รับวิถีใหม่รถไฟทางคู่ เฟ้นยอดบริการสุขภาพส่งเสริมท่องเที่ยวนครสวรรค์

          นับเป็น “จุดเปลี่ยนของการเดินทางและท่องเที่ยว” ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ตามที่คาดกันว่าภายในปีหน้า พ.ศ. 2567 โครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ จะยกลอยฟ้าถึงสถานีปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์

          และนับเป็น “จุดเปลี่ยนของทิศทางการดูแลสุขภาวะ” ครั้งสำคัญของชาวไทย และชาวต่างประเทศที่จะได้มีโอกาสเข้าถึงบริการได้มากยิ่งขึ้น จาก “Wellness Center” ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ ที่พร้อมเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบไปพร้อมๆ กัน

          อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ด้วยที่ตั้งของวิทยาเขตฯ ซึ่งถือเป็น “จุดยุทธศาสตร์สำคัญ” ของเส้นทางรถไฟทางคู่สายเหนือสู่ปลายทางสถานีปากน้ำโพ ซึ่งจะช่วยย่นย่อระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อการไปมาหาสู่ถึงกันได้เพียงประมาณ 1 ชั่วโมง และสามารถท่องเที่ยวได้อย่างเต็มอิ่มภายใน 1 วัน

          ด้วยชื่อเสียงของการเป็นหนึ่งในศูนย์กลางที่สำคัญทางการแพทย์แผนไทย และจีน ที่พร้อมบริการดูแลสุขภาพอย่างครบวงจรโดย ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ เชื่อมั่นว่าจะเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism Destination) ที่สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ

          และได้สุขภาวะที่ดีทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณกลับไปพร้อมรอยยิ้มได้อย่างแน่นอน จากการทดลองจัด “Spa Packages” ที่ได้รับความพึงพอใจจากกลุ่มตัวอย่าง พร้อมเปิดให้บริการโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2567

          แพทย์แผนจีนธนัตเทพ เตระทวีดุลย์ หัวหน้าโครงการ Wellness Center และหัวหน้าฝ่ายแพทย์ทางเลือก ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า Wellness Center สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อการดูแลประชาชน และผู้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดนครสวรรค์ที่ใส่ใจสุขภาพ เพื่อให้ได้ผ่อนคลาย และห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ

          หนึ่งในบริการจาก “Spa Packages” ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนในลำดับต้นๆ ที่ผ่านมา ได้แก่ การให้บริการดูแลผิวหน้าด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน และการแพทย์แผนไทย นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มีบริการตรวจประเมินร่างกาย ทดลองและแนะนำการใช้สมุนไพร พร้อมปรับพฤติกรรมการกินอยู่หลับนอนที่ถูกสุขลักษณะ หรือเลือกรับบริการการแพทย์ทางเลือก ฝังเข็ม จัดกระดูก นวด “ทุยหนา” (Tuina) ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน ฯลฯ เพื่อการผ่อนคลายได้ต่อไปอีกด้วย

          สำหรับการให้บริการในอนาคตจะเป็นไปลักษณะที่เป็นบูรณาการมากขึ้น โดยครอบคลุมในเรื่องการดูแลทางโภชนาการ และกายภาพบำบัด เพื่อเป็นแนวทางให้ประชาชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ดูแลตัวเอง

          และด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ประกอบกับองค์ความรู้ทางวิชาการจาก โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พร้อมให้การส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่าจะทำให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่ดีที่สุด

          ที่ผ่านมา ได้มีการทดลองผลิตยาสมุนไพรแพทย์แผนจีนขึ้นใช้เองในศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยใช้ชื่อว่า “ยาแก้ปวด01” อยู่ในรูปแคปซูล ใช้ลดอาการปวด กระตุ้นการไหลเวียนเลือด และยาสมุนไพรแพทย์แผนจีนสำหรับแช่เท้า ที่ช่วยลดอาการชาปลายมือปลายเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนแพทย์แผนจีนต่างๆ ที่มาฝึกงาน และดูงานได้ร่วมฝึกทักษะผลิตยา

          และเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ต่อไปจะได้มีการสร้างโรงงานผลิตยาสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practices) ขึ้นที่ ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อลดการนำเข้า และลดต้นทุนการผลิตยา ตลอดจนช่วยลดภาระค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วย ทั้งแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนจีน ให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อไปในวงกว้าง

          ด้วยปณิธาน “ปัญญาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเป็น “ที่พึ่งทางสุขภาวะ” เพื่อประชาชนชาวไทย และพร้อมรับวิถีใหม่รถไฟทางคู่ สู่อนาคตที่สดใสทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณ ด้วยสุขภาพ และเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศไทยตลอดไป

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ภาพโดย
โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล

About Author