สร้างสรรค์โลกดิจิทัล แทนร่าง “อาจารย์ใหญ่” สอนนักศึกษาแพทย์ ม.มหิดล

          ประสบการณ์ชีวิตสำคัญของการเป็น “ด่านหน้า” หรือบุคลากรทางการแพทย์ ต้องผ่านห้องเรียน “อาจารย์ใหญ่” หรือศึกษาจากร่างที่อุทิศเพื่อการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาแพทย์ และสาขาที่เกี่ยวข้องกันทุกคน

          แต่ปัจจุบันด้วยความเจริญทางเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้นักศึกษาแพทย์สามารถเรียนผ่าน Virtual Reality จากโปรแกรมที่ออกแบบเพื่อการฝึกทักษะตามที่ต้องการ เปรียบเหมือนการมี “อาจารย์ใหญ่” ในโลกเสมือนจริง ที่ผู้เรียนสามารถเข้าไปศึกษาได้ในทุกที่ทุกเวลา

          หนึ่งในผลงานที่มหาวิทยาลัยมหิดลภาคภูมิใจ ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ได้แก่ “โปรแกรมการจำลองการฝึกส่องกล้องภายในหัวไหล่บนเทคโนโลยี Virtual Reality” ผลงานโดยทีม VSATs (Virtual Shoulder Arthroscopy Training Simulator) ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนโดย Mahidol Bremen Medical Informatics Research Unit (MIRU)

          โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โมเรศ ปรัชญพฤทธิ์ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีเกมและเกมมิฟิเคชัน คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โมเรศ ปรัชญพฤทธิ์ ได้กล่าวถึงผลงานของนักศึกษาที่สร้างชื่อกลุ่มดังกล่าวว่า นับเป็นเทรนด์ใหม่ในการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ ด้วยเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) สามารถใช้แทนการศึกษาจากร่าง “อาจารย์ใหญ่” ซึ่งต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูงในการศึกษาแต่ละครั้ง อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในเรื่องการนำมาศึกษาซ้ำ เนื่องจากติดอุปสรรคของการเสื่อมสภาพ

          วัตถุประสงค์หลักของการสนับสนุนโดย MIRU คือการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้แก้ไขปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุข จึงมุ่งฝึกให้นักศึกษาทีม VSATs นำวิชาความรู้มาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาสำหรับนักศึกษาแพทย์

          โจทย์ที่ได้รับ คือ การฝึกนักศึกษาแพทย์ส่องกล้องรักษาข้อไหล่ผ่าน VR โดยพบว่า จากการออกแบบโปรแกรมให้สามารถฝึกซ้ำจนเกิดความชำนาญ เหมือนมีอาจารย์แพทย์มานั่งสอนอยู่ข้างๆ นอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักศึกษาแพทย์แล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงสำหรับผู้ป่วย เมื่อนักศึกษาแพทย์จะต้องลงมือปฏิบัติจริงต่อไปในอนาคตอีกด้วย


“ริว” อนาคิน พัชโรทัย นักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล (หัวหน้าทีม VSATs)

          ทีม VSATs นำโดย “ริว” อนาคิน พัชโรทัย รับหน้าที่หัวหน้าทีม ซึ่งนอกจากเป็นผู้ประสานหลักของกลุ่มแล้ว ยังเป็นผู้ร่วมเขียนโปรแกรม วางระบบออนไลน์สำหรับผู้เล่นหลายคน (multiplayer) ตลอดจนวางระบบเสียงสนทนา (voice chat) เพื่อให้อาจารย์แพทย์สามารถสังเกตการณ์การฝึกและให้คำแนะนำแก่นักศึกษาแพทย์แบบทางไกล รวมถึงสามารถสาธิตเทคนิคที่เหมาะสม


“แม็ก” รัฐนันท์ คัมภีรศาสตร์
นักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล

          ในขณะที่ “แม็ก” รัฐนันท์ คัมภีรศาสตร์ รับหน้าที่ทั้งเป็นผู้ร่วมเขียนโปรแกรม ฝ่ายข้อมูล และผู้นำเสนอผลงาน และ “พาย” สฤษฎ์พงศ์ อุดมมงคลกิจ รับหน้าที่ดูแลในเรื่องความสมจริง การจัดวาง ดัดแปลง และทดสอบโมเดล


“พาย” สฤษฎ์พงศ์ อุดมมงคลกิจ นักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล

          ริว และ พาย สองนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล สมาชิกของทีม VSATs ได้มีโอกาสบินลัดฟ้าไปทำโปรเจค ณ มหาวิทยาลัยเบรเมน (University of Bremen) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ก่อนสำเร็จการศึกษา

          นอกจากนี้ ทีม VSATs ยังสามารถคว้ารางวัลชมเชยหมวดโปรแกรมเพื่อการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ ระดับนิสิตนักศึกษา จากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 24 (National Software Contest 2022; NSC 2022) ไปได้อย่างน่าชื่นชม

          ซึ่งผลงานดังกล่าวอยู่ระหว่างการพัฒนาให้สมบูรณ์พร้อม ก่อนจะนำไปติดตั้งเพื่อใช้ศึกษาจริงสำหรับการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ ณ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อไป

          ไม่ใช่เพียงนักศึกษาแพทย์ ที่ได้รับการคาดหวังให้เติบโตขึ้นเป็นแพทย์ ซึ่งจะเป็นที่พึ่งพา และสามารถคืนชีวิตให้กับผู้ป่วย แต่เบื้องหลังของภารกิจเพื่อมวลมนุษยชาตินั้น คือผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีที่จะเป็นเหมือน “ลมใต้ปีก” ให้พร้อมโบยบินสู่โลกแห่งการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

ออกแบบแบนเนอร์โดย
วรรณภา อินทรประเสริฐ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา และ วรรณพร ยังศิริ นักวิชาการสารสนเทศ

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author