มนุษย์ชวา (Java Man)” อายุประมาณ 700,000–400,000 ปีมาแล้ว
  • ปี พ.ศ. 2470 ค้นพบซากมนุุษย์โบราณที่ถ้ำโจวโข่วเตี้ยน ชานกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เรียกกันว่า “มนุษย์ปักกิ่ง (Peking Man)” อายุประมาณ 750,000-200,000 ปีมาแล้ว
  • การพบมนุษย์ชวาและมนุษย์ปักกิ่งทำให้นักวิชาการชาวตะวันตกสนใจศึกษาทางโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ในการศึกษาที่ประเทศไทยนั้นได้พบเครื่องมือหินกรวดขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเครื่องมือหินของมนุษย์โบราณที่บ้านด่านชุมพล อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง อยู่ใต้ชั้นหินบะซอลต์ที่กำหนดอายุให้อยู่ในยุคไพลสโตซีนตอนต้น เมื่อประมาณ 600,000 ปีมาแล้ว แต่ไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวกับซากของมนุษย์โบราณ
  • วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2542 ค้นพบชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ของมนุษย์โบราณ ซึ่งเป็นส่วนของกะโหลกศีรษะ ที่บริเวณถ้ำตะกร้า บ้านหาดปู่ด้าย ตำบลนาแส่ง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ผลการศึกษากะโหลกมนุษย์ที่พบดังกล่าว สรุปได้ว่าเป็นกระดูกของมนุษย์โบราณ (Homo erectus) ที่มีอายุประมาณ 1.4 ล้านปีมาแล้ว นับว่าเป็นการพบหลักฐานมนุษย์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถือเป็นแหล่งที่พบมนุษย์โบราณ (Homo erectus) แหล่งที่ 3 ในทวีปเอเชีย จึงได้รับการตั้งชื่อว่า “มนุษย์เกาะคา (Ko-Kha Man)” มนุษย์เกาะคาดำเนินชีวิตโดยการล่าสัตว์และการเก็บอาหารพวกพืชผักได้เป็นพวกแรก

ก่อนจะจบทริปในสาระวิทย์ฉบับนี้ ผู้เขียนขอให้ผู้อ่านทุกท่านรักษาสุขภาพในช่วงปลายฝนต้นหนาวเช่นนี้ เพราะหากไม่ทำร่างกายให้อบอุ่นเพียงพออาจเป็นหวัดได้ง่าย ๆ ปกติแล้วบรรยากาศช่วงนี้เหมาะกับการท่องเที่ยวเพื่อชื่นชมความสวยงามและความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ โดยเฉพาะภูเขาและน้ำตก ที่สายน้ำจะไม่หลากมากมายเท่าช่วงกลางฝน ในขณะที่อากาศก็เริ่มเย็นสบาย ๆ ยังไม่หนาวจัดเหมือนช่วงปลายปี อย่าลืมแบ่งเวลาไปเที่ยวเพื่อเรียนรู้วิทยาศาสตร์ใกล้ตัวเราได้อย่างเพลิดเพลิน และอย่าลืมเช็กสภาพอากาศก่อนออกเดินทางท่องเที่ยวด้วยนะครับ

About Author